ไวรัสซิกา (Zika) ระบาดอินเดีย
ข่าววันนี้ รัฐบาลอินเดียประกาศภาวะฉุกเฉินทั่วรัฐเกรละ หลังพบผู้ติดเชื้อไวรัสซิการายแรก
รัฐมนตรีสาธารณสุขของรัฐเกรละ วีนา จอร์จ ยืนยันการตรวจพบผู้ป่วยไข้ซิกา จากไวรัสซิการายแรกในรัฐ จากการตรวจผู้ต้องสงสัยติดเชื้อ 13 คน ทั้งนี้ ผู้ป่วยติดเชื้อเป็นหญิงตั้งครรภ์วัย 24 ปี เธอถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลเมื่อปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ด้วยอาการเป็นไข้ ปวดหัว และผื่นแดง แต่เธอคลอดบุตรออกมาได้อย่างปลอดภัยเมื่อวันพุธ (7 กรกฎาคม)
เบื้องต้น รัฐบาลรัฐเกรละประกาศภาวะฉุกเฉินในทุกเขตทั่วรัฐ เพื่อยับยั้งการระบาดของไวรัสซิกา ซึ่งเคยเกิดการระบาดใหญ่ในรัฐคุชราตเมื่อปี 2016 ถึง 2017
ปัจจุบัน รัฐเกรละกำลังต่อสู้กับการระบาดของโควิด-19 ที่ยังมีอัตราติดเชื้อ 10% จากการตรวจหาเชื้อเชิงรุกในชุมชน ตลอดช่วง 7 วันที่ผ่านมา โดยไวรัสซิกา (Zika) มียุงลายเป็นพาหะนำโรค โดยเป็นยุงชนิดเดียวกับพาหะไข้เลือดออก และโรคไข้ปวดข้อยุงลาย และไข้เหลือง ซึ่งสาเหตุหลักของการติดเชื้อมาจากการโดนยุงลายกัด แต่ยังมีโอกาสแพร่เชื้อผ่านทางเลือด การมีเพศสัมพันธุ์ และจากมารดาสู่ทารกในครรภ์ได้
โรคไข้ซิกา มีระยะฟักตัวเฉลี่ย 4-7 วัน หลังโดนยุงกัด อาการที่พบบ่อย คือ มีไข้ ผื่นแดง เยื่อบุตาอักเสบ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดข้อ อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ ปกติแล้วจะเป็นอาการเล็กน้อย ไม่รุนแรง ประมาณ 2-7 วัน ขณะที่ปัจจุบัน ยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรคไข้ซิกาโดยเฉพาะ รักษาได้โดยนอนพักผ่อนให้เพียงพอ
อย่างไรก็ดี BBC รายงานว่า โรคไข้ซิกามีส่วนเชื่อมโยงกับการหดตัวของสมองในผู้ป่วยที่เป็นเด็ก และกลุ่มอาการกิลแลง-บาร์เร ที่เป็นโรคแพ้ภูมิตัวเองที่เกิดขึ้นได้ยากอีกด้วย
ภาพ : Егор Камелев