รีเซต

หลายโรงพยาบาล เจ้าหน้าที่เริ่ม "ติดรูปถ่าย" หวังช่วยผู้ป่วยโควิด คลายเครียด

หลายโรงพยาบาล เจ้าหน้าที่เริ่ม "ติดรูปถ่าย" หวังช่วยผู้ป่วยโควิด คลายเครียด
มติชน
10 เมษายน 2563 ( 14:52 )
166
1
หลายโรงพยาบาล เจ้าหน้าที่เริ่ม "ติดรูปถ่าย" หวังช่วยผู้ป่วยโควิด คลายเครียด

เมื่อวันที่ 10 เมษายน เว็บยาฮูรายงานว่า ระหว่างนี้เริ่มมีบุคลากรทางการแพทย์ตามโรงพยาบาลหลายแห่งในสหรัฐอเมริกา “ติดรูปถ่าย”ของตัวเองบนชุดปฎิบัติงาน ระหว่างให้การดูแล รักษาผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 หวังช่วยให้ผู้ป่วยรู้สึกอุ่นใจ คลายเครียด เพราะการดูแลรักษาผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 แพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่ต้องใส่ชุด อุปกรณ์ป้องกันอย่างมิดชิด กระทั่งคนไข้ แทบไม่เห็นใบหน้าของบุคลากรทางการแพทย์เลย

 

ในข่าวเล่าว่า เมื่อผู้ป่วยติดไวรัสโควิด-19 เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล จะไม่ได้รับอนุญาตให้มีผู้เข้าเยี่ยม ขณะที่แพทย์ พยาบาล หรือเจ้าหน้าที่อื่นๆ ก็ต้องให้การดูแลแบบมีระยะห่างภายใต้ชุดป้องกันอย่างมิดชิด ซึ่งทำให้ผู้ป่วยรู้สึกขาดการติดต่อกับคนด้วยกัน

 

ด้วยเหตุนี้ จึงมีบุคลากรทางการแพทย์คิดไอเดียที่จะช่วยให้ผู้ป่วยรู้สึกไม่โดดเดี่ยว ด้วยการให้เจ้าหน้าที่ติดรูปถ่ายของตัวเองที่กำลังยิ้มหรือดูแล้วอบอุ่น สบายใจบนชุดปฎิบัติงาน

 

นายโรเบอติโน โรดริเควซ นักบำบัดระบบทางเดินหายใจ โรงพยาบาลสคริปส์ เมอร์ซี ในเมืองซานดิเอโก รัฐแคลิฟอร์เนียโพสต์เล่าในไอจีว่า “เมื่อวาน ผมรู้สึกสงสารคนไข้หลายคนของผมที่อยู่ในห้องฉุกเฉิน เมื่อผมเดินเข้าไปโดยสวมอุปกรณ์ป้องกันใบหน้า และสวมชุดพีพีอี เชื่อเถอะว่า รอยยิ้มสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้อย่างมากต่อคนไข้ที่กำลังหวาดวิตก ดังนั้นวันนี้ผมจึงติดป้ายรูปถ่ายของผมใบใหญ่บนชุดพีพีอี เพื่อให้คนไข้ได้เห็นรอยยิ้มที่ให้ความมั่นใจ และทำให้พวกเขาสบายใจ ”

 

ปรากฏว่า ตอนนี้เริ่มมีบุคลากรทางการแพทย์ในเมืองอื่นๆเริ่มทำตาม

“ได้เห็นไอเดียนี้จากไอจี และคิดว่ามันเป็นวิธีที่น่ารักที่จะช่วยคนไข้ของเรารู้สึกสบายใจในช่วงเวลาที่เครียดเช่นนี้ ” เดอเรก เดอวอลท์ บุรุษพยาบาลในลอสแองเจลิสโพสต์พร้อมรูปถ่ายของเขาและเพื่อนร่วมงานที่ต่างติดบัตรรูปถ่ายใบใหญ่ของตัวเองบนชุดปฎิบัติงาน

 

ขณะที่ นายแพทย์โจเซฟ วารอน หัวหน้าทีมรักษาในโรงพยาบาลยูไนเต็ด เมมโมเรียล เมดิคอล เซนเตอร์ ที่เมืองฮิวส์ตัน รัฐเท็กซัส เล่าว่า ตัวเขาเองและเพื่อนร่วมงานต่างติดบัตรรูปถ่ายตัวเองใบใหญ่บนชุดปฎิบัติงานระหว่างพูดคุย สื่อสารกับผู้ป่วย เพราะเชื่อว่า การให้ความหวังแก่ผู้ป่วยผ่านใบหน้าที่เป็นมิตรเท่ากับ “มีชัยไปแล้วครึ่งหนึ่ง”

 

“ถ้าผมมีคนไข้บางคนที่หมดหวัง ผมไม่แคร์ว่าผมต้องให้การรักษาเขามากมายแค่ไหน เขากำลังจะจากไป ดังนั้นเป้าหมายของผมก็คือหลีกเลี่ยงการสูญเสียชีวิตของคนไข้โควิดทุกหนทางที่เราสามารถทำได้ “

ข่าวที่เกี่ยวข้อง