รีเซต

แพทย์ แนะ "เราไม่จำเป็นจะต้องสร้างโลกเลวร้ายให้กับเด็กๆ"

แพทย์ แนะ "เราไม่จำเป็นจะต้องสร้างโลกเลวร้ายให้กับเด็กๆ"
TNN ช่อง16
2 ตุลาคม 2563 ( 07:40 )
117
แพทย์ แนะ "เราไม่จำเป็นจะต้องสร้างโลกเลวร้ายให้กับเด็กๆ"

"เราไม่จำเป็นที่จะต้องสร้างโลกที่เลวร้ายให้กับเด็กๆ โลกใบนี้เลวร้ายพออยู่แล้ว ต้องมีเรื่องเลวร้ายที่เขาต้องเผชิญ มีความยากลำบาค มีความโหดร้าย แต่บ้านโรงเรียน ห้องเรียน มันต้องเป็นสถานที่ปลอดภัย ที่จะทำให้เขารู้ว่า

เมื่อไหร่ก็ตามที่เขาไปเจอเรื่องเลวร้าย เขาจะกลับมาเจอสถานที่ที่ปลอดภัยกับเขา จึงเป็นเรื่องสำคัญมากกว่าการที่จะไปพยายามทำให้โรงเรียนเป็นสถานที่สร้างความเจ็บปวด"

นี่คือสิ่งที่แพทย์หญิง จิราภรณ์ อรุณากูร  กุมารแพทย์เวชศาสตร์วัยรุ่น ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี และเจ้าของเพจ เลี้ยงลูกนอกบ้าน ฝากเน้นย้ำ ให้ทุกคนที่เกี่ยวข้อง ทั้งผู้ปกครอง โรงเรียน ครู  ผู้ใหญ่ทึ่เกี่ยวข้อง ตระหนักถึงการดูแลเด็ก ว่าสิ่งสำคัญคือพื้นที่ที่ปลอดภัย ที่เด็กสามารถวางใจได้ ว่าเขาจะปลอดภัย เพราะทั้งหมดจะเชื่อมโยงถึงการพัฒนา ศักยภาพของเด็ก

ส่วนการตีเด็กเพื่อให้จำ หากเวลาทำผิดหรือดื้อ แพทย์หญิง จิราภรณ์ อรุณากูร มองว่า สังคมไทยมีความเชื่อที่ว่า รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่สมองถูกสั่งทำให้รู้สึกหวาดกลัว มันก็จะไม่ได้ใช้สมองส่วนคิดในการเรียนรู้ มันจะวิ่งลงไปที่สมองส่วนล่าง  คือสมองส่วนสัญชาติญาณการเอาตัวรอด ก็จะสู้กับพ่อแม่ หนีโกหก ปกปิด หลีกเลี่ยงไม่ทำ จะได้ไม่เสี่ยงภัย แล้วก็จะยอมทำตามแต่ทำด้วยความหวาดกลัว แต่ลึกๆแล้วก็จะถูกพัฒนาความรู้สึกว่า เราไม่มีอำนาจ เราสู้เขาไม่ได้ เราคือคนไม่ได้เรื่อง ทำให้มีปัญหาที่เด็กจะพัฒนาความก้าวร้าว รุนแรง เด็กที่หนีบ่อยๆ ก็จะเป็นเด็กที่วิตกกังวลเยอะ ส่วนเด็กที่ยอมบ่อยๆก็จะมีความนับถือตัวเองต่ำ  

ขณะที่การตีด้วยไม้เรียว เด็กจะจำว่าเขาเจ็บ แต่เขาจะจำไม่ได้ว่า เมื่อเจอปัญหาแล้วจะต้องแก้อย่างไร 

สิ่งสำคัญในฐานะของคนที่เลี้ยงดูเด็ก คือไม่อยากให้เด็กเจ็บปวด หรือ หลาบจำว่าเขาทำผิด เขาเป็นคนแย่  ไม่ดี เราอยากให้เด็กมีทักษะจากปัญหาหรือสิ่งที่เขาเจอ เขาต้องคิด ไตร่ตรอง ต้องแก้ปัญหาอย่างไร  "เด็กคนนึงไม่ทำการบ้าน แล้วครูตี ซึ่งการตีช่วยอะไร ทำไมเราไม่หาสาเหตุว่าทำไมเด็กไม่ทำการบ้าน เขาอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ หรือไม่เข้าใจ มีปัญหาเรื่องสมาธิหรือไม่ พ่อแม่ไม่มีเวลาในการดูหรือเปล่า เพราะฉะนั้น การหาสาเหตุแล้วช่วยเหลือเด็ก สำคัญกว่าการลงโทษเด็ก"

สิทธิร่างกาย เป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่เด็กทุกคนควรจะรู้ ว่า เขามีสิทธิในเนื้อตัวร่างกายของตัวเอง สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เพียงสอนเด็กว่าเขาจะทำตามวิธีเชิงบวกอย่างเดียว  แต่มันเป็นการสอน สิทธิขั้นพื้นฐาน เขาจะได้เรียนรู้ว่าไม่มีใครในโลกนี้ที่จะมาละเมิดเขาได้ ไม่มีใครในโลกที่อยู่ดีๆจะเดินมา แกล้งเขาโดยชอบธรรม ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่เคยถูกสอนมาตั้งแต่เด็ก การที่เด็กที่รู้ว่า เนื้อตัวของมนุษย์เราเป็นสิทธิของเรา สร้างความปลอดภัยในชีวิตให้กับเด็ก ทำให้เขารู้ว่า สิทธิในตัวเขาเป็นอย่างไร ทำให้เขาปกป้องตัวเองต่อเหตุการณ์ที่โดนกระทำ 

"เด็กไม่ได้เรียนรู้ด้วยคำพูด แต่เด็กเรียนรู้จากการกระทำที่เกิดขึ้นรอบตัว ถ้าผู้ใหญ่พูดว่า  หนูมีสิทธิในเนื้อตัวร่างกายของหนู แต่ทุกครั้งแม่ก็ยังตี  ครูก็ยังหยิกเขา คนที่จะมาเดินจับแก้มเขา แม่ก็บอกว่า ให้เขาจับหน่อยลูก เด็กจึงเรียนรู้สิ่งเหล่านั้นผ่านการกระทำของผู้ใหญ่ แต่หากเราทำให้เขาเห็นว่า เราไม่ทำร้ายเขา เหมือนที่เราไม่ต้องการให้ใครมาทำร้าย เพราะร่างกายเรา  ไม่ว่าเราจะกระทำอะไร มนุษย์เราควรจะสอนกันได้ นั้นคือ การเรียนรู้ที่ดีที่สุด"

เวลาที่เด็กทำผิด วิธีที่ดีที่สุด คือ หาสาเหตุว่าอะไรคือเหตุที่ทำให้เขาทำผิด เราก็แก้ไขที่สาเหตุนั้น การลงโทษเหมือนทำให้ปัญหาจบไป เหมือนทำให้เขาหลาบจำ แต่จริงๆแล้วกลับไม่ได้แก้ที่ตัวปัญหาในสิ่งที่เขาทำไม่ได้ เพราะเขาขาดทักษะอะไร  เพราะฉะนั้นการที่เด็กคนนึงไม่ทำในสิ่งที่ไม่ควรทำ เพราะเขาขาดทักษะสิ่งที่เขาควรจะทำ  ถ้าเราช่วยกันสอนทักษะเหล่านั้น เป็นหน้าที่ของโรงเรียน ครู พ่อแม่ ผู้ใหญ่รอบตัวเขา เชื่อว่า เด็กที่มีทักษะที่ดีมากขึ้น เขาก็จะสามารถทำในสิ่งที่เขาควรจะทำได้มากขึ้น

มนุษย์คนหนึ่งควรเติบโตไปในแบบที่ไม่รู้สึกตีตราตัวเอง ฉันโง่ ฉันไม่ได้เรื่อง ฉันไม่ฉลาด ฉันแย่ ฉันเป็นคนที่ใช้ไม่ได้ สิ่งเหล่านี้การลงโทษบอกเขา สำคัญ คือ มนุษย์เราเรียนรู้ได้ โดยไม่ต้องรู้แย่กับตัวเอง 

ผู้ปกครอง แปลคำว่า ดื้อซนของเด็ก แต่จริงๆแล้ว คือ ธรรมชาติของเด็ก คือ เขาต้องการสำรวจสิ่งรอบตัว เป็นเรื่องธรรมชาติ ที่เขาจะลุกเดิน สนใจสิ่งรอบตัว บางทีความไม่เข้าใจในธรรมชาติของเด็ก ทำให้ผู้ปกครองหรือครูหลายคน ลงโทษเด็กแบบไม่สมเหตุสมผล การเรียนรู้ของเด็ก เขาเรียนรู้ผ่าน การลงมือทำ การทดลอง พ่อแม่ก็สร้างพื้นที่ปลอดภัยให้เด็กได้ลงมือทำ ใช้ศักยภาพของตัวเองได้เต็มที่ และไม่จำเป็นต้องไปลงโทษในวิธีที่ทำให้เด็กเกิดความเจ็บตัว เราลงโทษเขาได้โดยการที่ทำให้เขาเรียนรู้ถึงผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น หากเขาทำสิ่งนั้นไป



เกาะติดข่าวที่นี่

website: www.TNNTHAILAND.com 
facebook : TNNONLINE
facebook live : TNN Live 
twitter : TNNONLINE 
Line : @TNNONLINE
Youtube Official : TNNONLINE 
Instagram : TNN_ONLINE 
TIKTOK : @TNNONLINE

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง