‘โจ ไบเดน’ ทุ่มงบด้านกลาโหม หวังทำลายโฆษณาชวนเชื่อเกาหลีเหนือ ดีต่อประชาชนจริงหรือ?
ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ทุ่มงบประมาณด้านกลาโหมเกือบ 1,700 ล้านบาท เพื่อหวังทำลายโฆษณาชวนเชื่อในเกาหลีเหนือ แต่ถูกตั้งคำถามว่า จะเป็นการช่วยเพิ่มอำนาจแก่ชาวเกาหลีเหนือ หรือจะทำให้พวกเขาทุกข์ยากยิ่งกว่าเดิม
ผู้สังเกตการณ์บางคนมองว่า ความเคลื่อนไหวดังกล่าวของผู้นำสหรัฐฯ จะทำให้ชีวิตของชาวเกาหลีเหนือตกอยู่ในความเสี่ยง และเรียกร้องให้สหรัฐฯ ให้ความสำคัญกับการลดความตึงเครียดทางทหารบนคาบสมุทรเกาหลี
---แผนทำลายโฆษณาชวนเชื่อของไบเดน---
South China Morning Post รายงานว่า ประธานาธิบดี โจ ไบเดนทุ่มเงิน 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเกือบ 1,700 ล้านบาท เพื่อนำข้อมูลภายนอกเข้าสู่เกาหลีเหนือ ในอีก 5 ปีข้างหน้า หวังสร้างมุมมองที่เป็นมิตรต่อเกาหลีใต้และสหรัฐฯให้กับประชาชนที่นั่น
เมื่อปลายเดือนธันวาคมปีที่แล้ว โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้ลงนามในกฎหมาย Otto Warmbier Countering North Korean Censorship and Surveillance Act โดยเป็นส่วนหนึ่งของงบประมาณการใช้จ่ายด้านกลาโหมประจำปี
ชื่อกฎหมายดังกล่าว ตั้งตามชื่อของ ออตโต วอร์มเบียร์ นักศึกษาชาวอเมริกันที่ถูกจำคุกในเกาหลีเหนือ ในข้อหาบ่อนทำลาย และเสียชีวิตในปี 2017 หลังได้รับการปล่อยตัวกลับบ้านในสภาพเป็นผัก หลังจากถูกควบคุมตัวนานกว่าหนึ่งปี
กฎหมายดังกล่าว มีเป้าหมายเพื่อตอบโต้การสอดแนมและการเซ็นเซอร์ของเกาหลีเหนือ โดยเพิ่มการออกอากาศทางวิทยุและอำนวยความสะดวก ในการให้เสรีภาพทางอินเทอร์เน็ตในเกาหลีเหนือ เงินทุนจะถูกจัดสรรให้กับ US Agency for Global Media ซึ่งเป็นหน่วยงานอิสระที่ถือว่าเป็นหน่วยงานทางการทูตของอเมริกาที่เผยแพร่ข่าวสารและข้อมูลทั่วโลก “เพื่อสนับสนุนเสรีภาพและประชาธิปไตย”
---มุมมองฝั่งผู้เชี่ยวชาญ---
โจนาธาน คอร์ราโด ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายของ Korea Society ในนิวยอร์ก กล่าวว่า กฎหมายนี้ออกแบบมาเพื่อตอบโต้ การบุกจู่โจมผู้กระจายข่าวจากภายนอก การรบกวนสัญญาณวิทยุจากเกาหลีใต้ และการรักษาความปลอดภัยบริเวณชายแดนที่กว้างขวางและมีประสิทธิภาพของเกาหลีเหนือ ซึ่งการตอบโต้ดังกล่าว จะต้องใช้ความเฉลียวฉลาดทางเทคโนโลยี เงินทุน และที่สำคัญที่สุด คือ ข้อมูลจากผู้ลี้ภัยชาวเกาหลีเหนือ
คอร์ราโด ระบุด้วยว่า การส่งข้อมูลไปยังเกาหลีเหนือ เป็นวิธีการที่สำคัญอย่างยิ่งที่ช่วยให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูล แม้ว่าเกาหลีเหนือจะมี “มาตรการปิดหูปิดตา” ประชาชนอย่างรุนแรงก็ตาม
ข้อมูลดังกล่าว สามารถให้อำนาจแก่ชาวเกาหลีเหนือทั่วไปในการโต้แย้งการโฆษณาชวนเชื่อของรัฐ และอาจจะสร้างมุมมองที่เป็นมิตรต่อเกาหลีใต้และสหรัฐฯ แก่ชาวเกาหลีเหนือ และในระยะยาว การไหลเวียนของข้อมูลเหล่านี้ สามารถช่วยปลูกฝังภาคประชาสังคม ปรับปรุงโอกาสในการแก้ไขปัญหาความตึงเครียดบนคาบสมุทรเกาหลีอย่างสันติ
ขณะที่กาเบรียลา เบอร์นาล นักวิเคราะห์เกาหลีเหนือที่ประจำอยู่ในกรุงโซล ยอมรับว่า การนำข้อมูลภายนอกเข้าสู่เกาหลีเหนือเป็นสิ่งสำคัญ แต่อาจทำให้ชีวิตของชาวเกาหลีเหนือทั่วไปตกอยู่ในความเสี่ยงได้ เนื่องจากพวกเขาไม่เคยได้รับอนุญาตให้บริโภคข่าวสารจากต่างประเทศ
พร้อมชี้ว่า กฎหมายล่าสุดซึ่งมีการเฝ้าระวังและการปราบปรามที่เข้มงวดขึ้น ได้เพิ่มความเสี่ยงอย่างมากสำหรับชาวเกาหลีเหนือที่จะเข้าไปเกี่ยวข้องกับข้อมูลภายนอกดังกล่าว
---สหรัฐฯ ควรมุ่งลดความตึงเครียดบนคาบสมุทรเกาหลี---
กฎหมายนี้ของสหรัฐฯ มีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมการพัฒนา “เครื่องมือเสรีภาพทางอินเทอร์เน็ต” เพื่อตอบโต้สิ่งที่เรียกว่า “สภาพแวดล้อมข้อมูลที่กดขี่ของเกาหลีเหนือ”
คอร์ราโด กล่าวว่า จำเป็นต้องมีวิธีการกระจายที่หลากหลาย รวมถึงการทดลองและทดสอบ เช่น การลักลอบนำเข้า USB sticks และการ์ด micro SD เช่นเดียวกับการส่งสัญญาณวิทยุ และยังรวมถึง “เครื่องมือล้ำสมัยที่ค้นหาช่องโหว่มาตรการปิดหูปิดตาของเกาหลีเหนือเพื่อนำข้อมูลไปสู่ประชากรในส่วนต่าง ๆ เช่น ใช้ เมช เน็ตเวิร์ค ที่เป็นการเชื่อมต่อแบบกระจายสัญญาณ ได้รวดเร็วโดยตรงผ่านอุปกรณ์หลายเครื่อง
หรืออีกทางเลือกหนึ่ง ก็คือ การละทิ้งความพยายามที่จะเข้าถึงประชาชนเกาหลีเหนือ ซึ่งจะเป็นการยืนยันคำกล่าวของรัฐบาลคิมที่ว่า โลกภายนอกเป็นสถานที่ที่ไม่เป็นมิตรและไม่แยแสกัน
อย่างไรก็ตาม เบอร์นาลกล่าวว่า ในระยะยาวแม้ชาวเกาหลีเหนือจะเข้าถึงข้อมูลภายนอกมากขึ้น ก็ไม่น่าจะ ส่งผลให้เกิดการปฏิวัติที่จะโค่นล้มรัฐบาลคิมได้ สิ่งที่รัฐบาลสหรัฐฯ ควรให้ความสนใจหลัก ๆ ในตอนนี้ คือ การลดความตึงเครียดทางทหารบนคาบสมุทรเกาหลีลง และดำเนินมาตรการเชิงรุก เพื่อปูทางไปสู่การเริ่มต้นเจรจาทางการทูตกับเกาหลีเหนืออีกครั้ง
พร้อมระบุว่า ชาวเกาหลีเหนือจะยังคงทนทุกข์ ตราบเท่าที่รัฐบาลของพวกเขารู้สึกว่าจำเป็นต้องขยายขีดความสามารถทางทหารและนิวเคลียร์ต่อไป การเปลี่ยนแปลงจะต้องมาจากบนลงล่าง เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงแก่ชีวิตชาวเกาหลีเหนือส่วนใหญ่อย่างแท้จริง
---เกาหลีเหนือเซ็นเซอร์เข้มงวดที่สุดในโลก---
มีข้อมูลระบุว่า เกาหลีเหนือเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการเซ็นเซอร์เข้มงวดที่สุดในโลก ที่ผ่านมา ชาวเกาหลีเหนือใช้ชีวิตอยู่ภายใต้การควบคุมจากรัฐ ไม่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ต ไม่มีโซเชียลมีเดีย มีเพียงสถานีโทรทัศน์ของทางการ เพียงไม่กี่ช่องที่ป้อนข้อมูลข่าวสารที่รัฐต้องการโฆษณาชวนเชื่อ
เมื่อเดือนธันวาคม 2020 เกาหลีเหนือ ประกาศใช้กฎหมาย ที่มีเป้าหมายขจัดอิทธิพลต่างชาติทุกรูปแบบ มีบทลงโทษรุนแรงต่อผู้นำเข้า และครอบครองสื่อรูปแบบต่าง ๆ รวมถึงการสวมเสื้อผ้าแบบคนต่างชาติ หรือแม้แต่ใช้ภาษาสแลง ห้ามเผยแพร่สื่อจากเกาหลีใต้ สหรัฐฯ หรือญี่ปุ่น และกำหนดโทษสูงสุดถึงประหารชีวิต
ถ้าถูกจับได้ว่าแอบดูสื่อดังกล่าวอาจได้รับโทษจำคุก 15 ปีในค่ายกักกัน ขณะที่การพูด เขียน หรือร้องเพลงสไตล์เกาหลีใต้อาจถูกลงโทษใช้แรงงานหนัก 2 ปี
อย่างไรก็ตาม ดัชนีเสรีภาพสื่อประจำปี 2022 ของ Reporters Without Borders ให้เกาหลีเหนืออยู่ในอันดับท้ายสุดจาก 180 ประเทศที่มีการตรวจสอบ
—————
แปล-เรียบเรียง: สุภาพร เอ็ลเดรจ
ภาพ: Reuters
ข้อมูลอ้างอิง: