รีเซต

22 ส.ค. โหวตนายกฯ รอบ 3 “เพื่อไทย” ลุยตั้งรัฐบาล ลั่นต้น ก.ย. สำเร็จแน่ นักวิชาการชี้ยังเจอด่านยาก !!

22 ส.ค. โหวตนายกฯ รอบ 3 “เพื่อไทย” ลุยตั้งรัฐบาล ลั่นต้น ก.ย. สำเร็จแน่ นักวิชาการชี้ยังเจอด่านยาก !!
TNN ช่อง16
16 สิงหาคม 2566 ( 20:49 )
169
1
22 ส.ค. โหวตนายกฯ รอบ 3 “เพื่อไทย” ลุยตั้งรัฐบาล ลั่นต้น ก.ย. สำเร็จแน่ นักวิชาการชี้ยังเจอด่านยาก !!

เหตุผลศาล รธน. ตีตกคำร้องปมเสนอชื่อพิธา


16 ส.ค. ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ นัดประชุมเพื่อพิจารณาว่าจะรับคำร้องของผู้ตรวจการแผ่นดิน ไว้วินิจฉัยหรือไม่ กรณีมติรัฐสภาห้ามเสนอชื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ โหวตนายกฯ รอบ 2 ระบุเหตุผลว่าเป็นญัตติทั่วไป ต้องห้ามนำเสนอญัตติซ้ำ ตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ. 2563 ข้อ 41 นั้นขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่


ซึ่งตุลาการมีมติเป็นเอกฉันท์มีคำสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย เพราะเห็นว่า รัฐธรรมนูญมาตรา 213 ประกอบพระราชบัญญัติประกอบและธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 46 เป็นบทบัญญัติที่มีเจตนารมณ์ให้ศาลรัฐธรรมนูญคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของบุคคลจากการกระทำละเมิดโดยใช้อำนาจรัฐ แต่บุคคลที่จะมีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญต้องเป็นบุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพโดยตรง หากแปลความหมายเหตุผลสั้น ๆ ก็คือ ผู้ร้องไม่ใช่บุคคลถูกละเมิดโดยตรง จึงไม่อาจใช้สิทธิยื่นคำร้องเรียนได้ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 213 ได้ และเมื่อมีคำสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณาแล้ว คำขออื่นก็คือการชะลอโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีต้องเป็นอันตกไปด้วย



รัฐสภาเดินหน้า 22 ส.ค.โหวตนายกฯ รอบ 3 – “เพื่อไทย” ลั่นต้น ก.ย. ตั้งรัฐบาลสำเร็จ


นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา เคาะวันที่ 22 สิงหาคม เดินหน้าโหวตนายกฯ รอบ 3 ขณะที่ “ภูมิธรรม เวชยชัย” รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย มั่นใจตลอดมาตั้งแต่พรรคเพื่อไทยสลายขั้ว 8 พรรคขยับเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลแบบไม่มีพรรคก้าวไกลว่า จะสามารถรวบรวมเสียงจัดตั้งรัฐบาลได้ ประเดิมจับมือพรรคภูมิใจไทย ตั้งต้นเสียง 212 เสียง ก่อนรวบรวมเสียงจาก 6 พรรค ประชาชาติ , เพื่อไทรวมพลัง , เสรีรวมไทย , พลังสังคมใหม่ , พลังท้องที่ไทย และชาติพัฒนากล้า  รวมเป็น 228 เสียง



และเมื่อวันที่ 15 ส.ค. เป็นครั้งแรกที่ รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย “ภูมิธรรม” ลงไทม์ไลน์ว่าจะตั้งรัฐบาลสำเร็จภายในต้นเดือนกันยายน โดยย้ำความพร้อมหากโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีเมื่อไหร่ พรรคเพื่อไทยพร้อมทันที โดยมีชื่อ “เศรษฐา ทวีสิน” เป็นแคนดิเดตนายกฯ และเชื่อว่าภายใต้กติกาที่มีข้อจำกัด จะผ่านไปได้ โหวตครั้งเดียวจบ !!



“เมื่อเลือกนายกฯ เรียบร้อย จึงจะมีการคุยกันเรื่องตำแหน่ง คาดว่าต้นเดือนกันยายน  จะสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ”


ตั้งรัฐบาลสำเร็จ แต่ยังเจอด่านยาก ?


ถึงตอนนี้ความชัดเจนพรรคร่วมรัฐบาลเพื่อไทย ประกอบด้วย 8 พรรคที่เป็นทางการ และที่ไม่เป็นทางการ แต่จ่อส่งเทียบเชิญอย่างพรรครวมไทยสร้างชาติ และ พลังประชารัฐ ที่มีข่าวจะโหวตแคนดิเดตนายกฯ ให้



มุมมองจากนักวิชาการถึงเหตุผลที่เพื่อไทยต้องใช้พลังทั้งจากพรรคพลังประชารัฐ และรวมไทยสร้างชาติ เข้ามาร่วม เพื่อให้เสียงในสภามั่นคงเกินกึ่งหนึ่ง และได้เสียงสนับสนุนจาก สว. แลกกับการตั้งรัฐบาลให้ได้ แม้อาจต้องสูญเสียเสียงสนับสนุน ศรัทธาจากมวลชนที่มีให้พรรคไป


“วีรพัฒน์ ปริยวงศ์” นักวิชาการกฎหมายอิสระ มองว่า การตัดสินใจของพรรคเพื่อไทยครั้งนี้ อาจจะเข้าสู่ภาวะถดถอยของพรรค ไม่ใช่แค่ถดถ้อยที่ตัวพรรค แต่หมายถึงกระบวนการการต่อสู้ ที่มีมาตั้งแต่ของพรรคไทยรักไทย และพรรคพลังประชาชน


ไม่ต่างจากมุมมอง รศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย อาจารย์คณะรัฐศาสตร์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช  ระบุ แม้พรรคเพื่อไทยตั้งรัฐบาลสำเร็จ แต่ในทางความรู้สึกของประชาชนอาจยังไม่เข้าใจ เพราะประกาศมาตลอดจะไม่จับมือกับพลังประชารัฐ และรวมไทยสร้างชาติ



รัฐบาลมีเสถียรภาพ แต่งานยากคือ แบ่งเก้าอี้ !!


รศ.ดร.โอฬาร ถิ่นบางเตียว อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา เห็นว่า พรรคเพื่อไทยดึงพรรคร่วมรัฐบาลเดิมเข้ามาร่วม สามารถตั้งรัฐบาลได้มีเสถียรภาพก็จริง แต่กระบวนจัดตั้งรัฐบาลไม่ง่าย เพราะจะเกิดเงื่อนไขการต่อรองเก้าอี้รัฐมนตรีอย่างเข้มข้นของพรรคการเมืองในซีกรัฐบาลเดิม


“ด้วยปัจจัยสำคัญอีกอย่างคือ การใช้เสียงโหวตสนับสนุนจาก สว.เพื่อให้ได้ 375 เสียง ซึ่งทุกฝ่ายรู้อยู่ว่า สว.ได้รับอิทธิพลที่มาจากพรรครวมไทยสร้างชาติ และพรรคพลังประชารัฐ ดังนั้นภายใต้เงื่อนไขนี้ ทั้งสองพรรค จะต่อรองอยางหนัก ซึ่งยังไม่รวมพรรคภูมิใจไทย ที่ต้องการตำแหน่งรัฐมนตรีที่สำคัญ



ถอดความหมายโพสต์  “เพื่อไทยคิดใหญ่ ใจกว้าง” 


งานยากที่นักวิชาการมอง ดูเหมือนพรรคเพื่อไทยเองก็รู้ ถอดความจากโพสต์เฟซบุ๊กของ “ภูมิธรรม เวชชยชัย” เมื่อวันที่ 16 ส.ค. ที่โพสต์ยาวเหยียด ก่อนขมวดจบจับใจความได้ว่า …


“การดำเนินงานการเมืองของพรรคเพื่อไทยในครั้งนี้กับความพยายามคลี่คลายความขัดแย้ง ที่ดำรงอยู่มาเป็นเวลายาวนานกว่า 20 ปี หัวใจสำคัญคือแต่ละฝ่ายยอมถอยออกคนละก้าว ให้มาอยู่ในจุดที่ทำงานร่วมกันเพื่อสร้างประโยชน์ให้กับประเทศและประชาชน กระบวนทัศน์เดิมในทางการเมืองมองพรรคการเมืองคู่แข่งคือการเอาชนะคะคานกัน ... หากเปลี่ยนมุมคิดโดยใช้การเมือง เป็นเวทีที่ได้พูดคุย แลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน ทำงานร่วมกัน ช่วยสลายขั้วความขัดแย้ง และนำพาบ้านเมืองออกจากหล่มความขัดแย้ง ... การคิดและดำเนินการเพื่อให้ประสบผลสำเร็จในภารกิจใหญ่เช่นนี้ มิใช่เรื่องง่าย สำหรับพรรคเพื่อไทยต้องคิดใหญ่ ด้วยใจที่ใหญ่ ใจที่กว้าง ภายใต้สถานการณ์ทางเลือกที่คับแคบ ... พรรคเพื่อไทย เปิดใจกว้าง จับมือทำงานร่วมกับทุกพรรคการเมืองที่ล้วนแล้วแต่ได้รับคะแนนเสียงการเลือกตั้งมาจากประชาชน เพราะนี่คือ ตัวแทนของประชาชนส่วนหนึ่งของประเทศที่ต่างก็มีสิทธิ์และเสียงเท่าเทียมกัน  การตัดสินใจครั้งนี้ของพรรคเพื่อไทยเรายอมเสียต้นทุนทางการเมืองบางส่วนด้วยความเชื่อว่า “ทารกที่คลอดจากครรภ์มารดา ล้วนผ่านความเจ็บปวดฉันใด การเปลี่ยนแปลง เพื่อสิ่งใหม่ที่ดีขึ้น ย่อมต้องผ่านความเจ็บปวดฉันนั้น”


จับตา 22 สิงหาคม พรรคเพื่อไทยจะผ่านด่านแรก ส่งแคนดิเดตนายกฯ ที่ชื่อ “เศรษฐา ทวีสิน” ขอเสียงโหวตจากรัฐสภาได้เพียงครั้งเดียวได้หรือไม่



เรียบเรียงโดย จิตฤดี บรรเทาพิษ

เครดิตภาพ TNN



ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง