รีเซต

กวก. เดินหน้าวิจัยพัฒนาพันธุ์กัญชา-กัญชง พร้อมคู่มือพื้นที่เสริมแกร่ง

กวก. เดินหน้าวิจัยพัฒนาพันธุ์กัญชา-กัญชง พร้อมคู่มือพื้นที่เสริมแกร่ง
มติชน
6 เมษายน 2564 ( 15:18 )
131
กวก. เดินหน้าวิจัยพัฒนาพันธุ์กัญชา-กัญชง พร้อมคู่มือพื้นที่เสริมแกร่ง

นายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร (กวก.) เปิดเผยถึงการขับเคลื่อนงานกัญชา-กัญชงของกรมฯ ว่า หลังมีนโยบายการส่งเสริมการปลูกกัญชา-กัญชง นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มอบหมายให้กรมฯ เร่งดำเนินการโดยเร่งด่วนในการเข้ามาดูกระบวนการปลูกให้กับประชาชนและเกษตรกรที่สนใจจะปลูกกัญชา และกัญชง โดยกรมได้จับมือทำงานกับกระทรวงสาธารณสุขอย่างใกล้ชิดภายใต้กฎหมายที่รองรับ ซึ่งกรมฯมีภารกิจ ในการศึกษาวิจัยพัฒนาพันธุ์ การหาพื้นที่ที่เหมาะสมในการปลูก พันธุ์ที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่

 

 

นอกจากนั้นยังต้องมีมาตรการควบคุมพันธุ์พืชตามกฏหมายของกรมอีกด้วย ทั้งนี้ เพื่อให้การส่งเสริมการปลูกกัญชา กัญชง ของประเทศสามารถเอื้อประโยชน์กับประชาชนเกษตรกรให้ได้มากที่สุด และมีส่วนในการช่วยกระตุ้นระบบเศรษฐกิจและสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรได้สมกับเจตนารมย์ของโครงการอีกด้วย

 

 

ด้าน นายสุรกิตติ ศรีกุล ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการจัดการพืช กรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า ภาระกิจงานของกรมฯในการขับเคลื่อนงานด้านกัญชานั้นจะเน้นในเรื่องต้นน้ำ ที่จะวิจัยและพัฒนาพันธุ์กัญชา-กัญชง ให้ตอบสนองกับความต้องการใช้ทั้งด้านทางแพทย์ ตลอดจนอุตสาหกรรรมต่อเนื่องของประเทศ เพื่อให้กัญชา-กัญชงเป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ที่สามารถทำให้ประชาชนฐานรากมีรายได้ที่เพิ่มขึ้นผ่านระบบบริหารที่เป็นไปตามเงื่อนไขของกระทรวงสาธารณสุข

 

 

โดยงานวิจัยกัญชาของกรมจะมีการดำเนินการ 2 รูปแบบคือ กรมวิจัยเอง กับจับมือสถาบันการศึกษาร่วม ทั้งนี้เพื่อให้ต้นน้ำคือเกษตรกร ได้มีการเตรียมวัสดุปลูก เมล็ดพันธุ์ ต้นพันธุ์ ที่เหมาะสม เพื่อให้สารยาและน้ำมันดีที่สุด

 

 

นายสุรกิตติ กล่าวว่า สำหรับผลผลิตระยะแรกจะออกในเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน 2564 ซึ่งจะแบ่งเป็น 2 แบบ คือ เมล็ด และกิ่งตัดชำ ที่มาจากต้นกล้าพันธุ์ดีผลผลิตชุดนี้คาดว่าจะออกมาทุกจุดทดลอง ซึ่งกรมฯมีการบริหารจัดการให้กับสถาบันเกษตรกรสหกรณ์ ที่เข้าโครงการตามเงื่อนไขของกระทรวงสาธารณสุข

 

 

นอกจากนั้นกรมฯ อยู่ระหว่างการจัดทำแผนที่แสดงพื้นที่ที่มีศักยภาพในการปลูกกัญชา-กัญชง แบ่งเป็นพื้นที่เหมาะสมที่สุด ปานกลาง พอใช้ และไม่เหมาะสม พร้อมทั้งได้จัดคู่มือแนะนำในการปลูกให้กับเกษตรกรเร็วๆ นี้ ส่วนระยะที่ 2 กรมฯ จะเริ่มพัฒนารูปแบบการปลูกแบบเพาะเนื้อเยื่อ ในระยะต่อไปจะนำไปสู่การยกระดับแปลงปลูกเข้าสู่มาตรฐานการผลิตแปลงจีเอพีต่อไป

 

 

“การดำเนินการทั้งหมดนี้จะช่วยลดความเสี่ยงให้กับประชาชนและเกษตรกรที่สนใจในการปลูกกัญชา-กัญชง ตั้งแต่รูปแบบของการปลูก ชนิดสายพันธุ์ การปลูก การดูแลรักษา ที่มีความเหมาะสมกับในแต่ละสภาพพื้นที่ ซึ่งคาดว่าจะส่งผลให้การขับเคลื่อนงานกัญชา-กัญชง สำเร็จไปได้ด้วยดี” นายสุรกิตติกล่าว

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง