รีเซต

กัญชง อุตสาหกรรมเด่นตลาดโลก-ไทยจ่อโตติดจรวด 15.8 พันล้านบาทใน 5 ปี

กัญชง อุตสาหกรรมเด่นตลาดโลก-ไทยจ่อโตติดจรวด 15.8 พันล้านบาทใน 5 ปี
TNN ช่อง16
4 ธันวาคม 2564 ( 18:02 )
185

กระแส กัญชง กัญชา ในบ้านเราได้เริ่มคึกคักกันมาในช่วงระยะเวลา 2-3 ปีที่ผ่านมา และได้รับความสนใจเป็นอย่างมากหลังจากรัฐบาลประกาศปลดล็อคให้สามารถขออนุญาตปลูก ผลิต นำเข้าเมล็ดพันธุ์ ครอบครอง และจำหน่ายได้  ด้วยสรรพคุณ ประกอบกับความต้องการในตลาดโลกที่มีแนวโน้มเปิดกว้างมากยิ่งขึ้น  ทำให้มีการใช้ในหลายอุตสาหกรรม  ทำให้เป็นที่จับตาว่าจะกลายเป็นพืชเศรษฐกิจใหม่ของไทย

การปลดล็อคการประกอบธุรกิจกัญชง ทำให้มีการเชื่อมโยงไปสู่ห่วงโซ่อุตสาหกรรมใน  5 กลุ่ม ได้แก่ เครื่องดื่ม อาหาร ยาและอาหารเสริม เครื่องแต่งกาย และผลิตภัณฑ์ดูแลส่วนบุคคล จากการประเมินว่ามูลค่าตลาดกัญชงรวมประมาณ 15.8 พันล้านบาท ใน 5 ปีข้างหน้า  แต่ปัจจุบันก็ยังเป็นเรื่องใหม่และเป็นความท้าทายของบรรดาผู้ประกอบการและเกษตรกรไม่น้อย  


สรรพคุณที่น่าสนใจของ กัญชง มีอะไรบ้าง? 

กัญชง  มีสรรพคุณมากมาย อาทิ ช่วยทำให้รู้สึกผ่อนคลาย สดชื่น ช่วยให้นอนหลับสบาย รักษาอาการวิงเวียนศีรษะ ปวดศีรษะหรือไมเกรน โดยสามารถใช้ประโยชน์ได้ทุกส่วน ตั้งแต่ช่อดอก ใบ เมล็ด เปลือก ลำต้น กิ่งก้าน และราก ซึ่งสามารถแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ มากมาย เช่น ช่อดอก นิยมสกัดเพื่อใช้เป็นส่วนประกอบในอาหารและเครื่องดื่ม เปลือก ลำต้น ทำเป็นเส้นใย นิยมนำมาทําเป็นเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม เชือก เสื้อเกราะกันกระสุนชั้นดีที่มีน้ำหนักเบา เยื่อกระดาษ วัสดุหีบห่อ  แต่ที่เห็นกันบ่อยๆก็น่าจะเป็น น้ำมันและสารสกัดจากเมล็ดกัญชง ที่ใช้เป็นส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์อาหารและผลิตภัณฑ์ดูแลสุขภาพ เนื่องจากมีคุณค่าทางโภชนาการสูง (อาทิ โปรตีน วิตามินอี โอเมก้า) เป็นต้น 


ความต้องการในตลาดโลกสูงและมีแนวโน้มเติบโตได้อีก

วิจัยกรุงศรี เปิดเผยว่า ปี 2563 ตลาด กัญชง โลกมีมูลค่า 4.75 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ  จำแนกตามประเภทของผลิตภัณฑ์ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ดูแลส่วนบุคคล (อาทิ ครีมทาหน้า ครีมบำรุงผิว ผลิตภัณฑ์ล้างมือ ผลิตภัณฑ์อาบน้ำ) 1.76 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (สัดส่วน 37.1% ของมูลค่าตลาดกัญชงโลก) รองลงมาได้แก่ อาหารและเครื่องดื่ม (25.2%) สิ่งทอ (18.6%) และผลิตภัณฑ์ยา (11.6%) แต่หากจำแนกตามการแปรรูป พบว่า กัญชงถูกแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์น้ำมันมากที่สุด มีมูลค่า 2.15 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (สัดส่วน 45.2% ของมูลค่าตลาดกัญชงโลก) รองลงมาได้แก่ เมล็ดกัญชง (28.8%) และเส้นใย (20.0%)  ในระยะข้างหน้า Allied Market Research คาดว่าตลาดกัญชงโลกจะเติบโตต่อเนื่องเฉลี่ย 21.6% ต่อปี มาอยู่ที่ 1.86 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2570 (แต่ยังถือว่ามีขนาดเล็กเมื่อเทียบกับตลาดกัญชาโลก) 



ภาพประกอบจาก :  https://www.krungsri.com/th/research/research-intelligence/hemp-2021

กัญชง มีมูลค่าสูง 

สารสกัด กัญชง มีราคาแตกต่างกันขึ้นอยู่กับ ความบริสุทธิ์ กระบวนการสกัด  ซึ่งบริษัทที่ประกอบธุรกิจกัญชงในตลาดโลกส่วนใหญ่อยู่ในสหรัฐอเมริกา แคนาดา จีน และออสเตรเลีย มีอัตราการเติบโตของรายได้สูงถึง 70-100% ต่อปี (ช่วงปี 2560-2562) แต่เนื่องจากผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังอยู่ในช่วงต้นของการลงทุน มีต้นทุนการวิจัยและพัฒนาสูง ส่งผลให้กำไรโดยรวมยังอยู่ในระดับที่ไม่สูงนัก


ธุรกิจทางการแพทย์หนึ่งในผู้เล่นที่น่าติดตาม

นายแพทย์บุญ วนาสิน ประธานกรรมการ บมจ. ธนบุรี เฮลท์ แคร์ กรุ๊ป หรือ THG หนึ่งผู้เล่นธุรกิจ กัญชง ที่อยู่ในแวดวงการแพทย์ และมองเห็นโอกาสของธุรกิจ กัญชง   โดยล่าสุดได้จัดตั้ง บริษัท  ธนบุรี คานาบิซ จำกัด (มหาชน) หรือ THC  ซึ่งต้องการที่จะพัฒนาศักยภาพการให้บริการทางการแพทย์แผนไทยที่เป็นภูมิปัญญาไทยอยู่แล้ว นำมารวมกับการสกัดและใช้พืชกัญชง(CBD)  เข้ามาช่วยในการรักษาและบรรเทาอาการของโรค โดยการนำนวัตกรรมต่างๆ จากงานวิจัยมาใช้ในการดูแลรักษาคนไข้และพัฒนาวงการแพทย์ไทยให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น 

ขณะเดียวกันยังจะให้การสนับสนุน รวมทั้งให้คำปรึกษา เพื่อนำไปสู่การพัฒนากระบวนการผลิต สกัดและใช้พืชกัญชง(CBD)ที่มีคุณภาพมาตรฐาน ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ไปถึงปลายน้ำ เพื่อประโยชน์ในทางการแพทย์ และบำบัดโรค ภายใต้การควบคุมและดูแลจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ สอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงสาธารณสุขที่มุ่งขับเคลื่อนการใช้กัญชาทางการแพทย์ เพื่อนำมาใช้ส่งเสริมกับการรักษาด้วยแพทย์แผนปัจจุบันและแพทย์แผนไทย รวมถึงผลักดันกัญชาเป็นพืชเศรษฐกิจในอนาคต ในปัจจุบัน ได้มีการลงนามในบันทึกข้อตกลงความเข้าใจ (Memorandum of Understanding: MOU)ร่วมกับวิสาหกิจชุมชนเกือบ 10 ราย   เพื่อร่วมเป็นภาคีในการทำธุรกิจร่วมกัน และถือว่าTHG เป็นโรงพยาบาลรายแรกที่ทำธุรกิจกัญชงแบบครบวงจร โดยเริ่มตั้งแต่การปลูก การสกัด การผลิต จนถึงนำไปใช้ในการรักษาได้จริง คาดว่าจะสร้างความน่าสนใจให้กับตลาดกัญชงต่อไปในอนาคต

ภาพประกอบจาก :พีอาร์ บมจ. ธนบุรี เฮลท์ แคร์ กรุ๊ป  

ทั้งนี้จุดเด่นในเรื่อง CBD ทางการแพทย์ ของ ธนบุรี คานาบิซฯนั้น คือ ได้มีการแลกเปลี่ยนงานวิจัยทางด้านเทคโนโลยีการปลูก การวิจัย และพัฒนาสูตรยา กับทาง CBD academy สหรัฐอเมริกามาเป็นเวลาเกือบ 2 ปี ทำให้ได้รับสูตรยาที่มีมาตรฐานเทียบเท่าสากล รวมไปถึงการที่มีศูนย์ Jin Wellness ในเครือ THG ซึ่งเป็นศูนย์ที่ช่วยในการฟื้นฟูผู้ป่วยโดยอยู่ในการดูแลของแพทย์ และให้การแนะนำอย่างใกล้ชิดในการนำ CBD เข้ามาช่วยในการรักษา  โดยกลุ่มลูกค้าเป้าหมายเบื้องต้น คือกลุ่ม B2B เป็นหลัก เพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ที่มีความน่าเชื่อถือ และหลากหลาย สามารถตอบสนองความต้องการเฉพาะกลุ่มของลูกค้ารายย่อยได้ 

ขณะที่ผลิตภัณฑ์ของลูกค้ารายย่อย CBD medical grade ถือเป็นจุดขายสำคัญ เพราะเป็นสินค้าที่ผู้ใช้ต้องได้รับใบสั่งยาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่ได้รับการtrain และมีประสบการณ์ในการใช้ CBD ทางการบรรเทาและรักษาโรค เพื่อเป็นทางเลือกในการรักษาควบคู่กับการรักษาแพทย์แผนปัจจุบัน ทั้งนี้ นายแพทย์บุญ  คาดว่าอัตราการเติบโตของธุรกิจ น่าจะอยู่ที่ประมาณ 15-20% ต่อปีนับจากนี้ จากการที่เริ่มการลงทุนไปเบื้องต้นกว่า 100 ล้านบาท 

 

 5 ปีข้างหน้าคาดมูลค่าตลาดกัญชงไทยโตพุ่ง 15.8 พันล้านบาท

วิจัยกรุงศรี ประเมินว่ามูลค่าอุตสาหกรรม กัญชง ของไทย ปี 2564 อุตสาหกรรมเครื่องดื่มที่มีกัญชงผสมจะมีมูลค่า 280 ล้านบาท รองลงมาเป็นผลิตภัณฑ์อาหารจากกัญชง 240 ล้านบาท ยาและอาหารเสริมจากกัญชง 50 ล้านบาท เครื่องแต่งกายที่ทำด้วยใยกัญชง 30 ล้านบาท และผลิตภัณฑ์ดูแลส่วนบุคคลประเมินว่ายังอยู่ในช่วงการพัฒนาผลิตภัณฑ์เป็นหลักในปีแรก ทั้งนี้ 5 กลุ่มอุตสาหกรรมดังกล่าวจะมีการนำกัญชงไปใช้มูลค่าประมาณ 600 ล้านบาท   และคาดว่าผลิตภัณฑ์กัญชงไทยจะเติบโตอย่างมากในช่วง 5 ปีแรกหลังรัฐปลดล็อคการประกอบธุรกิจ โดยตลาดกัญชงไทยจะมีมูลค่าสูงถึง 15,770 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2568 หรือเติบโตเฉลี่ย (CAGR) 126% ต่อปี 


ตลาดกัญชงถือว่ายังมีช่องว่างให้บรรดาผู้ประกอบการเข้าไปชิงส่วนแบ่งก้อนเค้กนี้ได้อีกหลายส่วน แม้ว่าในอุตหกรรมยา หรืออาหารเสริมจะนำไปก่อน แต่ก็ใช่ว่าธุรกิจอื่นจะไม่มีโอกาส จะเห็นได้จากธุรกิจรายย่อยหรือ รายเล็ก อย่างร้านกาแฟ ชา คาเฟ่ เบเกอรี่เอง  ก็ได้นำกัญชาหรือ กัญชง มาชูจุดขายเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าได้   อยู่ที่ความพร้อมและไอเดีย ไม่แน่ว่าคุณอาจจะเป้นหนึ่งในผู้ประกอบการรุ่นเริ่มต้นที่ประสบความสำเร็จก่อนใครก็เป็นได้ 


ภาพประกอบ : AFP 

ข้อมูล : วิจัยกรุงศรี , บมจ. ธนบุรี เฮลท์ แคร์ กรุ๊ป  

ภาพ : AFP ,พีอาร์ บมจ. ธนบุรี เฮลท์ แคร์ กรุ๊ป  , วิจัยกรุงศรี 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง