จดทะเบียนสมรส LGBTQ+ แห่งแรกในกทม. รับ "วันวาเลนไทน์" ที่เขตบางขุนเทียน เช็กเงื่อนไขที่นี่!
ความรักไม่จำกัดเรื่องเพศ ไม่ว่าจะเป็นเพศไหน LGBTQ+ ก็สามารถจดทะเบียนสมรส เป็นสักขีพยานรักได้ โดยสำนักงานเขตบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร จัดกิจกรรม "บางขุนเทียน แสงเทียนแห่งรัก" The Candle of Love เชิญคู่รักทุกคู่ รวมถึง LGBTQ+ มา "จดทะเบียนสมรส" และ "จดแจ้งความรัก" ให้แสงเทียนส่องนำชีวิตคู่ ไม่ได้มีผลต่อข้อกฎหมายแต่อย่างใด ในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2565 ณ ศูนย์การค้าเดอะไบรท์ พระราม 2 ต้อนรับวันวาเลนไทน์ 2565
กทม.เตรียมเดินหน้า การบันทึกจดแจ้งคู่รัก LGBTQ+ ให้ครอบคลุม 50 เขต ทั่ว กทม. พร้อมเป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมความรักและการสมรสของคู่รัก LGBTQ+ ในอนาคต ตามนโยบายผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ที่ให้ความสำคัญเรื่องความเสมอภาคและความเท่าเทียมทางเพศในสังคมไทย
สถานที่จัดงาน
ศูนย์การค้าเดอะไบรท์ พระราม 2 ในวันจัทร์ที่ 14 กุมภาพันธ์ 2565 (วันวาเลนไทน์) เวลา 08.00 น.–16:00 น. ในงานมีกิจกรรม "จดทะเบียนสมรส" พร้อมรับของขวัญสุดพิเศษมากมาย
จดทะเบียนสมรส LGBTQ+
การบันทึกจดแจ้ง จัดขึ้นมาเพื่อวัตถุประสงค์ใด?
เพื่อให้เป็นพื้นที่กับคนที่เป็น LGBTQ+ ในระหว่างที่รอกฎหมายให้มีผลบังคับใช้ได้ในอนาคต ได้มีการแสดงหรือต้องการให้รับรู้ถึงการใช้ชีวิตคู่ร่วมกัน เหมือนบุคคลทั่วไป
มีค่าใช้จ่ายในการจดแจ้งไหม?
ไม่มีค่าใช้จ่ายใดใด และผู้ที่มาจดทะเบียนสมรส หรือคู่ที่มาบันทึกจดแจ้ง จะได้รับของที่ระลึกจากผู้สนับสนุน
มีผลบังคับทางกฎหมายหรือไม่?
การบันทึกการจดแจ้งไม่มีผลบังคับทางกฎหมายที่ผูกพันใดใด แต่เป็นการแสดงออกเพื่อส่งเสียงไปยังกลุ่มคนกลุ่มที่ไม่ได้เป็น LGBTQ+ ให้ได้เห็นว่า คนกลุ่มนี้มีจำนวนมากพอสมควรในประเทศไทย และยังรอความเท่าเทียมในทางกฎหมาย
ใช้งบประมาณจากไหน?
การจดทะเบียนสมรสปกติ เป็นการจดทะเบียนนอกสถานที่ใช้งบประมาณทางราชการปกติ สำหรับผู้ที่เป็นคู่รัก LGBTQ+ มาจดบันทึกจดแจ้ง มีภาคเอกชนสนับสนุนทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นวัสดุอุปกรณ์ และแม้กระทั่งใบเอกสารที่ออกให้
มีเจตนาหลอกลวง หรือเอากลุ่ม LGBTQ+ มาล้อเล่นหรือไม่?
เจตนาการจัดกิจกรรมครั้งนี้ เพื่อต้องการให้พื้นที่กับกลุ่ม LGBTQ+ ที่สมัครใจอยากเข้ามาร่วมกิจกรรมและต้องการบันทึกจดแจ้ง ซึ่งมีเป็นจำนวนมาก ส่วนกลุ่มผู้ที่ไม่เห็นด้วย ได้เร่งทำความเข้าใจว่า ไม่ได้ต้องการให้กระทบความรู้สึกหรือเอามาเป็นเรื่องล้อเล่นแต่อยากให้มีความเท่าเทียมได้เกิดขึ้นจริงในสังคม
มีผลกระทบอะไร กับร่าง พ.ร.บ. คู่ชีวิต และร่าง พ.ร.บ. สมรสเท่าเทียมหรือไม่?
ผลกระทบถ้าจะมี หวังว่าจะเป็นผลกระทบในเชิงบวกที่จะเป็นการปักหมุดหมาย หรือส่งเสียงให้ดังเพื่อไปให้ถึงผู้ที่กำลังพิจารณาร่างกฎหมายฉบับนี้ หรือเป็นแรงกระเพื่อมให้สังคมยกประเด็นของกฎหมายฉบับนี้ขึ้นมาถกกันว่า ถึงเวลาหรือยังที่ประเทศไทยควรจะมีกฎหมายสมรสเท่าเทียมเหมือนกับหลายประเทศในโลก