จําลองเหตุการณ์ “หนี ซ่อน สู้“เอาตัวรอดในสถานการณ์ฉุกเฉิน(กราดยิง)
เจ้าหน้าที่ได้จัดอบรมหลักสูตร Active Shooter เป็นการฝึกใช้วิธีเอาตัวรอดในสถานการณ์ฉุกเฉิน(กราดยิง) โดยมีพล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล รองผบ.ตร. พล.ต.ท.สำราญ นวลมา ผู้ช่วยผบ.ตร. เดินทางมารับชมการฝึก
โดยการมาทำการสาธิตในครั้งนี้จะมีการบันทึกภาพและเสียงทำเป็นวิดีโอเผยแพร่ และผบ.ตร.กับ รมว.ศึกษาธิการกำลังทำข้อตกลงกันเพื่อที่จะส่งครูฝึกที่เป็นตำรวจที่ได้รับการฝึกมาแล้วทุก สน. ให้ไปสอนให้กับคุณครูตามโรงเรียน เนื่องจากโรงเรียนทั้งประเทศมีกว่า 20,000 โรงเรียน แต่มีโรงพักแค่เพียง 1,400 กว่าโรงพัก ดังนั้นจึงไม่สามารถเข้าไปฝึกได้ทุกโรงเรียนจึงจะจัดฝึกให้กับครูแล้วให้ครูไปถ่ายทอดกับเด็กนักเรียนต่อไป
ซึ่งจะเน้นความเข้าใจที่ง่ายอย่างเช่น Run Hide Fight คือการหลีกเลี่ยง หลบซ่อน การเข้าสู้ ซึ่งสำหรับการวัดผลไม่สามารถวัดเชิงปริมาณได้ แต่ต้องวัดผลเชิงคุณภาพ นั่นคือความพึงพอใจของประชาชนว่ามีความพึงพอใจหรือไม่ที่ทางตำรวจได้เข้ามาให้ความรู้ตรงนี้ ซึ่งทุกภาคส่วนต้องร่วมกันช่วยเฝ้าระวัง เพราะการลดอาชญากรรมได้ดีที่สุดคือ การมีพี่น้องประชาชนเป็นแนวร่วมของตำรวจ
การอบรมแบ่งเป็น 3 ฐานหลักฐานแรก คือ 'หนี ซ่อน สู้' ซึ่งการหนี ต้องสังเกตทางเข้าออกว่ามีกี่ทิศทาง มีทางไหนสามารถเชื่อมต่อกับระบบขนส่งมวลชนได้ หลีกเลี่ยงการหนีไปทางตัน กำแพง หรือเส้นทางที่ไม่สามารถไปต่อได้ ทิศทางการหนีต้องตรงข้ามกับเสียงปืน ส่วนกรณีที่ไม่ได้ยินเสียงปืนให้ไปทิศทางเดียวกับการวิ่งของกลุ่มคน การจดจำรูปพรรณสันฐานคนร้าย เพศ ความสูง สีผิว การแต่งกาย จำนวนลักษณะอาวุธที่ใช้ จำนวนคนที่ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต และสุดท้ายเมื่ออยู่ในพื้นที่ปลอดภัยแล้วให้โทรแจ้ง 191 ทันที
การซ่อน เมื่อไม่สามารถหนีหรือหนีไม่ทันและไม่แน่ใจว่าคนร้ายอยู่จุดไหนจะต้องซ่อนทันที โดยเลือกห้องที่มีความแข็งแรง เข้าไปแล้วปิดล็อกประตูหาสิ่งของมาค้ำยันเพื่อไม่ให้ดันจากภายนอกได้แจ้งตำแหน่งตัวเองกับผู้ใกล้ชิดห้ามแจ้งต่อตำแหน่งตัวเองลงสื่อโซเชียล เพราะคนร้ายอาจจะเข้าถึงข้อมูลได้ ปิดเสียงปิดสั่นลดแสงโทรศัพท์ สังเกตที่ประตูและหาสิ่งของเพื่อเตรียมใช้เป็นอาวุธมาไว้ใกล้เผื่อต้องสู้ ที่สำคัญพยามปลอบขวัญดึงสติกับเพื่อนร่วมห้องและสื่อสารวางแผนหากต้องสู้
การสู้ เมื่อไม่สามารถหนีไปที่อื่นได้แล้วคนร้ายบุกเข้ามาที่ซ่อนทุกคนต้องร่วมใจกันสู้ไม่เฉพาะสู้คนใดคนหนึ่งแต่ต้องสู้ทุกคนโดยมีข้อควรระวังการสู้เป็นกรณีที่คนร้ายบุกเข้ามาหาที่ซ่อน ไม่ใช่การออกไปสู้กับคนร้าย กรณีคนร้ายยังไม่พบเจอเรา โดยสู้จากทุกสิ่งที่สามารถใช้เป็นอาวุธได้เช่นถังดับเพลิง น้ำยาล้างห้องน้ำ โต๊ะ เก้าอี้ ปากกา ดินสอ แม้จะมือเปล่าสู้จนกว่าคนร้ายจะหยุดหรือไม่สามารถจะทำอันตรายต่อเราได้แล้ว
ฐานที่สอง การปฐมพยาบาลเบื้องต้นเน้นการรักษาพยายามช่วยเหลือชีวิต ทั้งแบบใช้อุปกรณ์สายรัดห้ามเลือดและอุปกรณ์รอบข้างใกล้เคียงสามารถตรวจเช็คอาการผลกระทบอื่นๆได้เพื่อรอให้หน่วยปฐมพยาบาลมารับการรักษาตัวต่อ
ส่วนฐานที่สาม การปฏิบัติเมื่อเจอกับวัตถุต้องสงสัยว่าเป็นระเบิด กฎสามข้อที่ต้องจำคืออย่าแตะสัมผัสวัตถุหรือบุคคลต้องสงสัย สร้างระยะห่าง มุมและช่องทางเดินอากาศ ทำสัญลักษณ์สื่อสารถึงตำแหน่งของที่วางระเบิด เพื่อให้มีความเข้าใจและสามารถร้องขอเจ้าหน้าที่
นอกจากนี้ในกิจกรรมฝึกมีส่วนสถานการณ์จำลองโดยจะมีคนร้ายเข้ามาในสถานที่ที่กำหนดแล้วกราดยิงใส่กลุ่มผู้ฝึกซ้อมเพื่อให้ผู้ฝึกซ้อมใช้ทักษะที่อบรมมาในการปฎิบัติภารกิจ โดยจะสามารถประยุกต์ใช้ในสถานที่ต่างๆเช่นสถานประกอบการห้างสรรพสินค้า สถานศึกษา สถานที่โล่งแจ้งรับมือกับอาวุธได้ทั้งปืนและมีด ที่ ที่ โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์ แผนกมัธยม(เมื่อวันที่ 20 ต.ค.65)
ภาพโดย: ธนาชัย ประมาณพาณิชย์