รีเซต

ลอยกระทง 2563 กับ ประเพณีในแต่ละท้องถิ่น

ลอยกระทง 2563  กับ  ประเพณีในแต่ละท้องถิ่น
TNN ช่อง16
30 ตุลาคม 2563 ( 09:07 )
348
ลอยกระทง 2563  กับ  ประเพณีในแต่ละท้องถิ่น

ประเพณีลอยกระทงเป็นประเพณีโบราณของอินเดียที่ประเทศไทยรับเข้ามาปฏิบัติ แต่ไม่ปรากฏหลักฐานชัดเจนว่าทำกันมาตั้งแต่เมื่อไหร่ เท่าที่ปรากฏกล่าวได้ว่ามีมาตั้งสมัยสุโขทัยเป็นราชธานี พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสันนิษฐานว่า เดิมทีเดียวเห็นจะเป็นพิธีของพราหมณ์กระทำเพื่อบูชาพระผู้เป็นเจ้าทั้งสาม คือ พระอิศวร พระนารายณ์ และพระพรหม ต่อมาได้ถือตามแนวทางพระพุทธศาสนามีการชักโคมเพื่อบูชาพระบรมสารีริกธาตุพระจุฬามณีในชั้นดาวดึงส์ และลอยโคมเพื่อบูชารอยพระพุทธบาท ซึ่งประดิษฐาน ณ หาดทรายแม่น้ำนัมมทา (แม่น้ำนัมมทา เป็นแม่น้ำที่คู่ขนานกับทิวเขาวินธัย ไหลลงภาคตะวันตกของอินเดียแบ่งเขตอินเดียออกเป็นภาคเหนือและภาคใต้) โดยในปีนี้ วันลอยกระทง ตรงกับ วันเสาร์ที่ 31 ตุลาคม 2563  



สำหรับ  ประเพณีในแต่ละท้องถิ่น มีวัตถุประสงค์ ที่แตกต่างกันออกไป  อันประกอบไปด้วย 

โคมลอย

ภาคเหนือ นิยมทำโคมลอย เรียกว่า "ลอยโคม" หรือ "ว่าวลม" หรือ "ว่าวไฟ" ทำจากผ้าบาง ๆ แล้วสุมควันข้างใต้ให้ลอยขึ้นไปในอากาศอย่างบัลลูนประเพณีของชาวเหนือนี้เรียกว่า ยี่เป็ง หมายถึงการทำบุญในวันเพ็ญเดือนยี่ (ซึ่งนับวันตามแบบล้านนา ตรงกับวันเพ็ญเดือนสิบสองในแบบไทย) หรือโคมลอยบนน้ำรูปทรงต่าง ๆ

จังหวัดเชียงใหม่ มีประเพณี"ยี่เป็ง"เชียงใหม่ ในทุก ๆ ปีจะมีการจัดงานขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ตระการตา และมีการปล่อยโคมลอยขึ้นเต็มท้องฟ้า

จังหวัดลำปาง มีประเพณี  "ล่องสะเปา" (สะเปาหมายถึงกระทง) ซึ่งจะมีการประกวดอยู่สองวันด้วยกัน ได้แก่วันแรก "สะเปาน้ำ" จัดขึ้นในแม่

น้ำวังและวันที่สองจะมี  "สะเปาบก"  ซึ่งการประกวดในที่นี้ จะมีตั้งแต่ระดับกลุ่มหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ โรงเรียน มหาวิทยาลัย สถาบันการศึกษาต่างๆ รวมไปถึงหน่วยการของภาครัฐ แต่ละขบวนจะมีการแสดงต่างๆไม่ว่าจะเป็นฟ้อนรำ ดนตรีพื้นเมือง ความสวยงามของขบวน รวมไปถึงประกวดนางนพมาส ทั้งนี้ ชาวบ้านคนเมืองลำปาง ค่อนข้างให้ความสำคัญแก่ประเพณีล่องสะเปา เนื่องจากเป็นวันที่ทุกคนจะร่วมสนุกสนานครื้นเคร้ง พบปะเพื่อนฝูงที่กลับมาจากการทำงานในต่างจังหวัด และที่สำคัญเป็นเทศกาลกลางแจ้งที่จัดขึ้นท่ามกลางอากาศที่เย็นสบายในทุก ๆ ปี

จังหวัดตาก จะลอยกระทงขนาดเล็กทยอยเรียงรายไปเป็นสาย เรียกว่า "กระทงสาย"

จังหวัดสุโขทัย ขบวนแห่โคมชักโคมแขวน การเล่นพลุตะไล ไฟพะเนียง

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในอดีตมีการเรียกประเพณีลอยกระทงในภาคอีสานว่า สิบสองเพ็ง หมายถึงวันเพ็ญเดือนสิบสองซึ่งจะมีเอกลักษณ์แตกต่างกันออกไป เช่น

จังหวัดร้อยเอ็ด ถือเป็นตัวแทนจัดงานลอยกระทงของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยมีชื่องานประเพณีว่า
"สมมาน้ำคืนเพ็ง เส็งประทีป " ตามภาษาถิ่นมีความหมายถึงการขอขมาพระแม่คงคาในคืนวันเพ็ญเดือนสิบสอง ความพิเศษของงานมีการแสดง แสงสีเสียง ตำนานเมือง

ร้อยเอ็ด จัดให้มีการตกแต่งบริเวณเกาะบึงพลาญชัย (สถานที่จัดงาน) ให้เป็นเกาะสวรรค์ ตกแต่งสวยงาม ยิ่งใหญ่ มีขบวนกระทงอาเซียน มีการประกวดกระทงประทีปใหญ่ ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี การประกวดกระทงอนุรักษ์ธรรมชาติ การประกวดขบวนแห่กระทงประทีป 12 หัวเมือง ตามตำนานเมืองร้อยเอ็ด การประกวดรำวงสมมาน้ำคืนเพ็งเส็งประทีป การประกวดธิดาสาเกตนคร และกิจกรรมอื่น ๆ อีกมากมาย

จังหวัดสกลนคร ในอดีตจะมีการลอยกระทงจากกาบกล้วย ลักษณะคล้ายกับการทำปราสาทผึ้งโบราณ เรียกงานนี้ว่าเทศกาลลอยพระประทีปพระราชทาน สิบสองเพ็งไทสกล

ภาคกลาง มีการจัดประเพณีลอยกระทงขึ้นทั่วทุกจังหวัด

กรุงเทพมหานคร จะมีงานภูเขาทอง เป็นรูปแบบงานวัด เฉลิมฉลองราว 7-10 วัน ก่อนงานลอยกระทง และจบลงในช่วงหลังวันลอยกระทง

จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีการจัดงานประเพณีลอยกระทงกรุงเก่าขึ้นอย่างยิ่งใหญ่บริเวณอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ภายในงานมีการจัดแสดงแสง สี เสียง อย่างงดงามตระการตา

ภาคใต้ อย่างที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ก็มีการจัดงานอย่างยิ่งใหญ่ นอกจากนั้น ในจังหวัดอื่น ๆ ก็จะจัดงานวันลอยกระทงด้วยเช่นกัน

นอกจากนี้ในแต่ละท้องถิ่นยังอาจมีประเพณีลอยกระทงที่แตกต่างกันไป และสืบทอดต่อกันเรื่อยมา

เกาะติดข่าวที่นี่

website: www.TNNTHAILAND.com
facebook : TNNONLINE
facebook live : TNN Live
twitter : TNNONLINE
Line : @TNNONLINE
Youtube Official : TNNONLINE
Instagram : TNN_ONLINE
TIKTOK : @TNNONLINE

ข่าวที่เกี่ยวข้อง