‘เอ็กซิมแบงก์’ คาดจีดีพีไทย 64 พลิกบวก 2.5-4% ดันสินเชื่อโต 6-7% แนะผู้ประกอบการปรับตัวรับโลกใหม่หลังโควิด

นายพิศิษฐ์ เสรีวิวัฒนา กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย หรือเอ็กซิมแบงก์ (EXIM BANK) เปิดเผยว่า ในปี 2563 ธนาคารฯ คาดว่าผลิตภัณฑ์มวลรวม (จีดีพี) ไทยจะติดลบ 7% ส่วนในปี 2564 คาดว่าจะสามารถฟื้นตัวและกลับมาโตได้ที่ 2.5-4% ขณะที่การส่งออกในปีหน้า คาดว่าจะกลับมาเป็นบวกได้ 4% โดยหัวใจสำคัญของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และภาคการส่งออกของไทยคือ ความสามารถของผู้ประกอบการไทย ในการปรับตัวให้ได้ในโลกธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไป และปรับรูปแบบใหม่หลังเกิดการระบาดไวรัสโควิด-19 รวมถึงประเมินว่า การบริโภคและการลงทุนภาครัฐ จะกลับมาเดินเครื่องอีกครั้ง หลังจากผู้ส่งออกไทยปรับตัวได้ดี ในการผลิตและส่งออกสินค้าที่มีความหลากหลายและทนต่อแรงเสียดทานได้ดีขึ้น
“แผนการทำงานในระยะยาว ธนาคารฯ จะสนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทย สามารถพัฒนาสินค้าให้มีนวัตกรรมและมีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น พร้อมปรับตัวให้เข้ากับสภาวะแวดล้อมทางธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว อาทิ การพัฒนาโลจิสติกส์ และบรรจุภัณฑ์ให้เหมาะกับการค้ามากขึ้น รวมถึงผลิตสินค้าเพื่อตอบรับกับกระแสความนิยมใหม่ๆ และการนำระบบอัตโนมัติหรือหุ่นยนต์เข้ามาใช้ในภาคการผลิต บริการ และการเงิน และเน้นย้ำให้การดำเนินธุรกิจ ต้องคำนึงถึงประโยชน์ต่อเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุล เพื่อให้ธุรกิจเติบโตอย่างแข็งแกร่งยั่งยืน แข่งขันในตลาดโลกได้ในระยะยาว” นายพิศิษฐ์ กล่าว
นายพิศิษฐ์ กล่าวว่า สำหรับผลการดำเนินงานของธนาคารในปี 2563 คาดว่ายอดสินเชื่อคงค้างจะเติบโตได้ 5-6% คิดเป็นวงเงิน 6,000-7,000 ล้านบาท จากยอดสินเชื่อคงค้างที่มีปัจจุบัน 130,000 ล้านบาท ส่วนผลการดำเนินงานในปีนี้ คาดว่าจะขาดทุนสุทธิประมาณ 1,000 ล้านบาท เนื่องจากในปีนี้ธนาคารได้มีการตั้งสำรองเผื่อหนี้สงสัยจะสูญเพิ่มเติม ตามหลักเกณฑ์มาตรฐานบัญชีใหม่ (IFRS9) ถึง 6,000 กว่าล้านบาท แต่การตั้งสำรองดังกล่าว ทำให้ธนาคารฯมีความเข้มแกร่งขึ้น เพราะแม้ก่อนหน้านี้ทางกระทรวงการคลัง จะอนุญาตให้ใช้มาตรฐานบัญชีใหม่ สำหรับสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐออกไปอีก 5 ปี แต่ธนาคารฯ มีความจำเป็นต้องเร่งเพิ่ม เนื่องจากเป็นธนาคารที่มีการติดต่อทำธุรกรรมกู้ และการให้สินเชื่อกับต่างประเทศ ซึ่งจะช่วยให้มีความน่าเชื่อถือ และมีความจำเป็นต้องใช้มาตรฐานดังกล่าว
นายพิศิษฐ์ กล่าวว่า ขณะที่หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 5% โดยจะพยายามรักษาไว้ที่ระดับดังกล่าว แต่ยอมรับว่า ในการช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ซึ่งที่ผ่านมาธนาคารฯ ได้ออกมาตรการและเข้าไปช่วยเหลือลูกค้าวงเงินกว่า 50,000 ล้านบาท โดยในจำนวนดังกล่าว มีประมาณ 5% หรือประมาณ 2,500 ล้านบาท ที่เป็นกลุ่มอ่อนไหว และจะต้องจับตาดูเป็นพิเศษ แต่ยืนยันว่า ธนาคารฯ ได้ตั้งสำรองเผื่อหนี้ที่คาดว่าจะจะสูญตามเกณฑ์ไว้เรียบร้อยแล้ว
นายพิศิษฐ์ กล่าวว่า นอกจากนี้ แนวทางการดำเนินธุรกิจในปีหน้า คาดว่าสินเชื่อจะเติบโต 6-7% โดยเน้นช่วยเหลือกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และการมุ่งเน้นการบริหารจัดการการเงินและธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบ การบริหารความเสี่ยงด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม รวมกับการบริหารความเสี่ยง และการกำกับดูแลกิจการที่ดีเพื่อความยั่งยืน รวมถึงการทำหน้าที่สนับสนุนการส่งออกและลงทุนโดยเฉพาะในตลาดใหม่ เพื่อช่วยให้ประเทศไทยก้าวพ้นการเป็นประเทศที่ติดกับดักรายได้ปานกลาง ให้ความรู้และพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้อย่างเท่าเทียม รวมถึงเข้าถึงบริการให้คำปรึกษาแนะนำและโครงการอบรมสัมมนาของศูนย์ความเป็นเลิศด้านการค้าของธนาคาร
นายพิศิษฐ์ กล่าวว่า สำหรับผลการดำเนินงานในการเปิดสำนักงานตัวแทนในต่างประเทศ ภายในสิ้นปีนี้ คาดว่าจะได้รับใบอนุญาตเพิ่มเติมจากทางการเวียดนาม เพื่อตั้งสำนักงานตัวแทนที่โฮจิมินท์ ซึ่งจะทำให้ธนาคารฯ มีสำนักงานครอบคลุมกลุ่มซีแอลเอ็มวี ได้แก่ กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม เพื่อสนับสนุนการเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคของธนาคาร โดยการปล่อยสินเชื่อในกลุ่มซีแอลเอ็มวี มียอดการปล่อยสินเชื่อเติบโตอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดมีสินเชื่อคงค้างเป็น 1 ใน 3 ของยอดสินเชื่อรวม หรือคิดเป็นวงเงินประมาณ 30,000 กว่าล้านบาท และหากมีการเปิดสำนักงานตัวแทนที่เวียดนาม จะสามารถสนับสนุนเงินกู้ให้กับผู้ประกอบการเข้าไปลงทุนและทำการค้าเพิ่มเติมได้ไม่ต่ำกว่า 10,000 ล้านบาท โดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจพลังงาน ที่มีศักยภาพในการขยายตัวได้ดี