รีเซต

ลิงเก็บมะพร้าว : สถานทูตในลอนดอนแถลง อุตสาหกรรมมะพร้าวไทยใช้ "แรงงานมนุษย์เท่านั้น"

ลิงเก็บมะพร้าว : สถานทูตในลอนดอนแถลง อุตสาหกรรมมะพร้าวไทยใช้ "แรงงานมนุษย์เท่านั้น"
บีบีซี ไทย
15 กรกฎาคม 2563 ( 21:19 )
674

Getty Images

สถานทูตไทยในอังกฤษชี้แจง อุตสาหกรรมมะพร้าวไทยใช้ "แรงงานมนุษย์เท่านั้น" ส่วนการใช้ลิงในสวนภาคใต้ เป็นเรื่องท้องถิ่น ไม่ใช่ระดับอุตสาหกรรม ด้านพีตาโต้ว่าการออกมาปฏิเสธเช่นนี้ของทางการไทยเป็นการทำให้ตัวเอง "สูญเสียความน่าเชื่อถือ"

สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงลอนดอนเผยแพร่เอกสารแถลงผ่านทางเพจเฟซบุ๊กเมื่อ 14 ก.ค. ชี้แจงว่า ผู้ผลิตและส่งออกผลิตภัณฑ์มะพร้าวรายใหญ่ของไทย ได้แก่ บริษัท เทพผดุงพรมะพร้าว ผู้ผลิตกะทิตราชาวเกาะ, บริษัท ไทย อกริ ฟู้ดส์ ผู้ผลิตกะทิตราอร่อยดี และสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป ต่างยืนยันว่าไม่มีการใช้ลิงในกระบวนการผลิต

ในเอกกสารแถลง สถานทูตระบุว่า การเก็บมะพร้าวในไทยเป็นกิจกรรมที่ต้องใช้แรงงานเป็นหลัก โดยเป็นการใช้ "แรงงานมนุษย์เท่านั้น" ที่ใช้ไม้สอยตามวิธีดั้งเดิม โดยตัดครั้งเดียวได้มะพร้าว 10-30 ลูก ซึ่งไม่สามารถทำโดยลิงได้

อย่างไรก็ดี สถานทูตบอกว่า เพื่อความมั่นใจของผู้บริโภค สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูปจะทำงานร่วมกับบริษัทสมาชิกสมาคมเพื่อทำระบบการตรวจสอบกระบวนการผลิตอย่างเข้มงวดมากขึ้นเพื่อให้มั่นใจว่าสินค้าแต่ละชิ้นไม่ได้ข้องเกี่ยวกับการทรมานสัตว์

"เหมือนกับหลายประเทศอื่น ๆ สังคมไทยไม่อดกลั้นต่อการใช้ความรุนแรงทารุณสัตว์ สังคมไทยมุ่งมั่นส่งเสริมการคุ้มครองสวัสดิภาพและสิทธิสัตว์ และคาดหวังให้ทุกฝ่ายทำงานร่วมกันเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและมีความโปร่งใส"

สถานทูตบอกว่าอีก เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องเข้าใจว่าการใช้ลิงในสวนมะพร้าวท้องถิ่นในพื้นที่บางส่วนของภาคใต้เป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตของชาวบ้าน ตามธรรมเนียม ลิงเหล่านี้ถูกเลี้ยงและฝึกให้ช่วยเก็บมะพร้าวเพื่อการทำมาหากินของชาวบ้าน และโดยทั่วไปก็ถูกเลี้ยงเสมือน "สมาชิกในครอบครัว และไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการผลิตมะพร้าวในเชิงอุตสาหกรรมแต่อย่างใด"

สถานทูตทิ้งท้ายว่าข้อกล่าวหาของพีตาเป็นกรณียกเว้น ไม่ใช่วิถีปฏิบัติที่เห็นทั่วไปในไทย

Getty Images

พีตาโต้

"การชี้ว่าลิงถูกใช้เพื่อการแสดงให้นักท่องเที่ยวเท่านั้นไม่ได้ช่วยสัตว์ หรือการท่องเที่ยว และก็ไม่สามารถตบตาใครได้" พีตา ระบุกับบีบีซีไทยผ่านอีเมล

พีตาบอกว่ามีหลักฐานอย่างชัดแจ้งว่าลิงถูกล่าม จับใส่กรง และให้แยกกันอยู่ตลอดชีวิต เพราะภาคอุตสาหกรรมนี้ไม่ยอมลงทุนใช้เครื่องจักรเก็บมะพร้าวแทนเหมือนกับที่ประเทศอื่น ๆ ได้ทำ

"ลิงบางตัวถูกจับถอนฟันหากว่าพยายามจะต่อสู้กลับ" พีตา ระบุ

เมื่อบีบีซีไทยยกตัวอย่างบางกรณีที่ชาวบ้านบอกว่าลิงที่พวกเขาเลี้ยงเกิดในฟาร์ม ไม่ได้เป็นการพรากลิงมาจากพ่อแม่ และก็ถูกเลี้ยงเสมือนสมาชิกในครอบครัว พีตาบอกว่า แม้ในสถานการณ์ที่ดีที่สุด ลิงเหล่านี้ก็ต้องถูกนำไปฝึกด้วยกระบวนการที่ยากลำบากและน่าสับสน ถูกล่ามไว้ตลอดเวลา ถูกจับแยกให้อยู่อย่างโดดเดี่ยว "ทั้ง ๆ ที่พวกมันควรได้อยู่ในป่า เล่นกับครอบครัว จับคู่กับลิงตัวไหนก็ได้ที่ต้องการ ห้อยโหนจากไม้เถาหนึ่งไปสู่อีกไม้เถ้าหนึ่ง"

พีตา บอกกับบีบีซีไทยว่า คนงานในฟาร์มหลายแห่งบอกกับเจ้าหน้าที่ของพีตาที่ลงพื้นที่สืบสวนว่า พวกเขาส่งมะพร้าวไปให้บริษัทผู้ผลิตกะทิตราชาวเกาะและตราอร่อยดี

อย่างไรก็ดี บีบีซีไทยไม่สามารถยืนยันข้อมูลนี้ได้

นอกจากนี้ พีตายังได้ให้รูปและวิดีโอการเลี้ยงดูลิงอย่างทารุณให้บีบีซีไทยดูด้วย โดยอธิบายประกอบว่าแต่ละรูปและแต่ละส่วนของวิดีโอมาจากการแข่งขันลิงเก็บมะพร้าวและโรงเรียนฝึกสอนลิงในจังหวัดสุราษฎร์ธานี โรงเรียนฝึกสอนลิงในจังหวัดชุมพร และฟาร์มมะพร้าวในจังหวัดสุราษฎร์ธานีและจังหวัดชุมพร

บีบีซีไทยไม่สามารถพิสูจน์ข้อมูลนี้ได้

เมื่อ 9 ก.ค. นายเกรียงศักดิ์ เทพผดุงพร กรรมการผู้จัดการ บริษัท อำพลฟูดส์ โพรเซสซิ่ง จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายกะทิชาวเกาะ ให้สัมภาษณ์นายสุทธิชัย หยุ่น ว่า ข้อกล่าวหาเรื่องการทรมานลิงในการเก็บมะพร้าว เกิดมาแล้วราว 5 ปี ซึ่งทางผู้ผลิตและผู้ส่งออกพยายามชี้แจงมาตลอด รวมทั้งกับเทสโก้ในไทย เขากล่าวว่าการทรมานที่พบในกรณีที่พีตาอาจเป็นเรื่องจริง แต่เป็น "หนึ่งในร้อยหรือพัน" ต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าไม่ทรมานสัตว์ และย้ำว่า ลิงที่ใช้เก็บไม่ใช่ลิงป่า เป็นลิงบ้าน ซื้อขายกันตัวละ 4-5 หมื่นบาท คงยกเลิกไม่ได้ เขาเห็นว่า ผู้ซื้อไม่ควรนำเรื่องที่เกิดบางกรณี มาใช้ลงโทษทั้งประเทศ แต่ควรหามาตรการป้องกันไม่ให้เกิดการทรมานดีกว่า

EPA

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง