คาดประชากรโลกเผชิญกับภัยแล้งเพิ่มขึ้น 2 เท่า
สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานเมื่อวันที่ 13 มกราคมว่า นักวิจัยได้เผยแพร่งานผ่านวารสาร Nature Climate Change ระบุว่า น้ำจืดกำลังลดลงอย่างกระทันหันในพื้นที่ 2 ใน 3 ของพื้นผิวโลกในช่วงปลายศตวรรษนี้ ส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ทำให้จำนวนประชากรโลกที่ต้องประสบกับภัยแล้งอย่างหนักจะเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว
แม้จะอยู่ในสภาวะที่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกลดลงเล็กน้อย แต่พื้นที่บนดินต้องประสบกับภัยแล้งอย่างรุนแรงโดยเพิ่มขึ้นจาก 3 เปอร์เซ็นต์ เป็น 7 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ประชากรที่อยู่ในความเสี่ยงเพิ่มขึ้นจาก 230 ล้านเป็นราว 500 ล้านคน
นายยาดู โพเครล หัวหน้าทีมนักวิจัยที่เขียนรายงานชิ้นนี้เปิดเผยว่า พื้นที่ที่เกิดการขาดแคลนของน้ำอย่างน่ากังวลได้แก่พื้นที่ลุ่มแม่น้ำแอมะซอน ทวีปออสเตรเลีย ทางใต้ของแอฟริกา พื้นที่แถบทะเลเมดิเตอร์เรเนียน และในหลายพื้นที่ของสหรัฐอเมริกา
สภาพการณ์ดังกล่าวทำให้คนทุก 1 ใน 12 คน มีความเป็นไปได้ที่จะต้องเผชิญกับภาวะขาดแคลนน้ำทุกปีภายในปี 2100 เพิ่มขึ้นจากค่าเฉลี่ยเดิมที่พบเพียง 1 ต่อ 33 คน ในช่วงปลายศตวรรษที่ 20
“การที่ปริมาณน้ำจืดลดลงและการเพิ่มขึ้นของภาวะขาดแคลนน้ำในอนาคต เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ไม่ได้เกิดจากกิจกรรมการใช้น้ำบนผิวดิน อย่างการชลประทานและการสูบน้ำใต้ดิน”งานวิจัยระบุ
มนุษย์ประสบกับภัยแล้งมานาน ก่อนเผชิญกับผลกระทบของการปล่อยก๊าซคาร์บอนจากเผาไหม้ของพลังงานฟอสซิล ซึ่งเป็นสาเหตุของภาวะโลกร้อน อย่างที่เก็บน้ำสำหรับกรุงเคปทาวน์ ของแอฟริกาใต้ ได้เหือดแห้งลงไปตั้งแต่เมื่อต้นปี 2018 หลังจากเผชิญภัยแล้งต่อเนื่องกันมานานหลายปี