รีเซต

‘ททท.’ ชี้โควิด-19 รอบใหม่ ทำท่องเที่ยวสูญ 5 หมื่นล้านบาทต่อเดือน

‘ททท.’ ชี้โควิด-19 รอบใหม่ ทำท่องเที่ยวสูญ 5 หมื่นล้านบาทต่อเดือน
มติชน
21 มกราคม 2564 ( 05:45 )
42

นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยว่า การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 19 มกราคม ที่ผ่านมา ภาคการท่องเที่ยวยังไม่มีมาตรการอะไรออกมาเพิ่มเติม โดยเฉพาะชุดมาตรการช่วยเหลือและเยียวยาผลกระทบจากการระบาดโควิด-19 ที่ภาคเอกชนเรียกร้อง อาทิ การช่วยเข้าถึงแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) การลดค่าไฟฟ้า 15% ต่อหน่วย การช่วยสมทบค่าจ้างแรงงาน 7,500 บาทต่อเดือน เพื่อพยุงการจ้างงาน และการจัดตั้งกองทุนท่องเที่ยวโดยเฉพาะนั้น ซึ่งขณะนี้ได้ยื่นข้อเสนอทั้งหมดต่อพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาแล้ว และนำเรื่องส่งต่อให้กับนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อพิจารณาความเป็นไปได้ ซึ่งขณะนี้คาดว่าน่าจะอยู่ระหว่างการหารือและพิจารณาร่วมกันอยู่ โดยมติครม.ในครั้งนี้ มองว่าทุกฝ่ายมุ่งเน้นไปที่โครงการเราชนะมากกว่า จึงยังไม่มีเรื่องเกี่ยวกับท่องเที่ยวออกมา ซึ่งคาดว่าน่าจะมีการนำเสนอเข้าครม.อีกครั้งในรอบต่อไป โดยนำจัดทำเป็นชุดมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการ และการผ่อนปรนหลักเงื่อนการเข้าถึงซอฟต์โลน ซึ่งเป็นเรื่องที่ผู้ประกอบการต้องการให้ช่วยมากที่สุด

 

นายยุทธศักดิ์ กล่าวว่า การระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่นี้ ประเมินผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยว จะทำให้เกิดความเสียหายไม่ต่ำกว่า 50,000 ล้านบาทต่อเดือน พิจารณาจากกรณีคาดการณ์ว่า ประเทศไทยจะใช้เวลาในการควบคุมการระบาดประมาณ 2-3 เดือน ซึ่งเป็นสมมุตฐานเดียวกับที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ทำภาพจำลองออกมานั้น แต่อย่างไรก็ตาม ททท.ขอประเมินสถานการณ์หลังจากหมดเดือนมกราคมนี้ก่อน หากจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ลดลงจาก 3 หลัก (หลักร้อย) เหลือ 2 หลัก (หลักสิบ) คาดว่าในช่วงต้นเดือนมีนาคมนี้ น่าจะสามารถเดินทางได้แล้ว ซึ่งความเสียหายน่าจะอยู่ในระดับดังกล่าว ภายใต้การควบคุมการระบาดโควิด-19 ทั้งการไม่อนุญาตให้เกิดการเดินทางข้ามจังหวัด การรวมกลุ่มคนเป็นจำนวนมาก ซึ่งส่งผลกระทบต่อทั้งการเดินทางท่องเที่ยว โรงแรมไม่มีนักท่องเที่ยวเข้าใช้บริการ และการจัดประชุมสัมมนา ททท.จึงนำตัวเลขจำนวนการเดินทางในช่วงเดียวกันปี 2563 ซึ่งเป็นช่วงเกิดการระบาดโควิด-19 ทำให้มีจำนวนการเดินทางต่ำที่สุด และช่วงการทยอยฟื้นตัว มาเฉลี่ยร่วมกัน ทำให้ได้ช่วงมูลค่าความเสียหายเบื้อต้นไม่ต่ำกว่าเดือนละ 50,000 ล้านบาท

 

“มาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวต่างๆ ได้แก่ เราเที่ยวด้วยกัน ที่จะขยายเวลาการใช้มาตรการออกไปอีก เพื่อรองรับการฟื้นตัวกลับมาเดินทางท่องเที่ยวในประเทศอีกครั้งนั้น ขณะนี้ยังไม่ได้นำเข้าครม. เพราะต้องรอนำเข้าพร้อมกันเป็นชุดมาตรการ รวมถึงโครงการเที่ยวไทยวัยเก๋า ที่ขณะนี้จัดทำรายละเอียดเบื้องต้นเรียบร้อยแล้ว แต่ยังติดในเงื่อนไขขั้นตอนการสมทบเงินจากรัฐบาล ว่าจะส่งไปให้ใครโดยตรง ระหว่างผู้ใช้สิทธิและผู้ประกอบการ โดยมองว่าการกระตุ้นท่องเที่ยวในขณะนี้ น่าจะยังไม่มีความจำเป็น เพราะต้องให้น้ำหนักไปกับการควบคุมการระบาดก่อน แต่ก็ต้องทำเตรียมไว้ เพื่อให้เมื่อคุมโควิด-19 อยู่แล้ว เกิดการเดินทางอีกครั้ง ก็จะสามารถใช้เป็นเครื่องมือกระตุ้นการเดินทางได้ทันที“นายยุทธศักดิ์ กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง