เปิดตัว TransPod FluxJet ไฮเปอร์ลูปความเร็ว 1,200 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
เทคโนโลยีไฮเปอร์ลูป (Hyperloop) ระบบการขนส่งสาธารณะความเร็วเหนือเสียงด้วยแม่เหล็กไฟฟ้าภายในท่อสุญญากาศยุคใหม่ถูกนำเสนอครั้งแรกโดยอีลอน มัสก์และทีมงานวิศวกรในบริษัทสเปซเอ็ก (SpaceX) โดยได้จัดทำเอกสารเผยแพร่แบบไม่คิดมูลค่าเพื่อให้บริษัทนำไปพัฒนาต่อ ปัจจุบันมีหลายบริษัทกำลังพัฒนาเทคโนโลยีไฮเปอร์ลูป เช่น บริษัท เวอร์จิ้น ไฮเปอร์ลูป (Virgin Hyperloop) และล่าสุดก็มีทรานส์พ็อด (Transpod) คู่แข่งรายใหม่จากแคนาดาที่เปิดตัวทรานส์พ็อด ฟลักซ์เจ็ท (Transpod Fluxjet) พร้อมทั้งยังเตรียมแผนก่อสร้างเพื่อทดลองระบบเบื้องต้นเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ทรานส์พ็อด (Transpod) ชูจุดเด่นทรานส์พ็อด ฟลักซ์เจ็ท (Transpod Fluxjet) ว่าเป็นระบบขนส่งแบบใหม่ที่ทั้งน่าตื่นตา น่าประทับใจ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีที่มีพื้นฐานมาจากระบบแม่เหล็กไฟฟ้า (Electromagnetic) ซึ่งเรียกว่าเวลแลนซ์ ฟลักซ์ (Veillance Flux)
เวลแลนซ์ ฟลักซ์ (Veillance Flux) เป็นระบบขับเคลื่อนที่มีองค์ประกอบอยู่ 2 ส่วน ส่วนแรกคือระบบขับดันตัวตู้โดยสาร (Pod) ซึ่งมีพื้นฐานมาจากระบบแม็กเลฟ (Mag-lev) หรือระบบที่มีตัวสร้างสนามแม่เหล็กไฟฟ้า (Electromagnetic) เพื่อทำหน้าที่ยกตัวตู้โดยสารให้สูงเหนือรางแม่เหล็กไฟฟ้า และขับดันตัวตู้โดยสารไปข้างหน้า โดยขับเคลื่อนขบวนทั้งหมดในท่อที่ถูกทำให้มีสภาพใกล้เคียงกับสุญญากาศมากที่สุด ซึ่งทำให้ภายในท่อจะเสมือนไม่มีแรงเสียดทานจากอากาศ ซึ่งทำให้ทรานส์พ็อด ฟลักซ์เจ็ท (Transpod Fluxjet) สามารถเคลื่อนที่ได้ด้วยความเร็วสูงโดยที่ไม่ต้องมีแรงขับเคลื่อนมหาศาล
ระบบทรานส์พ็อด ฟลักซ์เจ็ท (Transpod Fluxjet) มีตู้โดยสารในรูปทรงคล้ายกระสวยขนาดเล็ก (Pod) ความยาว 25 เมตร ขับเคลื่อนด้วยความเร็วไม่เกิน 300 กิโลเมตรต่อชั่วโมงขณะอยู่ในเมือง ก่อนจะทำความเร็วใช้งานจริงที่ 1,000 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และสามารถทำความเร็วสูงสุด 1,200 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ภายในห้องโดยสารจะสามารถจุผู้โดยสารได้สูงสุด 54 ที่นั่ง ออกแบบเบื้องต้นให้ที่นั่งผู้โดยสารมีความหรูหรา พร้อมระบบอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ซึ่งควบคุมสั่งการผ่านหน้าจอระบบสัมผัส ให้ประสบการณ์การเดินทางคล้ายคลึงกับการนั่งโดยสารบนเครื่องบิน
ในขณะนี้บริษัทได้ระดุมทุนได้มากกว่า 19,000 ล้านบาท เพื่อเตรียมก่อสร้างเส้นทางทดสอบแรกระหว่างเมืองคาลการี (Calgary) และเมืองเอดมันตัน (Edmonton) เป็นระยะทาง 300 กิโลเมตร (ใกล้เคียงกับการเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปยังจังหวัดประจวบคีรีขันธ์) ใช้เวลาเดินทาง 45 นาที น้อยกว่าการเดินทางโดยรถยนต์ที่ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 3 ชั่วโมง ซึ่งเบื้องต้นจะมีต้นทุนการก่อสร้างกิโลเมตรละประมาณ 2,100 ล้านบาท กำหนดค่าโดยสารไว้ที่ประมาณ 4,500 บาท และบริษัทคาดหวังว่าหากประสบความสำเร็จ การเดินทางแบบใหม่นี้จะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากกว่าปีละ 630,000 ตัน
ที่มาข้อมูล New Atlas
ที่มารูปภาพ Transpod