รีเซต

บล.บัวหลวงคาด นัดหน้า กนง.คง ดบ.2.50% จับตานโยบายรบ.ต่อเงินเฟ้อ-ของแพง

บล.บัวหลวงคาด นัดหน้า กนง.คง ดบ.2.50% จับตานโยบายรบ.ต่อเงินเฟ้อ-ของแพง
ทันหุ้น
28 กันยายน 2566 ( 14:50 )
57

บล.บัวหลวงวิเคราะห์ ผลจากการที่ ธปท. ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 25 bps ไปเป็น 2.50% (เทียบกับที่ตลาดคาดว่า ธปท. จะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 2.25%) อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับที่ต่ำมาก ดังนั้น บล.บัวหลวงจึงไม่คาดว่าจะเห็นการปรับขึ้นดอกเบี้ยอีกในปีนี้

 

ดอกเบี้ยปรับตัวขึ้นสูงสุดในรอบทศวรรษ

การประชุม กนง. ลงมติเป็นเอกฉันท์เมื่อวานนี้ให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 25bps ไปเป็น 2.50% (ครั้งสุดท้ายที่อัตราดอกเบี้ยสูงขนาดนี้คือช่วงปลายปี 2556) การเพิ่มขึ้นนี้เกินกว่าที่ตลาดคาดว่าดอกเบี้ยจะถูกคงไว้ที่ 2.25% บล.บัวหลวงคาดว่าดอกเบี้ย 2.50% จะเป็นจุดสูงสุดของปี เนื่องจากทั้งอัตราเงินเฟ้อทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานต่ำกว่า 1% YoY ในเดือน ส.ค. (ต่ำกว่าเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานของ ธปท. ที่ 2%และประมาณการปี 2566 ที่ 1.6% สำหรับเงินเฟ้อและ 1.4% สำหรับเงินเฟ้อพื้นฐาน)

 

MLR ยังไม่แน่นอน

จากสถิติแสดงให้เห็นว่าอัตราดอกเบี้ยที่นาคารพาณิชย์เรียกเก็บจากลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี (MLR) ของธนาคารพาณิชย์ จะปรับตัวขึ้นตามอัตราดอกเบี้ย (Repo Rate) ซึ่งปกติจะปรับตัวช้ากว่าราว 1 เดือนหรือน้อยกว่า แต่ในการขึ้นดอกเบี้ยรอบก่อนวันที่ 2 ส.ค. ตัว MLR ธนาคารพาณิชไม่ได้ปรับขึ้นตาม ดังนั้นจึงยังมีความไม่แน่นอนว่ารอบนี้ MLR จะขึ้นตามหรือไม่ ซึ่งหากคงไว้ดังเดิมจะเป็นบวกต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ

 

ภาพของการประชุม กนง.ครั้งต่อไป

เราได้ปรับลดประมาณการเงินเฟ้อทั่วไปไตรมาส 4/66 จากช่วง 0-1% เหลือเกือบ 0%เนื่องจากรัฐบาลใหม่ได้ปรับลดราคาน้ำมันดีเซลและค่าไฟ ขณะที่เงินเฟ้อพื้นฐานน่าจะยังคงต่ำกว่า 1% YOY การประมาณการปี 2566 ของบล.บัวหลวง สำหรับเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ 1.3% (ต่ำกว่าประมาณการของ ธปท.ที่ 1.6%) และ1.3% สำหรับเงินเอพื้นฐาน (1.4%) เนื่องจากอัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำมาก (และอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มที่น่าจะชะลอตัวต่อ) และแนวโน้มการเติบโตของ GDP ของประเทศไทยไม่น่าตื่นเต้น บล.บัวหลวงคาดว่า ธปท. จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.50% ในการประชุม กนง.ครั้งต่อไปในวันที่ 29 พ.ย.

 

ปัจจัยที่ต้องจับตามอง

1) การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่อ่อนแอกว่าคาด 2) ผลกระทบของนโยบายภาครัฐต่ออัตราเงินเฟ้อ 3) ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่สูงขึ้น และ 4) ผลกระทบของปรากฎการณ์เอลนีโญที่อาจดันราคาอาหารให้สูงกว่าที่คาดปัจจุบัน

 

 

 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง