รีเซต

โควิด-19: งานวิจัยล่าสุดชี้ภูมิต้านทานไวรัสของคนอยู่ได้ไม่นาน ดับหวังการใช้ "ภูมิคุ้มกันหมู่" สู้โรคระบาด

โควิด-19: งานวิจัยล่าสุดชี้ภูมิต้านทานไวรัสของคนอยู่ได้ไม่นาน ดับหวังการใช้ "ภูมิคุ้มกันหมู่" สู้โรคระบาด
ข่าวสด
14 กรกฎาคม 2563 ( 11:29 )
165
โควิด-19: งานวิจัยล่าสุดชี้ภูมิต้านทานไวรัสของคนอยู่ได้ไม่นาน ดับหวังการใช้ "ภูมิคุ้มกันหมู่" สู้โรคระบาด

 

โควิด-19: งานวิจัยล่าสุดชี้ภูมิต้านทานไวรัสของคนอยู่ได้ไม่นาน ดับหวังการใช้ "ภูมิคุ้มกันหมู่" สู้โรคระบาด - BBCไทย

งานวิจัยล่าสุดจากอังกฤษพบหลักฐานบ่งชี้ว่า ผู้ที่ติดเชื้อโรคโควิด-19 และหายป่วยแล้ว แม้จะมีภูมิต้านทานโรคนี้แต่ประสิทธิภาพในการต่อสู้กับโรคจะลดลงภายในระยะเวลา 3 เดือน และอาจทำให้กลับมาติดเชื้อได้อีกซ้ำ ๆ ไม่ต่างจากไข้หวัดทั่วไป

คณะนักวิทยาศาสตร์จากสถาบันคิงส์คอลเลจ มหาวิทยาลัยลอนดอนได้ศึกษาผู้ป่วยโควิด-19 จำนวน 96 คน เพื่อหาว่า ร่างกายคนเราจะผลิตสารภูมิต้านทาน หรือ แอนติบอดี (antibody) ขึ้นมาต่อสู้กับเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (Sars-CoV-2) ได้เองตามธรรมชาติอย่างไร และภูมิต้านทานนี้จะมีประสิทธิภาพอยู่ได้นานเท่าใด

นักวิจัยพบอะไร

ผลการศึกษาที่ทำขึ้นระหว่างเดือน มี.ค. - มิ.ย. พบว่า ผู้ป่วยเกือบทุกคนมีแอนติบอดีที่สามารถทำลายและยับยั้งเชื้อโรคโควิด-19 โดยแอนติบอดีจะมีระดับสูงสุดในช่วงประมาณ 3 สัปดาห์หลังจากคนไข้เริ่มแสดงอาการของโรคโควิด-19 จากนั้นระดับของแอนติบอดีจะลดลงภายในระยะเวลา 3 เดือน

Getty Images

ผลการตรวจเลือดพบว่า 60% ของผู้ป่วยที่เข้าร่วมการศึกษามีการตอบสนองของภูมิคุ้มกันที่ "มีประสิทธิภาพสูง" ในช่วงที่ร่างกายกำลังต่อสู้กับเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ และมีผู้ป่วยเพียง 17% เท่านั้นที่ยังคงความสามารถในการต้านทานเชื้อลักษณะนี้อยู่ต่อไปได้ถึง 3 เดือน

ทีมนักวิจัยพบว่า ระดับของแอนติบอดีในผู้ป่วยลดลงถึง 23 เท่าในช่วงเวลา 3 เดือน บางรายแทบไม่เหลือให้ตรวจจับได้เลย

ดร.เคที ดอเรส หัวหน้าทีมวิจัยจากคิงส์คอลเลจ กล่าวว่า "คนเราจะผลิตแอนติบอดีในระดับที่เหมาะสมเพื่อต่อสู้กับเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ แต่มันก็จะลดลงไปในเวลาอันรวดเร็ว และระดับของแอนติบอดีที่ร่างกายสร้างขึ้นจะเป็นตัวบ่งชี้ว่าภูมิต้านทานโรคของคุณจะอยู่ได้นานเท่าใด"

ผลการศึกษาบ่งชี้อะไร

ข้อมูลที่ได้จากการศึกษาครั้งนี้สามารถนำไปใช้ในการพัฒนาวัคซีนป้องกันเชื้อโรคโควิด-19 ซึ่งนี่อาจบ่งชี้ว่า คนเราสามารถกลับมาติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ได้อีกซ้ำ ๆ เช่นเดียวกันกับเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์อื่น ๆ และการให้วัคซีนอาจไม่สามารถปกป้องเราจากการติดเชื้อได้ในระยะยาว ลักษณะเดียวกับวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ที่จะต้องได้รับเป็นประจำทุกปี

นอกจากนี้ ผลการศึกษายังอาจบ่งชี้ว่า การสร้าง "ภูมิคุ้มกันหมู่" (herd immunity) ในกลุ่มประชากรของประเทศ ไม่ว่าจะด้วยการให้วัคซีนแบบครั้งเดียว หรือการปล่อยให้ประชากรส่วนใหญ่ติดเชื้อ อาจใช้ไม่ได้ผลในการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ยั่งยืนในระยะยาว

ภูมิคุ้มกันหมู่คืออะไร

เว็บไซต์ประจำโครงการให้ความรู้เรื่องวัคซีนของมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ดระบุว่า ภูมิคุ้มกันหมู่คือภาวะที่ประชากรส่วนมากของสังคมมีภูมิคุ้มกันโรค โดยคิดเป็นสัดส่วนจำนวนคนที่สูงมากพอ จนช่วยป้องกันการแพร่ระบาดของโรคไม่ให้เกิดขึ้นอีกในอนาคตได้ ไม่ว่าภูมิคุ้มกันหมู่นั้นจะเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติเมื่อหายจากโรค หรือเกิดจากการรณรงค์ฉีดวัคซีนครั้งใหญ่ก็ตาม

เมื่อชุมชนแห่งใดมีภูมิคุ้มกันหมู่เกิดขึ้น สมาชิกส่วนหนึ่งที่ยังไม่มีภูมิคุ้มกันหรือร่างกายอ่อนแอจนไม่มีภูมิคุ้มกันโรค ก็จะได้รับประโยชน์จากการปกป้องรวมหมู่นี้โดยอัตโนมัติ เพราะพาหะที่นำเชื้อโรคจากภายนอกเข้ามา จะไม่สามารถส่งต่อเชื้อนั้นให้กับคนอื่น ๆ เป็นจำนวนมากจนเกิดการระบาดขึ้นได้

ผู้ที่ได้รับการปกป้องจากภูมิคุ้มกันหมู่นั้น ได้แก่ คนชรา ทารกแรกเกิด ผู้ป่วยหนักที่ไม่สามารถรับวัคซีนได้ ผู้มีอาการภูมิคุ้มกันบกพร่องหรือติดเชื้อเอชไอวี ผู้ป่วยที่รับการรักษาด้วยเคมีบำบัดหรือม้ามทำงานผิดปกติ

อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าภูมิคุ้มกันหมู่นั้นจะช่วยป้องกันโรคระบาดได้ทุกชนิด ตัวอย่างเช่นโรคบาดทะยัก (tetanus) ซึ่งเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียจากสิ่งแวดล้อมโดยตรง และไม่สามารถจะติดต่อจากผู้ป่วยบาดทะยักคนอื่น ๆ ได้ ดังนั้นไม่ว่าคนรอบข้างจะฉีดวัคซีนจนมีภูมิคุ้มกันโรคบาดทะยักกันมากแค่ไหนก็ตาม ความเสี่ยงติดเชื้อในหมู่คนที่ไม่มีภูมิคุ้มกันก็จะยังคงสูงมากอยู่

ข่าวที่เกี่ยวข้อง