รีเซต

ไบเดนสาบานตน เปลี่ยนโฉมอเมริกาแบบเฉียบพลัน

ไบเดนสาบานตน เปลี่ยนโฉมอเมริกาแบบเฉียบพลัน
TNN ช่อง16
21 มกราคม 2564 ( 15:44 )
173

ภารกิจแรกของไบเดน หลังสาบานตนได้เพียงไม่กี่ชั่วโมง คือ ลงนามในคำสั่งพิเศษ 17 ฉบับ ยกเลิกนโยบายหลายอย่างของทรัมป์ โดยเฉพาะการนำสหรัฐฯ กลับเข้าสู่ข้อตกลงปารีส ว่าด้วยการแก้ปัญหาโลกร้อน กลับเข้าร่วมองค์การอนามัยโลก และยกเลิกการสั่งห้ามประชาชนจากชาติมุสลิมบางประเทศเข้าสหรัฐฯ รวมถึงการตัดงบประมาณสร้างกำแพงบนพรมแดนติดกับเม็กซิโก เรียกว่า ตลัดปากกาแต่ละครั้ง ระบอบ “ทรัมป์ปิซึ่ม” ก็ค่อย ๆ ถูกทลายลงเรื่อย ๆ

สถานีข่าวซีเอ็นเอ็นวิเคราะห์ว่า ด้วยประสบการณ์อันมากล้นของไบเดน ที่ผ่านรัฐบาลมาแล้ว 9 ชุด เขามีศักยภาพมหาศาลที่จะเปลี่ยนทิศทางของประเทศนับจากนี้ได้อย่างไม่ยากเย็น และการลงนามคำสั่งพิเศษเหล่านี้ทันทีหลังขึ้นเป็นผู้นำประเทศอย่างเป็นทางการ ยังส่งสัญญาณถึงทั้งโลกว่า ยุคสมัยที่อเมริกาจะกลับมาเป็นพันธมิตรและผู้นำโลก เหมือนก่อนยุคทรัมป์ ได้กลับมาแล้ว


ที่สำคัญคือ ลายเซ็นเปลี่ยนทิศการเมืองของไบเดน ตอกย้ำให้ทรัมป์และผู้สนับสนุนของเขาได้รับรู้ว่า อำนาจที่มาจากการสร้างกระแสและการตัดสินใจแบบไม่ปรึกษาประชาชน สามารถล้มเลิกได้อย่างไม่ยากเย็น คำสั่งพิเศษของทรัมป์ ยกเลิกได้ด้วยคำสั่งพิเศษเช่นกัน

พฤติกรรมและชั้นเชิงของไบเดน ระหว่างพิธีการเมื่อวานนี้ ล้วนแสดงให้เห็นว่า “ไบเดนเก๋าเกม” มาก ไม่ว่าจะการแสดงความเคารพสมาชิกสภาคองเกรสจากพรรครีพับลิกัน ท่าทีเชิงปรองดอง ถ้อยคำปราศรัยแรกที่เน้นย้ำหลายครั้งถึงการเยียวยาประเทศชาติ สร้างความสามัคคี และรัฐบาลแห่งความจริง รวมไปถึงการร่วมกับอดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ 3 คน วางพวงมาลาและรำลึกถึงทหารผู้สละชีพเพื่อชาติที่สุสานแห่งชาติอาร์ลินตัน ภาพเหล่านี้คงทำให้ชาวอเมริกันและคนทั่วโลกจำนวนไม่น้อย ตระหนักแล้วว่า อเมริกากำลังจะเปลี่ยนไป



แม้แต่ท่าทีของสมาชิกพรรครีพับลิกัน ยังดูออมชอมมากขึ้น ตลอดวันพิธี เป็นสัญญาณว่า พวกเขาเองก็เคารพต่อจุดยืนทางการเมืองต่อต้าน “สงครามกลางเมือง” และ “ความวุ่นวาย” ของไบเดน สำหรับชาวอเมริกันที่สนับสนุนไบเดนแล้ว ต้องยอมรับว่า ไบเดนไม่ทำให้ผิดหวัง เพราะแสดงถึงความเป็นผู้นำที่ยึดมั่นในคุณค่าหลักของประชาธิปไตย และเคารพต่อสถาบันประธานาธิบดีอย่างลึกซึ้ง ความรู้สึกหากได้ชมพิธีการต่าง ๆ เมื่อวานนี้ คือ ความโอบอ้อมอารี ความมีอารยทางการเมือง และความสงบอย่างมีชั้นเชิง ได้กลับมาสู่การเมืองสหรัฐฯ แล้ว

การเมืองแห่งความโกลาหลได้ผ่านพ้น อเมริกากำลังจะกลับสู่ยุคแห่งการเมืองเชิงการทูต แต่รัฐบาลไบเดน ได้นำสิ่งใหม่มาสู่อเมริกาเช่นกัน เป็นสิ่งที่สหรัฐฯ ไม่เคยมีมาก่อน และอาจเป็นความสำเร็จเชิงสัญลักษณ์ที่คนกว่าครึ่งประเทศโหยหามานาน นั่นคือ กมลา แฮร์ริส รองประธานาธิบดีหญิงคนแรก ซึ่งยังเป็นคนผิวดำและคนเชื้อสายเอเชียใต้คนแรกที่ดำรงตำแหน่งรองประธานาธิบดีด้วย



แต่เส้นทาง 4 ปีต่อจากนี้ของรัฐบาลไบเดน แม้จะดูเหมือนโรยด้วยกลีบกุหลาบ แต่กลับแฝงด้วยขวากหนามที่ถูกลับจนแหลมคม อันเป็นมรดกของรัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์

ไบเดนเองยอมรับในถ้อยปราศรัยว่า ความเป็นจริงนั้นช่างโหดร้าย อเมริกาเปลี่ยนไปมากเหลือเกิน ทั้งปัญหาการแบ่งแยกเชื้อชาติที่รุนแรงขึ้น ความเหลื่อมล้ำที่นับวันยิ่งหนักหน่วง การเมืองระหว่างประเทศตอนนี้ สหรัฐฯ ก็มีคู่แข่งมากมายในเอเชียตะวันออกที่ผงาดขึ้นจากการถอยร่นทางบทบาทในช่วง 4 ปีของทรัมป์

ความเงียบเหงาอย่างเห็นได้ชัด ระหว่างการเดินขบวนพาเหรดบนถนน ‘เพนซิลเวเนียอเวนิว’ และภาพกองกำลังกว่า 2 หมื่น 5 พันนายที่คุมเข้มกรุงวอชิงตันดีซีเสมือนเป็นป้อมปราการ คือ หลักฐานถึงประเทศชาติที่เต็มไปด้วยความท้าทาย ที่ไบเดนแบกรับมาแก้ปัญหา



ไบเดน ตระหนักถึงนัยยะและปัญหาเหล่านี้ดี เขาจึงไม่รอช้า ที่จะปราศรัยเรียกร้องถึงชาวอเมริกันไม่ว่าจะฝักใฝ่ขั้วการเมืองไหนก็ตามว่า “ผมรู้ว่าพลังที่ทำเราให้แยกห่างมันบาดลึก…แต่เราทำให้สำเร็จได้หากเราเปิดจิตวิญญาณให้กว้างขึ้น แทนที่จะแช่แข็งหัวใจให้ด้านชา…หากเราแสดงถึงความอดกลั้นและอ่อนน้อม หากเราพร้อมจะเอาใจเขามาใส่ใจเรา เราก็จะผ่านพ้นวิกฤตการณ์นี้ไปได้”

แต่พันธกิจยิ่งใหญ่เหล่านี้ คงยังเป็นเรื่องรองจากวิกฤตแห่งปัจจุบัน อย่างการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งในวันที่ไบเดนสาบานตนรับตำแหน่ง ชาวอเมริกันกว่า 4 พันชีวิต ก็ต้องจากโลกนี้ไป มันเป็นความจริงที่โหดร้าย จนไบเดนเองยังกล่าวว่า “เราต้องอาศัยพลังทั้งหมดของเรา เพื่อผ่านพ้นฤดูหนาวอันโหดร้ายนี้ไปให้ได้”

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง