รีเซต

โควิด-19 : ประยุทธ์อ้าง “ทางเลือกสุดท้าย” กู้เศรษฐกิจสังคม ขอสภาอนุมัติ พ.ร.ก.กู้เงิน 3 ฉบับ วงเงิน 1.9 ล้านล้านบาท ขณะที่ฝ่ายค้านจับตา “แบ่งเค้ก-ตีเช็คเปล่า”

โควิด-19 : ประยุทธ์อ้าง “ทางเลือกสุดท้าย” กู้เศรษฐกิจสังคม ขอสภาอนุมัติ พ.ร.ก.กู้เงิน 3 ฉบับ วงเงิน 1.9 ล้านล้านบาท ขณะที่ฝ่ายค้านจับตา “แบ่งเค้ก-ตีเช็คเปล่า”
บีบีซี ไทย
27 พฤษภาคม 2563 ( 14:01 )
183
โควิด-19 : ประยุทธ์อ้าง “ทางเลือกสุดท้าย” กู้เศรษฐกิจสังคม ขอสภาอนุมัติ พ.ร.ก.กู้เงิน 3 ฉบับ วงเงิน 1.9 ล้านล้านบาท ขณะที่ฝ่ายค้านจับตา “แบ่งเค้ก-ตีเช็คเปล่า”

 

ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรเริ่มพิจารณาพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) กู้เงิน 3 ฉบับ วงเงินรวม 1.9 ล้านล้านบาท ที่รัฐบาลออกมาเพื่อรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19)

 

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ได้ใช้เวลา 50 นาทีในการนำเสนอหลักการของ พ.ร.ก.ทั้ง 3 ฉบับ โดยย้ำว่า "เป็นกรณีฉุกเฉินรีบด่วนอันไม่อาจหลีกเลี่ยงได้" และ "เป็นทางเลือกสุดท้าย" ของรัฐบาล

 

นายกรัฐมนตรีเริ่มต้นด้วยการร่ายปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งเป็นปัญหาระดับโลกแล้วลุกลามมากระทบต่อเศรษฐกิจไทยจนติดลบ 1.8% ซึ่งถือเป็นการชะลอตัวสูงสุดนับจากตั้งแต่ไตรมาสแรกของปี 2557 มีการประมาณการณ์ว่าการระบาดของโควิด-19 ทำให้รายได้ของประเทศไทยลดลง 9.28 แสนล้านบาท คนว่างงานสูงขึ้นนับล้านคน ล่าสุดในช่วงต้นเดือน พ.ค. สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) คาดการณ์ว่าจีดีพีจะติดลบ 5-6% แม้รัฐบาลพยายามทุกวิถีทางในการบริหารจัดการแหล่งเงินภายใต้กรอบกฎหมายที่มีอยู่ แต่แหล่งเงินไม่เพียงพอในการช่วยเหลือประชาชน

 

"ดังนั้นเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กลับมาโดยเร็ว รัฐบาลต้องเร่งแก้ปัญหาเพื่อหยุดยั้งการแพร่ระบาดของโควิด รวมถึงเยียวยาประชาชน ซึ่งประเมินว่าใช้เงิน 1 ล้านล้านบาท จากกรณีดังกล่าวจึงเป็นสถานการณ์ฉุกเฉินจำเป็นเร่งด่วน และเป็นทางเลือกสุดท้ายของรัฐบาล" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

 

พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 วงเงินไม่เกิน 1 ล้านล้านบาท คือกฎหมายฉบับแรกที่ พล.อ.ประยุทธ์ นำเสนอต่อสภา และถูก ส.ส. หยิบยกขึ้นมาอภิปรายอย่างกว้างขวางในระหว่างการประชุมสมัยสามัญนัดแรกวันนี้ (27 พ.ค.)

 

รบ. แก้เกมโปร่งใส สั่งคลังรายงานผลกู้เงินต่อสภาหลังจบปีงบประมาณ

สิ่งที่สังคมรับรู้คือเงินก้อนนี้ถูกแบ่งออกเป็น 3 ส่วน เพื่อทำโครงการ/แผนงานต่าง ๆ ที่มีวัตถุประสงค์ ดังนี้

  • การแพทย์และสาธารณสุข ลดการระบาดของโควิด-19 วงเงิน 4.5 หมื่นล้านบาท
  • ช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากไวรัสมรณะ วงเงิน 5.55 แสนล้านบาท
  • ฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม วงเงิน 4 แสนล้านบาท

 

เงินก้อนหลังที่ปราศจากรายละเอียดนี่เองที่ทำให้ฝ่ายค้านระบุว่าเป็นการ "ตีเช็คเปล่า" หรือไม่ อย่างไรก็ตามผู้นำรัฐบาลยืนยันว่าการใช้จ่ายเงินกู้จะเป็นไปตามกรอบวินัยการเงินการคลัง ไม่กระทบต่อหนี้สาธารณะตามกรอบการเงินที่ 60% เพราะมีการประเมินว่าการกู้เงินครั้งนี้จะทำให้หนี้สาธารณะของประเทศอยู่ที่ 57.96% และ "การชำระหนี้เงินกู้ยังอยู่ในระดับที่รัฐบาลสามารถบริหารจัดการได้" ทั้งนี้ได้มอบหมายให้กระทรวงการคลังจัดทำรายงานผลการกู้เงินภายใต้ พ.ร.ก. เสนอต่อรัฐสภาเพื่อทราบภายใน 60 ปีนับแต่สิ้นปีงบประมาณ

 

"กระผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าสภาจะได้กรุณาพิจารณาอนุมัติ พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินฯ เพื่อประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศต่อไป" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

 

ผู้นำฝ่ายค้าน "ห่วงที่สุด" เงินกู้ 4 แสนล้าน แบ่งเค้ก-ตีเช็เปล่า

ด้านนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภา ได้อภิปรายโจมตีความผิดพลาดในการบริหารจัดการภายใต้ภาวะวิกฤติของรัฐบาลในหลายครั้ง อาทิ การขาดประสิทธิภาพในการจัดหาหน้ากากอนามัยและการขาดแคลนชุดป้องกันการติดเชื้อ (PPE) สำหรับบุคลากรทางการแพทย์, ความสับสนในมาตรการกักตัวผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ, การสั่งปิดกิจการในพื้นที่ กทม. ก่อนประกาศมาตรการเยียวยาให้ชัดเจน ความล่าช้าและการเยียวยาที่ไม่ทั่วถึงและรวดเร็ว, ความล่าช้าในการยกเลิกการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 และความล่าช้าในการคลายล็อกให้กับระบบเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งหมดนี้ส่งผลให้ไทยจัดอยู่ในประเทศที่ได้รับความชื่นชมการควบคุมด้านระบาดวิทยา แต่ล้มเหลวในการเยียวยาและกอบกู้วิกฤติทางเศรษฐกิจ

 

"วันนี้ตัวเลขของผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 กับตัวเลขของผู้ที่ฆ่าตัวตายเนื่องจากภาวะกดดันทางเศรษกิจ เกือบจะไม่แตกต่างกัน" นายสมพงษ์กล่าว

ผู้นำฝ่ายค้านในสภายังเรียกร้องให้รัฐบาลระลึกว่าคนที่ต้องร่วมชดใช้เงินกู้มหาศาลนี้คือประชาชนทั้งประเทศ การใช้จ่ายจึงต้องเป็นไปด้วยความรับผิดชอบและเป็นประโยชน์ต่อประชาชนโดยแท้จริง "ไม่ใช่การแบ่งเค้กชิงผลประโยชน์ ใช้เพื่อสร้างฐานคะแนนเสียง เอื้อประโยชน์ต่อพวกพ้องผ่านโครงการต่าง ๆ ภายใต้เงินกู้ก้อนนี้"

 

เงินกู้ 4 แสนล้านบาทคืองบที่ผู้นำฝ่ายค้านระบุว่า "เป็นห่วงที่สุด" เพราะจะเป็นส่วนที่จะมีปัญหามากที่สุด โดยมีข้อสังเกตว่าแบ่งตามกระทรวงต่าง ๆ ไว้แล้วทั้งที่ยังไม่ได้เข้าสภา" และ "เปิดช่องการใช้เป็นเงินเพื่อประโยชน์ทางการเมือง แจกจ่ายให้กับ ส.ส. เสมือนเป็นการตีเช็คเปล่า หรือนำไปทำโครงการแบบเดิม ๆ เพื่อประโยชน์ของพวกพ้อง และการตอบแทนทางการเมือง"

 

รัฐบาลได้ตรา พ.ร.ก. 4 ฉบับเพื่อรับมือกับโควิด-19 ทั้งหมดถูกประกาศลงราชกิจจานุเบกษาตั้งแต่วันที่ 19 เม.ย. โดยที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 172 กำหนดให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ต้องเสนอต่อรัฐสภาเพื่อ "ขออนุมัติโดยไม่ชักช้า"

 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง