รีเซต

ธุรกิจโรงแรมร้องรัฐเยียวยาจ้างแรงงาน-ลดค่าไฟ-เร่งฉีดวัคซีน พ้อพูดซ้ำๆ เหมือนแผ่นเสียงตกร่อง

ธุรกิจโรงแรมร้องรัฐเยียวยาจ้างแรงงาน-ลดค่าไฟ-เร่งฉีดวัคซีน พ้อพูดซ้ำๆ เหมือนแผ่นเสียงตกร่อง
มติชน
13 กรกฎาคม 2564 ( 05:11 )
49
ธุรกิจโรงแรมร้องรัฐเยียวยาจ้างแรงงาน-ลดค่าไฟ-เร่งฉีดวัคซีน พ้อพูดซ้ำๆ เหมือนแผ่นเสียงตกร่อง

 

นางมาริสา สุโกศล หนุนภักดี นายกสมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ) เปิดเผยว่า หลังจากรัฐบาลออกมาตรการควบคุมการระบาดโควิดเข้มข้นสูงสุดใน 10 จังหวัดเสี่ยงสูง ทำให้การเดินทางท่องเที่ยวต้องหยุดลงอีกครั้ง ส่งผลกระทบโดยตรงกับภาคบริการ โดยเฉพาะธุรกิจโรงแรม ที่มีรายได้หลักจากการให้บริการนักท่องเที่ยวไทยและต่างชาติ จึงต้องการให้รัฐบาลช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน 3 ข้อหลัก ได้แก่ 1.การชดเชยค่าจ้างแรงงานให้กับพนักงาน เพื่อรักษาการจ้างงานไว้ 2.ลดต้นทุนคงที่ โดยเฉพาะค่าไฟฟ้า 15% รวมถึงผ่อนชำระค่าไฟได้ จนถึงสิ้นปี 2564 และ 3.เร่งฉีดวัคซีนให้กับบุคลากรในภาคการท่องเที่ยว เน้นไปที่จังหวัดเสี่ยงสูง และจังหวัดท่องเที่ยวก่อน รวมถึงประชาชนในจังหวัดเหล่านั้นด้วย เพื่อให้ธุรกิจสามารถกลับมาเปิดได้ ซึ่งส่งผลให้เกิดการจ้างงานเพิ่ม และความสามารถในการใช้จ่ายของแรงงานเหล่านั้นจะตามมา โดยหากสามารถฉีดวัคซีนจนเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ขึ้นได้ จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนในประเทศ และนักท่องเที่ยวต่างชาติมากขึ้น ซึ่งข้อเสนอเหล่านี้ก็เป็นข้อเรียกร้องให้ช่วยรูปแบบเดิม เพราะพูดเรื่องเดิมมากว่าปีครึ่งแล้ว แต่ยังไม่ได้รับการตอบรับ และทุกครั้งที่โควิดเกิดวิกฤตขึ้นอีก หรือรัฐบาลมีมาตรการควบคุมเข้มข้นขึ้นอีก ก็จะขอเสนอเรื่องให้ช่วย ซึ่งก็เป็นเรื่องเดิมที่พูดซ้ำๆ เหมือนแผ่นเสียงตกร่อง

 

 

 

“ขณะนี้โรงแรมไม่มีลูกค้าเข้ามาใช้บริการ ทำให้รายได้หายไป และเมื่อมีมาตรการควบคุมเข้มข้นขึ้น การฟื้นตัวของการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศก็ถูกยืดเวลาออกไป ขณะที่นักท่องเที่ยวต่างชาติก็ยังไม่สามารถเข้ามาได้แบบปกติ แต่โรงแรมยังต้องรักษาการจ้างพนักงานไว้ เพราะถือเป็นแรงงานที่ต้องใช้ทักษะ และกว่าจะฝึกฝนคนใหม่ได้มีทักษะเท่าแรงงานในปัจจุบันต้องใช้เวลา แม้ต้องการรักษาพนักงานไว้ แต่จากปัญหาที่เกิดขึ้นทำให้ธุรกิจโรงแรมขาดสภาพคล่องมานาน จึงไม่สามารถจ้างพนักงานไว้ได้ จึงอยากให้รัฐบาลเร่งช่วยในส่วนนี้ เพราะหากพนักงานถูกเลิกจ้าง ก็ส่งผลกระทบกับครอบครัวของพนักงาน เป็นห่วงโซ่ต่อไปด้วย ส่วนภาพรวมธุรกิจโรงแรมในประเทศไทย ขณะนี้น่าจะเปิดตัวอยู่ประมาณ 50% และอีก 50% ปิดตัวไปแล้ว โดยเฉพาะโรงแรมในจังหวัดท่องเที่ยวหลักๆ ที่คาดว่ามีปิดตัวลงมากกว่า 50% เนื่องจากการท่องเที่ยวยังไม่สามารถฟื้นตัวได้ ส่วนจะปิดตัวชั่วคราวหรือถาวร ค่อนข้างแยกได้ลำบาก แต่ประเมินว่าโรงแรมที่ปิดถาวรมากที่สุด น่าจะอยู่ภาคใต้ เป็นโรงแรมขนาดกลางลงไป เพราะพึ่งพานักท่องเที่ยวต่างชาติสูงที่สุด โดยมองว่าหลังจากรัฐบาลมีประกาศควบคุมการระบาดเข้มข้นขึ้น คาดว่าจะมีโรงแรมปิดตัวลงมากขึ้นอีก” นางมาริสา กล่าว

 

 

 

นางมาริสา กล่าวว่า ธุรกิจโรงแรมขนาดกลาง ตอนนี้ต้องยอมรับว่าสายป่านหรือเงินทุนกำลังจะขาดแล้ว เพราะธุรกิจโรงแรมมีลักษณะเฉพาะที่ต้องพึ่งพานักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่งการฟื้นฟูจะต้องใช้เวลากว่า 2 ปี หรือนับตั้งแต่ปี 2565-2566 ถึงจะทยอยฟื้นตัวกลับมา จึงอยากให้รัฐบาลประกาศความช่วยเหลือออกมาโดยเฉพาะคือ ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2565 อยากให้พักชำระเงินต้นและหยุดดอกเบี้ย หรือหากทำได้ยิ่งเร็วเท่าใดก็ยิ่งดี เพื่อไม่ให้เห็นธุรกิจปิดตัวลงอีก รวมถึงการหาแหล่งเงินทุนให้กู้ในระยะยาว โดยมีดอกเบี้ยในระดับต่ำไว้รองรับด้วย เพราะเมื่อธุรกิจจะกลับมาเปิดใหม่อีกครั้ง ก็ต้องใช้เงินทุนในการปรับปรุงธุรกิจเพิ่มขึ้น โดยต้องยอมรับว่า ขณะนี้โรงแรมไปกันไม่ไหวจำนวนมากแล้ว โครงการโกดังพักหนี้ ที่มีอยู่ ผู้ประกอบการโรงแรมยังเข้าร่วมได้น้อย เนื่องจากบางสถาบันการเงินหรือธนาคารพาณิชย์ มีการตั้งเงื่อนไขที่แตกต่างกัน อาทิ เริ่มต้นที่ลูกหนี้ชั้นดีเท่านั้น ประเมินจากมูลค่าหนี้ในระดับต่ำก่อน ทำให้นโยบายที่ไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ก็ยากในการเข้าถึง ส่วนธุรกิจขนาดเล็กและกลาง (เอสเอ็มอี) เสนอให้หาแหล่งเงินทุนให้แบบตั้งเงื่อนไขการกู้ผ่านการค้ำประกันไขว้ระหว่างธุรกิจกันเอง ซึ่งเบื้องต้นมูลค่าของเงินกู้ที่ต้องการไม่มากนัก

 

 

 

“การกลับมาเดินทางจะเริ่มต้นได้อีกครั้งเมื่อใดนั้น ตอนนี้วัคซีนคือคำตอบเพียงอย่างเดียวเท่านั้น เพราะวัคซีนจะควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด และความรุนแรงของอาการได้ ทำให้หากวัคซีนยังล่าช้าและฉีดได้น้อย การกลับมาเริ่มต้นใหม่ของธุรกิจท่องเที่ยว ก็จะยืดเวลาออกไปอีก แต่ยังคาดหวังว่าจะสามารถเริ่มต้นได้ในไตรมาส 4/2564 เพราะเป็นช่วงไฮซีซั่นในการท่องเที่ยวจริงๆ หากไม่ทันต้องรอไปปี 2565 เลย” นางมาริสา กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง