เมียนมา ขู่เอาจริง เตือนสื่อต่างชาติ ห้ามเรียก"รัฐบาลเผด็จการทหาร-สภาทหาร"
วันที่ 30 มิถุนายน Nikkei Asia รายงานว่า กระทรวงสารสนเทศของเมียนมา ได้ออกมาเตือนสื่อต่างชาติที่มักเรียกองค์กรที่ปกครองประเทศวันที่ 1 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาของเมียนมาว่าเป็น “รัฐบาลเผด็จการทหาร” “รัฐบาลทหาร” หรือ “สภาทหาร” ทั้งนี้ หน่วยงานที่นำโดยกองทัพ ซึ่งควบคุมกระทรวงต่างๆ ของรัฐบาล เรียกว่าสภาบริหารรัฐ (SAC) มีพลเอกอาวุโส มิน ออง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดเป็นประธาน
ในประกาศที่ถูกเผยแพร่ในหนังสือพิมพ์ของรัฐบาลทหาร ชื่อว่า Global New Light of Myanmar กระทรวงได้เน้นย้ำ สภาบริหารแห่งรัฐเมียนมา หรือ SAC มีหน้าที่ควบคุมดูแลหน้าที่ต่างๆของรัฐให้เป็นไปตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ภายใต้รัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ SAC ไม่ใช่ รัฐบาลรัฐประหาร
กระทรวงระบุว่าอีกว่ามี “ผู้สื่อข่าวต่างประเทศบางคน” ที่อยู่ในเมียนมา เผยแพร่ข้อมูลเกินจริงโดยอ้างแหล่งข่าวที่ไม่มีตัวตนชัดเจน และมีการเผยแพร่ข่าวเท็จที่เกี่ยวข้องกับเมียนมา” จึงขอเตือนว่า “จะดำเนินการ”กับสำนักข่าวต่างประเทศ หากยังพบการใช้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง อ้างคำพูด และข่าวปลอมที่เกินจริง และเผยแพร่ข้อมูลอันเป็นเท็จ
มีรายงานว่าความพยายามดังกล่าวของรัฐบาลทหารพม่าเกิดขึ้นเพราะพยายามปรับภาพลักษณ์ในระดับโลก ผ่านการลดจำนวนการรายงานของสื่อต่างประเทศที่รายงานให้เห็นภาพลักษณ์ที่ไม่ดีและลดทอนความชอบธรรมของระบอบที่ปกครองเมียนมาในปัจจุบัน โดยในครั้งนี้พุ่งเป้าไปที่สื่อต่างประเทศ
ก่อนหน้านี้ ราวกลางเดือนกุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ไม่นานหลังจากยึดอำนาจ รัฐบาลรัฐประหารเมียนมา ได้เคยออกมาห้ามสื่อมวลเรียกคณะยึดอำนาจว่า ‘รัฐบาลรัฐประหาร’ อ้างว่าเป็นการขัดจรรยาบรรณ
ในครั้งนั้น เว็บไซต์ฟรอนเทียร์เมียนมา เผยแพร่แถลงการณ์ของกระทรวงการสื่อสารแห่งเมียนมา ส่งถึงสมาคมสื่อเมียนมา ที่ระบุเตือนองค์กรสื่อ ห้ามไม่ให้เรียกรัฐบาลของพลเอกอาวุโส มิน อ่อง ลาย ที่เพิ่งก่อรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาลพลเรือน เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ว่า “รัฐบาลรัฐประหาร”
แถลงการณ์ดังกล่าวที่ลงวันที่ 11 กุมภาพันธ์ เรื่อง “จรรยาบรรณการรายงานข่าวของสื่อ” โดยประเด็นสำคัญระบุว่า การเรียกรัฐบาลทหารเมียนมาว่า “รัฐบาลรัฐประหาร” นั้นเป็นการผิดจรรยาบรรณสื่อ
นอกจากนี้เนื้อหาในแถลงการณ์ยังระบุด้วยว่า สื่อใดที่ไม่ปฏิบัติตามจะต้องถูกดำเนินคดีอาญา และจะต้องถูกถอนใบอนุญาตสื่อด้วย
แถลงการณ์อ้างกฎหมายสื่อในมาตราที่ 9 ที่ระบุถึงจรรยาบรรณสื่อเอาไว้ว่า ผู้ทำงานสื่อจะต้องปฏิบัติตามมิเช่นนั้นจะต้องเผชิญกับโทษทางอาญา
นอกจานี้ยังอ้างถึง มาตรา 8 ของ กฎหมายการพิมพ์และสื่อสิ่งพิมพ์ซึ่งระบุถึงสิ่งที่ “ห้ามพิมพ์” ซึ่งประกอบไปด้วย เรื่องที่จะส่งผลกระทบกับความมั่นคงของประเทศ หลักนิติธรรม ความเป็นระเบียบเรียบร้อยของสังคม และสิทธิของประชาชนทุกคน
ทั้งนี้รายงานระบุว่า แถลงการณ์ดังกล่าวสะท้อนความพยายามของรัฐบาลรัฐประหารเมียนมา ในการอ้างการทำรัฐประหารนั้นเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ และเป็นรัฐบาลที่แตกต่างจาก รัฐบาลทหารที่ยึดอำนาจในค.ศ.1962 และ 1988