รีเซต

โควิด-19 : กนง.ปรับลดดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25%

โควิด-19 : กนง.ปรับลดดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25%
บีบีซี ไทย
20 พฤษภาคม 2563 ( 14:42 )
184

 

คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติ 4 ต่อ 3 เสียง ให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 จากร้อยละ 0.75 เป็นร้อยละ 0.50 ต่อปี โดยให้มีผลทันที เพื่อช่วยลดผลกระทบจากปัจจัยลบที่เกิดขึ้นจากการระบาดของโควิด-19 และสอดรับกับมาตรการการคลัง ด้านการเงินและสินเชื่อของรัฐบาลที่ออกไปก่อนหน้านี้

 

การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในครั้งนี้ นับเป็นครั้งที่ 3 ตั้งแต่ต้นปี โดยครั้งแรก กนง.มีมติเป็นเอกฉันท์เมื่อวันที่ 5 ก.พ. ต่อมาวันที่ 20 มี.ค. มีมติลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีกร้อยละ 0.25 โดยให้เหตุผลว่าเป็นการปรับลดตามภาวะเศรษฐกิจที่มีความเสี่ยงมากขึ้นและเพื่อลดภาระดอกเบี้ยของลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 และบรรเทาปัญหาสภาพคล่องในตลาดการเงิน และลดผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อเศรษฐกิจโดยรวม ซึ่งจะช่วยสนับสนุนมาตรการการคลังของรัฐบาลที่ได้ออกมาแล้วและจะออกมาเพิ่มเติม

 

 

นายทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส เลขานุการ แถลงข่าวภายหลังการประชุมว่า ในการประชุมวันนี้ กนง. มีมติ 4 ต่อ 3 เสียง ให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 จากร้อยละ 0.75 เป็นร้อยละ 0.50 ต่อปี โดยให้มีผลทันที ขณะที่ 3 เสียง เห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 0.75 ต่อปี

 

การปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ กนง. ปี 2563

ประชุมครั้งที่/วันที่

มติ

1 / 5 ก.พ.

ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 ต่อปี จากร้อยละ 1.25 เป็นร้อยละ 1.00 มีผลทันที

นัดพิเศษ / 20 มี.ค.

ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 ต่อปี จากร้อยละ 1.00 เป็นร้อยละ 0.75 ต่อปี มีผล 23 มี.ค.

2 / 25 มี.ค.

คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 0.75 ต่อปี

ที่มา : ธนาคารแห่งประเทศไทย

 

นายทิตนันทิ์กล่าวว่า ในการตัดสินนโยบาย คณะกรรมการฯ ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2563 มีแนวโน้มหดตัวกว่าประมาณการเดิมตามแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่หดตัวรุนแรงกว่าที่คาดและผลกระทบจากมาตรการควบคุมการระบาดทั่วโลก อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มติดลบกว่าที่ประเมินไว้ เสถียรภาพระบบการเงินเปราะบางมากขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจ กรรมการส่วนใหญ่เห็นว่านโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้นจะช่วยลดผลกระทบจากปัจจัยลบที่เกิดขึ้น รวมทั้งสอดประสานกับมาตรการการคลังของรัฐบาลและมาตรการด้านการเงินและสินเชื่อที่ได้ออกไปก่อนหน้านี้

 

กนง.พูดถึงสถานการณ์เศรษฐกิจไทยว่าอย่างไร

  • เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มหดตัวกว่าที่ประเมินไว้
  • การท่องเที่ยวและการส่งออกสินค้าได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจประเทศคู่ค้ามากกว่าคาด
  • อุปสงค์ในประเทศทั้งการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนหดตัวกว่าที่ประเมินไว้จากการว่างงานที่เพิ่มสูงขึ้นและมาตรการควบคุมการระบาด
  • อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยทั้งปี 2563 มีแนวโน้มติดลบมากกว่าที่คาดตามราคาพลังงานที่ลดลงเป็นสำคัญ
  • มาตรการการเงินการคลังจะมีส่วนช่วยบรรเทาปัญหาสภาพคล่องของครัวเรือนและธุรกิจ รวมทั้งสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยทยอยฟื้นตัวได้
  • มาตรการด้านการคลังที่ตรงจุดและทันการณ์ยังมีความจำเป็นต่อการสนับสนุนการจ้างงานและธุรกิจ SMEs เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและรักษาศักยภาพการเจริญเติบโตในระยะต่อไป

 

เกิดอะไรขึ้นเมื่อปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย

ธปท. หรือแบงก์ชาติ อธิบายว่า หาก กนง. ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาก็คือ

  • อัตราดอกเบี้ยในตลาดเงินและของธนาคารพาณิชย์จะปรับลดลงตาม ทั้งในส่วนของดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้
  • อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ลดลงทำให้ผู้ประกอบการมีแรงจูงใจที่จะกู้ยืมเพื่อลงทุนมากขึ้น
  • อัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่ต่ำลงจะลดแรงจูงใจของประชาชนที่จะนำเงินมาฝากออมไว้กับธนาคาร และอาจนำเงินเหล่านั้นไปจับจ่ายใช้สอยแทน

 

ธปท. สรุปว่า "อัตราดอกเบี้ยที่ต่ำลงจึงช่วยกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ ตรงกันข้าม หากอัตราดอกเบี้ยนโยบายปรับสูงขึ้น กิจกรรมทางเศรษฐกิจก็จะมีแนวโน้มชะลอลง"

 

กนง. คือ ใคร

ธปท. มีหน้าที่รักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศโดยใช้นโยบายการเงิน ซึ่งมีเครื่องมือที่สำคัญ คือ การกำหนดอัตราดอกเบี้ยนโยบายผ่าน คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ซึ่งประกอบด้วยผู้บริหารระดับสูงของ ธปท. 3 คน และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอก 4 คน ประชุมกันปีละ 8 ครั้ง เพื่อลงมติตัดสินระดับของอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่เหมาะสมกับภาวะและแนวโน้มของเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง