รีเซต

ไขข้อสงสัย กินยาแก้แพ้บ่อยๆ ส่งผลกระทบทำให้ร่างกายแย่จริงหรือ?

ไขข้อสงสัย กินยาแก้แพ้บ่อยๆ ส่งผลกระทบทำให้ร่างกายแย่จริงหรือ?
TNN ช่อง16
10 มิถุนายน 2565 ( 14:27 )
437
ไขข้อสงสัย กินยาแก้แพ้บ่อยๆ ส่งผลกระทบทำให้ร่างกายแย่จริงหรือ?

วันนี้ (10 มิ.ย.65) ตามที่มีข้อมูลในสังคมออนไลน์เกี่ยวกับประเด็นเรื่องรับประทานยาแก้แพ้บ่อย ๆ ร่างกายจะแย่ ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข พบว่าประเด็นดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลบิดเบือน

กรณีที่มีคำแนะนำด้านสุขภาพว่า รับประทานยาแก้แพ้บ่อย ๆ ร่างกายจะแย่ 

ทางกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้ตรวจสอบข้อมูลและชี้แจงว่า ยาแก้แพ้ (Antihistamine) แบ่งเป็น 2 ชนิดใหญ่ ๆ คือ

ชนิดที่กินแล้วง่วง และชนิดที่กินแล้วไม่ทำให้ง่วง โดยผู้ป่วยสามารถกินยาแก้แพ้เพื่อบรรเทาอาการภูมิแพ้ ซึ่งได้แก่ คัน จาม น้ำมูกไหล คัดจมูก ได้ สำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรคภูมิแพ้ แพทย์จะแนะนำให้ใช้ยาแก้แพ้ชนิดที่ไม่ทำให้ง่วง ซึ่งสามารถกินได้เป็นระยะเวลานานโดยผลข้างเคียงน้อย แต่ต้องใช้อย่างระวังและควรปรึกษาแพทย์ในผู้ป่วยที่มีการทำงานของตับและไตผิดปกติ 

อย่างไรก็ตาม หากกินยาแล้วไม่ได้ผล อาการภูมิแพ้ไม่ดีขึ้น ควรปรึกษาแพทย์เพื่อปรับยาหรือเปลี่ยนยาเป็นประเภทอื่น เช่น ยาเสตียรอยด์พ่นจมูก ซึ่งออกฤทธิ์ต้านการอักเสบได้นานกว่า และครอบคลุมอาการมากกว่าเป็นต้น หรืออาจจะมีโรคอื่นที่ไม่ใช่ภูมิแพ้ร่วมด้วย จึงควรตรวจวินิจฉัยโดยแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญ 

นอกจากนี้ กลุ่มยาอีกชนิดที่ใช้ในผู้ป่วยภูมิแพ้คือ ยาลดอาการคัดจมูกกลุ่ม pseudoehridine (สูโดอิฟริดีน) ซึ่งมีผลข้างเคียงมากกว่า เช่น หัวใจเต้นเร็ว นอนไม่หลับ จึงควรใช้ยาเฉพาะที่จำเป็นและใช้อย่างระมัดระวัง

ดังนั้นข้อมูลที่มีการโพสต์ และแชร์ต่อในขณะนี้ จึงเป็นข้อมูลบิดเบือน ขอความร่วมมือประชาชน ไม่แชร์ ไม่ส่งต่อข่าวดังกล่าว เพื่อป้องกันผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น และเพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารจากกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข สามารถติดตามข้อมูลได้ที่เว็บไซต์ www.dms.go.th หรือโทร 02 5906000

บทสรุปของเรื่องนี้คือ : ยาแก้แพ้ชนิดที่ไม่ง่วง สามารถกินได้เป็นระยะเวลานาน มีผลข้างเคียงน้อย แต่ในผู้ป่วยที่มีการทำงานของตับและไตผิดปกติต้องปรึกษาแพทย์ ส่วนยาลดอาการคัดจมูกกลุ่ม pseudoehridine มีผลข้างเคียงมากกว่า เช่น หัวใจเต้นเร็ว นอนไม่หลับ จึงควรใช้ยาเฉพาะที่จำเป็น


ข้อมูลจาก ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม

ภาพจาก AFP (ภาพประกอบข่าว)

ข่าวที่เกี่ยวข้อง