กรมอุทยานแห่งชาติฯ เร่งดึงแนวร่วมแก้วิกฤต "ช้างป่ากุยบุรี" ตายผิดธรรมชาติ
กรมอุทยานแห่งชาติฯ เร่งดึงแนวร่วมแก้วิกฤต “ช้างป่ากุยบุรี” ตายผิดธรรมชาติ
เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน นายธรรมนูญ เต็มไชย หัวหน้าศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรมอุทยานแห่งชาติ จ.เพชรบุรี ส่วนวิจัยและพัฒนานวัตกรรมอุทยานแห่งชาติ สํานักอุทยานแห่งชาติ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธ์พืช เปิดเผยว่า กรณีพบช้างป่าในพื้นที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรีตายผิดธรรมชาติต่อเนื่อง 4 ตัว ตั้งแต่วันที่ 29 พฤษภาคม ถึงวันที่ 28 มิถุนายน ในฐานะที่รับผิดชอบในพื้นที่ป่ากุยบุรีซึ่งมีช้างมากกว่า 300 ตัว ยอมรับว่า เป็นเรื่องที่น่ากังวลเป็นอย่างมาก และหลายหน่วยงานต้องเร่งรัดหาแนวทางการแก้ไขปัญหา เพื่อไม่ให้ปัญหานี้นำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างคนกับช้างป่าเหมือนในอดีต
“เดิมการแก้ปัญหาพื้นที่ป่ากุยบุรีได้วางแผนไว้ 3 ระยะ โดยมีการดำเนินการในระยะแรก เมื่อปี 2558 และประสบความสำเร็จพอสมควรทำให้กุยบุรีเป็นพื้นที่นำร่อง ทั้งเครือข่ายคณะทำงาน การมีส่วนร่วมของประชาชน รวมทั้งการจัดการภายในของอุทยานฯ จากนั้นยอมรับว่ามีอุปสรรคในการทำงานระยะที่ 2 และ ระยะที่ 3 เนื่องจากไม่ได้หลายหน่วยงานดำเนินการอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะปัญหาจากการทำงานด้านมวลชน ซึ่งควรจะเข้ามามีส่วนร่วมรับผิดชอบในการเสนอแนวทางและร่วมแก้ไขปัญหา” นายธรรมนูญ กล่าว
หัวหน้าศูนย์วิจัยและพัฒนาฯ กล่าวอีกว่า ขณะที่การทำงานระยะที่ 2 ทุกฝ่ายต้องหาทางนำช้างป่ากลับเข้าไปหากินในป่าธรรมชาติโดยสร้างแหล่งน้ำแหล่งอาหารให้เพียงพอ แต่มีข้อโต้แย้งว่าควรให้ช้างป่าหากินตามปกติเพื่อประโยชน์ด้านท่องเที่ยว
“สำหรับการติดตั้งกล้องดักถ่ายภาพระบบเรียลไทม์ ขณะที่ช้างป่าออกมาหากินได้ผลเป็นที่น่าพอใจ ถือว่าเป็นการจัดการปัญหาเฉพาะหน้า แต่ยังมีอุปสรรคเนื่องจากข้างป่าเรียนรู้ได้เร็ว และ ล่าสุดจะลงพื้นที่เพื่อประเมินสถานการณ์และฟื้นฟูงานเครือข่ายภาคประชาชนให้กลับมาเข้มแข็ง ขณะที่แนวทางการเสนอให้รั้วกันช้างประเมินว่าน่าจะสร้างปัญหาใหม่เพิ่มเติม ขณะที่การขุดคูกันช้างป่าในบางจุดได้สร้างความขัดแย้งในพื้นที่ หลังจากพบว่าช้างป่าเปลี่ยนเส้นทางการหากินไปบุกรุกพื้นที่ใหม่” นายธรรมนูญ กล่าว