รีเซต

"จุรินทร์"ตั้งวอร์รูม7กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค-บริการ รองรับกระจายสินค้าให้ทั่วถึง

"จุรินทร์"ตั้งวอร์รูม7กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค-บริการ รองรับกระจายสินค้าให้ทั่วถึง
มติชน
25 มีนาคม 2563 ( 14:41 )
63

ที่กระทรวงพาณิชย์ เวลาประมาณ 10.30 น. นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนด้านการพาณิชย์ (กรอ.พาณิชย์) ประกอบด้วยผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงพาณิชย์ และผู้แทนจากภาคเอกชนประกอบด้วยสภาหอการค้าไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย สภาผู้ส่งออกสินค้าทางเรือ และสมาคมอื่นๆ เช่นสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย สมาคมผู้ให้บริการโลจิสติกส์ไทย สมาคมผู้ผลิตและแปรรูปสุกรเพื่อการส่งออก บริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหารจำกัด (มหาชน) สมาพันธ์โลจิสติกส์ไทย สมาคมขนส่งโลจิสติกส์ไทย สมาคมผู้ประกอบการข้าวถุงไทย สมาคมผู้ค้าและส่งออกผลไม้

นายจุรินทร์ กล่าวภายหลังประชุมว่า ได้หารือถึงสถานการณ์สินค้าอุปโภคบริโภคต่างๆในสถานการณ์ที่เรากำลังเผชิญกับโควิด-19 โดยจะประเมินสถานการณ์ร่วมกัน และภาคเอกชนจะเสนอให้กระทรวงพาณิชย์ในฐานะภาครัฐเข้าช่วยเหลือแก้ปัญหาอุปสรรคต่างๆหรือสนับสนุนอย่างไร เพื่อทำให้ประชาชนทั่วประเทศได้รับสินค้าที่มีคุณภาพและเข้าถึงบริการ โดยที่ประชุมเห็นพ้องให้จัดตั้งวอร์รูม 7 กลุ่มสินค้าและบริการสำคัญ เพื่อให้ทางกระทรวงพาณิชย์และเอกชนที่เกี่ยวข้องได้ทำงานเพื่อหาข้อสรุปร่วมกันในการประเมินสถานการณ์ร่วมกันว่าในภาคส่วนของ การผลิต การแปรรูปตลาด รวมทั้งการกระจายสินค้าและบริการในรูปแบบใหม่ เช่น ดิลิเวอรี่ หรือออนไลน์ที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งเพื่อสนองต่อความต้องการของประชาชนในประเทศขณะนี้ รวมทั้งสถานการณ์ส่งออกและประเมินว่ามีสินค้าใดที่มีความจำเป็นที่จะต้องมีการกันชนเพื่อที่จะรองรับสถานการณ์หากความต้องการมีเพิ่มมากขึ้น

ทั้งนี้ 7 กลุ่ม ประกอบด้วย 1.อาหารสำเร็จรูปพร้อมทาน(บะหมี่สำเร็จรูป น้ำดื่ม น้ำผลไม้ เครื่องดื่มเป็นต้น)
2.ข้าว 3.กลุ่มปศุสัตว์ (ไก่ ไข่ หมู กุ้งและสินค้าอื่น เป็นต้น) 4.ผลไม้ 5.วัตถุดิบที่ใช้ทำอาหารสัตว์ (มันสำปะหลัง ข้าวโพด ถั่วเหลือง เป็นต้น ) 6.เวชภัณฑ์ รวมถึง เจลแอลกอฮอล์และหน้ากากอนามัย และ7.บริการที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งและโลจิสติกส์ และการให้บริการดิลิเวอรี่ส่งอาหารถึงบ้าน เป็นต้น

นายจุรินทร์ กล่าวว่า ปัญหาเท่าที่เห็นร่วมกันของทุกกลุ่มคือเรื่องการขนส่ง ทั้งการขนส่งเข้าสู่โรงงาน หรือขนส่งจากโรงงานไปถึงศูนย์กระจายสินค้า จนกระทั่งถึงมือผู้บริโภค ถือเป็นปัญหารวมที่ต้องการให้การลำเลียงสินค้าต่างๆเป็นไปด้วยความสะดวก ซึ่งต้องขอให้ทางกระทรวงคมนาคมช่วยผ่อนคลายกฎระเบียบบางอย่าง เพื่อให้สามารถทำได้สะดวกและคล่องตัวขึ้น ทั้งเรื่องของกฎระเบียบเงื่อนเวลาขนส่งสินค้าอุปโภคบริโภคจากศูนย์กระจายสินค้าหรือยังมือผู้บริโภคให้ได้รวดเร็วมากขึ้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง