รีเซต

คลัง ผนึก 5 หน่วยงาน จัดทำโครงการ ดิจิทัล ซัพพลาย เชน ไฟแนนซ์

คลัง ผนึก 5 หน่วยงาน จัดทำโครงการ ดิจิทัล ซัพพลาย เชน ไฟแนนซ์
มติชน
15 ธันวาคม 2564 ( 14:29 )
53

คลัง ผนึก 5 หน่วยงาน จัดทำโครงการ ดิจิทัล ซัพพลาย เชน ไฟแนนซ์ ยกระดับการบริการทางการเงินให้เอสเอ็มอี ผ่านเทคโนโลยีดิจิทัล ตอบโจทย์สะดวก-โปร่งใส-ลดความซ้ำซ้อน-ปัญหาเรื่องเอกสาร

 

เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2564 นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมผู้ค้าปลีกไทย ได้ร่วมมือกันจัดทำโครงการ ดิจิทัล ซัพพลาย เชน ไฟแนนซ์ (Digital Supply chain Finance) เนื่องจากภาครัฐให้ความสำคัญกับการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยเฉพาะการเสริมศักยภาพการแข่งขันของธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของเศรษฐกิจไทย อีกทั้งกระทรวงการคลังยังได้นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้เป็นเครื่องมือในการดำเนินมาตรการของรัฐบาล โดยโครงการนี้จะช่วยยกระดับธุรกิจเอสเอ็มอี ตามนโยบายรัฐบาลที่พยายามผลักดันให้ธุรกิจรายย่อยมีโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนในอัตราที่เหมาะสมและเป็นธรรมอย่างยั่งยืน ผ่านเทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งจะเป็นหนึ่งในโครงสร้างพื้นฐานในระบบการเงินที่สำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนประเทศก้าวเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัลอีกทางหนึ่ง

 

นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างและซ้ำเติมข้อจำกัดการเข้าถึงแหล่งเงินทุนในรูปแบบเดิมๆ ของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี สมาคมธนาคารไทยจึงได้หารือกับธปท. สภาหอการค้า ส.อ.ท. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาแนวทางช่วยเหลือเอสเอ็มอี ให้สามารถเข้าถึงสินเชื่อในระบบได้ง่ายขึ้น ผ่านโครงการ ดิจิทัล ซัพพลาย เชน ไฟแนนซ์ ภายใต้แผนงาน Smart Financial and Payment Infrastructure for Business ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อรองรับธุรกรรมการซื้อ-ขายในรูปแบบดิจิทัล ทดแทนการออกและรับเอกสารทางการค้าในรูปแบบกระดาษ ที่มีความไม่คล่องตัว มีข้อกังวลเรื่องการปลอมแปลงเอกสาร และการใช้เอกสารเวียนขอสินเชื่อซ้ำซ้อน ทำให้ยากต่อการพิจารณาสินเชื่อ โดยแพลตฟอร์มนี้จะเป็นตัวกลางช่วยลดช่องว่างระหว่างกลุ่มธุรกิจที่เป็นผู้ซื้อ ซึ่งมีสภาพคล่องและเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากกว่า ให้มีโอกาสช่วยเหลือซัพพลายเออร์ของตน เพราะขั้นตอนการขายสินค้าหรือบริการของ เอสเอ็มอี หลังจากออกใบแจ้งหนี้ ต้องรอรับการชำระเงินตามเครดิตเทอม อาจมีผลต่อสภาพคล่อง ทั้งนี้ ธนาคารพาณิชย์จะเป็นผู้สนับสนุนทางการเงินให้กับผู้ขาย (เอสเอ็มอี ) เพื่อให้ได้รับเงินค่าขายสินค้าทันทีเมื่อการส่งสินค้าเสร็จสิ้น หรือเป็นผู้สนับสนุนทางการเงินให้กับผู้ซื้อเพื่อชำระเงินให้คู่ค้าได้เร็วขึ้น

 

“ในอนาคตข้อมูลพฤติกรรมผู้ขายและผู้ซื้อภายใต้โครงการ ดิจิทัล ซัพพลาย เชน ไฟแนนซ์ รวมถึงข้อมูลทางเลือกอื่นๆ เช่น ประวัติการชำระค่าสาธารณูปโภค ค่าใช้จ่ายรายเดือนโทรศัพท์มือถือ การซื้อขายสินค้าออนไลน์ เป็นต้น จะถูกจัดส่งให้บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เอ็นซีบี) และด้วยเทคโนโลยี เอไอ และ การรวิเคราะห์ข้อมูลหรือสถิติเชิงคำนวณอย่างเป็นระบบ (Data Analytics) ในการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ (บิ๊กดาต้า) ทั้งหมดนี้เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการทางการเงิน และจะเป็นกลไกสำคัญในการช่วยภาคธุรกิจโดยเฉพาะ เอสเอ็มอีให้กลับมามีศักยภาพในการแข่งขันและเติบโตได้อย่างยั่งยืน และแสดงถึงเจตนารมณ์ของภาคธนาคารในการปล่อยสินเชื่ออย่างมีความรับผิดชอบ และโปร่งใส” นายผยง กล่าว

 

ด้านนายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า สภาอุตสาหกรรมฯ มีพันธกิจหลักในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ “Service Organization” เพื่อประสานความร่วมมือกับภาครัฐและภาคเอกชน ในการช่วยเหลือผู้ประกอบการและสมาชิกให้สามารถดำเนินธุรกิจผ่านวิกฤติโควิด-19 โดย 1 ใน 6 ของยุทธศาสตร์ที่ ส.อ.ท. ให้ความสำคัญคือเรื่อง Finance ที่ให้คำปรึกษาด้านการเงินและภาษี การขอกู้เงินและการจัดทำบัญชี การนำเข้าและส่งออก รวมถึงเรื่องการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ส.อ.ท. พยายามผลักดันเสนอมาตรการต่างๆ ต่อภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้สมาชิกรวมถึงผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในเครือข่ายเข้าถึงแหล่งเงินทุน เพื่อเสริมสภาพคล่องให้ผ่านพ้นช่วงนี้ไปให้ได้ โดยสภาอุตสาหกรรมฯ มีสมาชิกที่เป็นกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีศักยภาพ มีสถานะทางการเงินที่เข้มแข็ง ซึ่งจะสามารถเข้ามาเป็น ผู้ซื้อ (Buyer) ในระบบได้ ขณะนี้มีหลายบริษัทที่แสดงความจำนงเข้าร่วมโครงการแล้ว โดย ส.อ.ท. ขอเชิญชวนผู้ประกอบการให้เข้ามาใช้บริการ โครงการ ดิจิทัล ซัพพลาย เชน ไฟแนนซ์ รวมถึงเชิญชวนผู้ประกอบการรายใหญ่ที่เป็น Buyer ให้เข้าร่วมในโครงการนี้ด้วย เพื่อช่วยเหลือซัพพลายเออร์ในเครือข่ายให้สามารถขับเคลื่อนธุรกิจ สร้างความเข้มแข็ง และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับ ซัพพลาย เชน ของแต่ละธุรกิจต่อไป

ข่าวที่เกี่ยวข้อง