รีเซต

จากอนุบาล 1 ถึงอาชีวศึกษา วันแรกของการเรียนออนไลน์ในยุคโควิด-19

จากอนุบาล 1 ถึงอาชีวศึกษา วันแรกของการเรียนออนไลน์ในยุคโควิด-19
บีบีซี ไทย
18 พฤษภาคม 2563 ( 16:58 )
450
2
จากอนุบาล 1 ถึงอาชีวศึกษา วันแรกของการเรียนออนไลน์ในยุคโควิด-19

 

นับเป็นอีกหนึ่งหน้าประวัติศาสตร์ของการศึกษาไทยที่วันนี้ (18 พ.ค.) กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) จัด "การเรียนออนไลน์" ให้นักเรียนทุกระดับชั้น ตั้งแต่อนุบาล 1 ไปจนถึงอาชีวศึกษา รวมถึงการศึกษานอกระบบ (กศน.) อันเนื่องมาจากการระบาดของโรคโควิด-19 ที่ทำให้โรงเรียนต้องเลื่อนการเปิดภาคการศึกษาจากเดือน พ.ค.เป็นวันที่ 1 ก.ค.

 

แต่มาตรการที่ ศธ.มุ่งมั่นว่าจะช่วยลดผลกระทบของโควิด-19 กลับสร้างผลกระทบให้เด็ก ๆ เสียเองโดยเฉพาะสำหรับเด็กและผู้ปกครองที่ไม่พร้อมสำหรับการเรียนออนไลน์

 

หน้าประวัติศาสตร์นี้จึงถูกบันทึกในทางที่ไม่น่าประทับใจนักเมื่อนักเรียนพากันออกมา "บ่น" และรายงานปัญหาที่พบตั้งแต่เช้า บ้างบอกว่าเข้าเว็บไซต์ของมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมไม่ได้ ขณะที่การลงพื้นที่สำรวจโรงเรียนและเยี่ยมบ้านนักเรียนใน จ.ฉะเชิงเทรา ของบีบีซีไทย พบปัญหาไม่แตกต่างจากที่มีการรายงานในโซเชียลมีเดีย

 

ด้วยความปรารถนาดีจาก ศธ.

โครงการนี้มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า "การจัดการศึกษาทางไกลผ่านโทรทัศน์ระบบดิจิทัลในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดต่อเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Covid-19) เป็นความร่วมมือระหว่าง ศธ. มูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม ในพระบรมราชูปถัมภ์ และสำนักงานคณะกรรมการการกระจายเสียง การโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ซึ่งแถลงข่าวเปิดตัวเมื่อวันที่ 14 พ.ค.

 

"เพื่อไม่ให้เกิดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ และทำให้การแพร่ระบาดกลับมาอีกครั้ง แม้ว่าการเรียนรู้ที่โรงเรียนยังคงเป็นแนวทางที่ดีที่สุด แต่ถ้าหากไม่สามารถทำได้ สื่อการเรียนการสอนทางไกล (On Air) ผ่านฟรีทีวีทั้ง 17 ช่อง จะเป็นสื่อหลักในการจัดการเรียนการสอนควบคู่ไปกับการใช้สื่อออนไลน์ (Online) ทั้งในส่วนของแพลตฟอร์มที่ ศธ.ได้พัฒนาขึ้น และการจัดการเรียนการสอนแบบห้องเรียนจำลอง (Virtual Classroom)" ศธ.ระบุในเอกสารแถลงข่าว

 

ขณะที่ พ.อ.ดร.นที ศุกลรัตน์ รองประธาน กสทช. กล่าวในการแถลงข่าววันเดียวกันนั้นว่า กสทช.มีมติอนุญาตให้ ศธ.ใช้คลื่นความถี่ในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ เพื่อทดลองหรือทดสอบเป็นการชั่วคราว ตามโครงการทดลองส่งสัญญาณโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิทัลเพื่อการศึกษาเป็นการชั่วคราว ให้ออกอากาศแบบความคมชัดปกติ (SD) ผ่านช่องสัญญาณ จำนวน 17 ช่อง (ช่องหมายเลข 37-53) เป็นระยะเวลาไม่เกิน 6 เดือน

 

สำหรับ 4 ช่องทางหลักในการเรียนออนแอร์และออนไลน์ คือ

  • กล่องทีวีดิจิทัล (SAT TOP BOX)
  • ทีวีดาวเทียมระบบ KU-Band (จานทึบ)
  • ทีวีดาวเทียมระบบ C-Band (จานตะแกรง/จานดำ)
  • แอปพลิเคชันและเว็บไซต์ DLTV

 

ความกังวล

หลังจาก ศธ.กำหนดให้วันที่ 18 พ.ค.เป็นวันเริ่มออกอากาศและการเรียนออนไลน์วันแรก ความกังวลและคำถามก็เริ่มเกิดขึ้น บางคนตั้งคำถามแทนนักเรียนที่ฐานะยากจนว่าจะเรียนออนไลน์ได้อย่างไรหากไม่มีทีวี โทรศัพท์มือถือและสัญญาณอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ถ้าพ่อแม่ต้องไปทำงานไม่สามารถอยู่คอยให้คำแนะนำหรือดูแลการเรียนที่บ้านได้จะทำอย่างไร ไปจนถึงปัญหาน่าคิดอย่างเช่น ถ้าที่บ้านมีพี่น้องเรียนคนละชั้น แต่มีทีวีอยู่เครื่องเดียวจะแบ่งกันเรียนยังไง เป็นต้น

 

ขณะที่นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ยืนยันว่าครูหลายโรงเรียนมีการเตรียมความพร้อมและทำการบ้านอย่างเข้มข้น และยอมรับว่ามีเด็กบางส่วนที่ต้องการความช่วยเหลือด้านอุปกรณ์ เช่น ตัวเชื่อมต่อทีวี หรือในกลุ่มเด็กโต อาจต้องการช่องทางเสริมในการเรียนออนไลน์ ซึ่งเบื้องต้นมีข้อมูลว่านักเรียนในกรุงเทพฯ น่าจะมีความต้องการ Digital TV Box ประมาณ 300,000 เครื่อง เพื่อรองรับการเรียนการสอนทางทีวีดิจิตอล โดย ศธ. กสทช. และ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้เตรียมเครื่องอุปกรณ์เหล่านี้ เพื่อตอบสนองความขาดแคลนหรือความจำเป็น โดยไม่มีค่าใช้จ่าย

 

วันจริง

โซเชียลมีเดีย โดยเฉพาะทวิตเตอร์คึกคักตั้งแต่ช่วงเช้า เต็มไปด้วยข้อความบอกเล่าประสบการณ์เรียนออนไลน์วันแรก ส่วนใหญ่แจ้งปัญหาเรื่องเข้าเว็บไซต์และแอปพลิเคชัน DLTV ไม่ได้ และหาช่องทีวีดิจิทัลทีมีการสอนเนื้อหาของระดับชั้นตัวเองไม่เจอ

 

https://twitter.com/PhaloPiim/status/1262224588554944513?s=20

https://twitter.com/golferic1/status/1262230641287983104?s=20

https://twitter.com/ohmymyoneiteiei/status/1262236246249598977?s=20

https://twitter.com/hotheadedcat/status/1262232518096564224?s=20

 

เด็กต่างจังหวัดเป็นอย่างไร

บีบีซีไทย สำรวจการเรียนทางไกลผ่านการถ่ายทอดสัญญาณสำหรับการเรียนออนไลน์ผ่านช่องทีวีดิจิทัล ทีวีดาวเทียม และแอปพลิเคชัน DLTV ของมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม ที่ จ.ฉะเชิงเทรา พบว่า นักเรียนต้องเจอปัญหาไม่ต่างจากที่มีหลายคนโพสต์ทางโซเชียล

 

ตั้งแต่ช่วงเช้า ผู้ปกครองของนักเรียนชั้น ป.6 โรงเรียนวัดบางกระเจ็ด อ.บางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา ได้เริ่มหาช่องสัญญาณ DLTV บนทีวีดาวเทียม แต่ไม่สามารถดูได้ และเมื่อลองเข้าแอปฯ DLTV สำหรับเรียนออนไลน์ ก็ไม่สามารถเข้าถึงได้เช่นกัน ก่อนได้รับข้อมูลในภายหลังว่ากล่องที่ใช้ดูทีวีผ่านดาวเทียมต้องเป็นกล่องแบบเอชดีเท่านั้น

 

น.ส.ปภาววินท์ คงคาชนะ ครู ร.ร.วัดบางกระเจ็ด บอกว่า ตั้งแต่ช่วงเช้าได้รับรายงานจากนักเรียนชั้น ป.4-ป.6 พบปัญหาดูช่องทีวีไม่ได้ และเข้าดูผ่านแอปฯไม่ได้เช่นกันเกือบทั้งหมด มีเพียงบางคนที่สามารถดูผ่านทีวีได้

 

ครูเล่าว่า จากการสำรวจบ้านนักเรียนก่อนหน้านี้ พบว่าเด็กและผู้ปกครองพร้อมปรับตัวเรียนในระบบใหม่ แต่ยังกังวลในเรื่องต้องออกไปประกอบอาชีพ ซึ่งส่วนใหญ่ทำงานโรงงาน รับจ้าง เลี้ยงกุ้ง อีกทั้งเด็กบางคนอยู่กับผู้สูงอายุ จึงอาจทำให้ไม่สามารถดูแลได้อย่างเต็มที่

 

ครูบอกอีกว่าแม้เด็กราว 95 เปอร์เซ็นต์ มีมือถือที่ใช้อินเทอร์เน็ตได้ แต่ส่วนใหญ่ใช้เป็นระบบเติมเงิน เชื่อว่าเมื่อเรียนไปแล้ว 1 สัปดาห์ น่าจะเริ่มเห็นภาระค่าใช้จ่ายของผู้ปกครองที่เพิ่มขึ้น

 

ส่วนปัญหาที่เจอวันนี้ ครูปภาวรินท์ ยอมรับว่าอาจกระทบความเชื่อมั่นของผู้ปกครองที่มีต่อการสอนของครู จึงต้องการให้ระดับนโยบายเห็นปัญหาในระดับพื้นที่และแก้ไขให้การเรียนการสอนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

 

นายปราโมทย์ จินดางาม ผอ.โรงเรียนวัดบางกระเจ็ด กล่าวว่า จากการสำรวจความพร้อมที่ครูแต่ละระดับชั้นลงพื้นที่ติดตามนักเรียนที่บ้าน พบว่ามีความพร้อมครึ่งต่อครึ่งจากนักเรียนทั้งหมดกว่า 130 คน บางบ้านไม่มีอินเทอร์เน็ต และทีวีไม่สามารถเรียนผ่านทางไกลได้ โรงเรียนได้พยายามแก้ปัญหาโดยให้ครูจัดให้นักเรียนไปเรียนร่วมกับบ้านใกล้เคียงที่มีความพร้อมแทน และเมื่อเปิดเทอมวันที่ 1 ก.ค. หากยังไม่สามารถเรียนที่โรงเรียนได้เต็มรูปแบบและยังต้องเรียนออยไลน์อยู่ โรงเรียนเตรียมแผนให้นักเรียนบางส่วนที่ไม่พร้อมมาเรียนที่โรงเรียน โดยมีการเว้นะระยะห่างตามมาตรการป้องกันโรค

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง