ศบค. เผยความคืบหน้า 4 วัคซีนสัญชาติไทย อยู่ขั้นทดสอบในมนุษย์ รบ.ทุ่ม 4.8 พันล้าน
ศบค. เผยความคืบหน้า 4 วัคซีนสัญชาติไทย อยู่ขั้นทดสอบในมนุษย์ รัฐบาล หนุน งบฯ วิจัย-พัฒนา กว่า 4.8 พันล้านบาท ถือเป็นความหวังควบคุมโควิด
วันที่ 27 พ.ย.64 ที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ในที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 (ศบค. )เมื่อวันที่ 26 พ.ย.ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรี ได้ติดตามความก้าวหน้าการวิจัยวัคซีนในประเทศไทย ซึ่งได้รับการรายงานว่า ขณะนี้ทั้ง 4 วัคซีนกำลังอยู่ในขั้นทดสอบในมนุษย์ และได้รับการสนับสนุนงบประมาณเพื่อใช้ในการพัฒนาเป็นระยะ รวมวงเงิน 4.8 พันล้านบาท กล่าวคือ
1.วัคซีน NDV-HXP-S ที่พัฒนาโดยองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดลได้รับงบประมาณจากรัฐบาลผ่านสถาบันวัคซีนแห่งชาติ (สวช.) แล้ว 45.88 ล้านบาท ทดสอบในมนุษย์ระยะที่ 2 แล้วตั้งแต่ 16 ส.ค. 64 คาดว่าจะทราบผลภายในเดือนนี้ (ธ.ค. 64) อยู่ระหว่างทำคำของบประมาณเพื่อรับการสนับสนุนสำหรับการทดสอบระยะที่ 3
2.วัคซีน Chula-Cov19 พัฒนาโดยศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับงบประมาณจากรัฐบาลผ่านสถาบันวัคซีนแห่งชาติ (สวช.) จำนวน 375 ล้านบาท ทดสอบในมนุษย์ระยะที่ 2 เริ่ม ส.ค. 64 คาดว่าจะทราบผลภายในเดือนธันวาคมนี้ และสำหรับการทดสอบทางคลินิกระยะที่ 3 และการผลิตเพื่อขึ้นทะเบียนวัคซีนเพื่อใช้ในภาวะฉุกเฉิน ครม.ได้อนุมัติงบประมาณจาก พรก.เงินกู้กรอบวงเงิน 2,316 ล้านบาท เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
3.วัคซีน Baiya SARS-CoV-2 Vax พัฒนาโดยบริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม ซึ่งเป็นบริษัทสตาร์ทอัพ ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับงบประมาณจาก พรก.เงินกู้ฯ 160 ล้านบาท ในช่วงต้น ขณะนี้อยู่ในช่วงทดสอบในมนุษย์ ระยะที่ 1 เริ่ม ตั้งแต่ ต.ค. 64 และล่าสุด ครม.ได้อนุมัติกรอบวงเงิน 1,309 ล้านบาท จากพรก.เงินกู้ เพื่อใช้ในการวิจัยและพัฒนาวัคซีนในส่วนของการทดสอบในมนุษย์ระยะที่ 3 ด้วย
4.วัคซีนโควิเจน โดยบริษัท ไบโอเนท-เอเชีย ได้รับงบประมาณจาก พรก. เงินกู้แล้ว 650 ล้านบาท ได้ทำการสอบในมนุษย์ ระยะที่ 1 แล้วตั้งแต่วันที่ 25 มิ.ย. 64 เพื่อศึกษาความปลอดภัยและการกระตุ้นภูมิคุ้มกัน ขณะนี้ อยู่ระหว่างการเตรียมการทดสอบในระยะที่ 2
น.ส.รัชดา กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญและพร้อมสนับสนุนงบประมาณในการวิจัยและพัฒนาวัคซีนสัญชาติไทยในทุกขั้นตอน ตั้งแต่กระบวนการ R & D การทดสอบประสิทธิภาพ การขึ้นทะเบียนเพื่อให้สามารถนำมาใช้ได้ครบวงจร เสริมความมั่นคงทางวัคซีนของประเทศ ถือเป็นอีกความหวังในการควบคุมการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 และเป็นการเพิ่มศักยภาพด้านการจัดการสาธารณสุขของประเทศในระยะยาว