นักวิจัยจีนนำ DNA จักรพรรดิโบราณ สร้างใบหน้า พร้อมสืบจนถึงต้นตระกูล !!
นักวิจัยมหาวิทยาลัยฟูตัน ในนครเซี่ยงไฮ้, ประเทศจีน นำ DNA ของจักรพรรดิจีนเมื่อ 1,500 ปีก่อน มาสร้างใบหน้า 3 มิติในคอมพิวเตอร์ พร้อมวินิจฉัยการสวรรคตและชาติกำเนิดโดยสมบูรณ์
ย้อนกลับไปในปี 1996 สุสานของจักรพรรดิหวู่ ได้ถูกค้นพบ ณ ทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศจีน สภาพพระบรมศพของพระองค์ยังคงหลงเหลือกระดูก รวมไปถึงกะโหลกศีรษะที่ค่อนข้างสมบูรณ์ทิ้งเอาไว้ ส่งผลให้ทางทีมวิจัยสามารถเก็บกู้สนิปส์ (SNPs : Single-Nucleotide Polymorphisms) หรือการเปลี่ยนแปลงนิวคลีโอไทด์แค่ตำแหน่งเดียว ได้มากกว่า 1 ล้านสนิปส์ ซึ่งบางส่วนมีข้อมูลของสีผิวไปจนถึงเส้นผมของตัวจักรพรรดิเก็บเอาไว้
เนื่องจากกะโหลกศีรษะของจักรพรรดิหวู่นั้นค่อนข้างสมบูรณ์ ทำให้ทางทีมงานสามารถขึ้นรูปใบหน้าของตัวจักรพรรดิขึ้นมาใหม่ในแบบ 3 มิติ บนเครื่องคอมพิวเตอร์ได้
โดยลักษณะทางกายภาพที่ถูกวิเคราะห์ออกมาพบว่า จักรพรรดิหวู่นั้นมีดวงตาเป็นสีน้ำตาล เส้นผมมีสีดำ ผิวเข้มถึงปานกลาง ใบหน้าคล้ายกับชาวเอเชียเหนือและเอเชียตะวันออกในปัจจุบัน มีเชื้อสายของชาวเซียนเป่ย กลุ่มเร่ร่อนโบราณที่อาศัยอยู่ในประเทศมองโกเลีย รวมไปถึงทางตอนเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือของจีน คาดสวรรคตตอนพระชนมพรรษา 36 พรรษา จากโรคหลอดเลือดสมอง ซึ่งสอดคล้องไปกับบันทึกของประวัติศาสตร์ ที่บรรยายว่าจักรพรรดิมีความพิการทางสมอง เปลือกตาตก และการเดินที่ผิดปกติ ซึ่งเป็นโรคที่เกี่ยวกับหลอดเลือดทางสมอง
จักรพรรดิหวู่ขึ้นปกครองของราชวงศ์โจวในช่วงคริสตศักราช 560 - 578 หรือราว พ.ศ. 1103 - 1121 เป็นผู้สร้างกองทัพที่เข้มแข็ง จนสามารถรวมเมืองตอนเหนือของจีนโบราณ ให้เป็นหนึ่งเดียวกันได้สำเร็จ
การศึกษานี้ ส่งผลให้เกิดข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับการอพยพ และการเติบโตของชาวเซียนเป่ยในจีนโบราณ โดยพบว่าชาวเซียนเป่ยได้แต่งงานกับชาวฮั่นเชื้อสายจีน เมื่อพวกเขาอพยพลงใต้สู่ภาคเหนือของประเทศจีน ซึ่งเป็นหนึ่งในเหตุผล ที่สามารถอธิบายว่า คนในยุคโบราณมีการแพร่กระจายในยูเรเซียได้อย่างไร และพวกเขารวมตัวเข้ากับคนในท้องถิ่นในรูปแบบไหน
ทางทีมมีเป้าหมายต่อไป ในการศึกษาผู้คนที่อาศัยอยู่ในเมืองฉางอานโบราณ ซึ่งอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของจีน โดยทำการศึกษา DNA ของพวกเขาเช่นเดียวกัน โดยมองว่าฉางอานเป็นเมืองหลวงของจักรวรรดิจีนหลายพระองค์ ตลอดระยะเวลาหลายพันปี และเป็นปลายทางด้านตะวันออกของเส้นทางสายไหม ซึ่งเป็นเครือข่ายการค้าที่สำคัญของเอเชียตั้งแต่ศตวรรษที่ 2 ก่อนคริสตกาลจนถึงศตวรรษที่ 15
ทางทีมนักวิจัยหวังว่าการวิเคราะห์ DNA นี้ จะสามารถเปิดเผยข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับวิธีการอพยพและแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมในจีนโบราณได้
สำหรับใครที่สนใจในเรื่องนี้ การวิจัยดังกล่าวได้ถูกเผยแพร่อยู่บนวารสารของ Current Biology สามารถเข้าไปอ่านได้จากลิงก์นี้: [คลิก]