รีเซต

สธ.คาดสิ้นเดือน ประกาศขาย ATK ได้ทั่วไป เตือนอย่าซื้อออนไลน์ ได้ผลบวกลวง-ลบเทียม

สธ.คาดสิ้นเดือน ประกาศขาย ATK ได้ทั่วไป เตือนอย่าซื้อออนไลน์ ได้ผลบวกลวง-ลบเทียม
ข่าวสด
21 กันยายน 2564 ( 15:11 )
121
สธ.คาดสิ้นเดือน ประกาศขาย ATK ได้ทั่วไป เตือนอย่าซื้อออนไลน์ ได้ผลบวกลวง-ลบเทียม

สธ.คาดสิ้นเดือน ประกาศขาย ATK ได้ทั่วไป ย้ำแจ้งผลตรวจกลับด้วย เตือนอย่าซื้อออนไลน์ ไม่ได้มาตรฐาน ได้ผลบวกลวง-ลบเทียม ขอให้ซื้อตามร้านขายยา

 

 

วันที่ 21 ก.ย.64 นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พร้อมด้วย นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) แถลงข่าวความคืบหน้าการจัดสรรชุดตรวจ ATK ด้วยตนเอง โดย นพ.ธงชัย กล่าวว่า สธ.ร่วม สปสช.กระจายชุดตรวจ ATK 8.5 ล้านชิ้นให้ประชาชนตรวจด้วยตนเองทั่วประเทศ ส่วนที่บางคนไปขอแล้วอาจมีการไปโพสต์ลงโซเชียลมีเดีย ขอทำความเข้าใจว่า ไม่ใช่ทุกคนที่จำเป็นต้องตรวจ ขณะนี้ขอให้เป็นเฉพาะกลุ่มเสี่ยงเพื่อให้นำไปใช้เกิดประโยชน์สูงสุด

 

 

ซึ่งเมื่อไปขอรับชุดตรวจที่ รพ. ร้านขายยา หรือผ่านแอพพลิเคชัน จะให้มีการประเมินความเสี่ยงตนเอง และย้ำว่าเมื่อได้ชุดตรวจไปแล้วให้ตรวจทันที อย่าเอาไปเก็บหรือคิดว่าเก็บไว้ก่อนเพื่อรอตอนสงสัยแล้วค่อยตรวจ เนื่องจากชุดตรวจมีวันหมดอายุและหากเก็บไม่ดีก็เสื่อมสภาพ โดยควรเก็บในอุณหภูมิห้องปกติ อย่าให้มีอุณหภูมิร้อนจนเกินไป คือ ไม่เกิน 30 องศาเซลเซียส อย่าทิ้งไว้ในรถหรือตากแดด เป็นต้น โดยยืนยันว่าชุดตรวจเพียงพอ และปกติตรวจฟรีอยู่แล้ว ถ้าเป็นกลุ่มเสี่ยงไปขอรับบริการตรวจที่ รพ.ก็ตรวจฟรี

 

 

เผยกลุ่มที่ควรได้รับ ATK

นพ.ธงชัย กล่าวว่า สำหรับกลุ่มที่ควรได้รับการตรวจโควิด คือ 1.ผู้สัมผัส ผู้ที่มีความเสี่ยงสูง เช่น เพื่อนที่เคยกินอาหารด้วยกันโทรมาบอกว่าติด และตัวเองมีอาการ เช่น ไข้ น้ำมูก ไม่ได้กลิ่นหรือรส ควรไป รพ.ตรวจ RT PCR 2.หากมีอาการไข้ น้ำมูก ไอเสมหะ แต่ไม่มีประวัติสัมผัสหรือเสี่ยงสูง อาจขอชุดตรวจ ATK จากจุดแจก เช่น ร้านขายยา รพ. รพ.สต.ในพื้นที่

 

 

3.ผู้สัมผัสเสี่ยง แต่ไม่มีอาการ ไปขอรับชุดตรวจได้ และ 4.กลุ่มเสี่ยง 608 เช่น ผู้สูงอายุ กลุ่มเปราะบาง ติดบ้านติดเตียง มีโรคประจำตัวและอยู่พื้นที่เสี่ยง เช่น ชุมชนมีการระบาด มีผู้ป่วยในชุมชนโดยรอบ ไปขอชุดตรวจ ATK ได้ หรือแจ้ง อสม. และ รพ.สต.ต่างๆ เพื่อขอรับชุดตรวจ

 

 

"ย้ำว่าถ้าเชื้อน้อยอาจจะตรวจแล้วยังไม่พบ เพราะมีความเฉพาะสู้ RT PCR ไม่ได้ แต่เราไม่ได้ตรวจครั้งเดียวแล้วบอกไม่มีเชื้อ ดังนั้น หากตรวจแล้วผลเป็นลบ ไม่มีอาการ ควรตรวจซ้ำทุก 7 วัน ซึ่งกรณีขอชุดตรวจจะได้รับแจก 2 ชุด เมื่อผลเป็นลบ ครบ 7 วันก็นำมาตรวจอีกครั้งได้ แต่ถ้าเกิดมีอาการขึ้นมาให้ตรวจได้ทันที ส่วนกรณีผลเป็นลบแต่มีอาการ ควรตรวจซ้ำใน 3-5 วัน และขอให้บันทึกผลการตรวจเข้าระบบตามที่ได้รับแจ้งจากจุดกระจายชุดตรวจ เพราะหากตรวจแล้วผลเป็นลบแต่ยังมีอาการอยู่ จะได้ขอรอบ 2 ได้" นพ.ธงชัยกล่าว

 

 

นพ.ธงชัย กล่าวว่า ถ้าหากผลตรวจเป็นบวก พื้นที่ กทม.สามารถโทรแจ้ง 1330 หรือแจ้งข้อมูลผ่านแอพพลิเคชั่นที่ใช้ประเมินรับชุดตรวจ ส่วนต่างจังหวัดนั้น รพ.หรือหน่วยบริการจะมีการแจ้งเบอร์ที่ติดต่อได้มากับชุดตรวจ ก็ประสานไปตามที่แต่ละจังหวัดวางแผนไว้ ซึ่งแต่ละจังหวัดอาจไม่เหมือนกัน

 

 

ทั้งนี้ ย้ำว่าแม้สถานการณ์จะดีขึ้น แต่ประมาทไม่ได้ ผลตรวจเป็นลบก็อย่าชะล่าใจ เพราะ ATK ช่วยให้รู้ผลเร็ว เข้าระบบการรักษาได้เร็ว ช่วยควบคุมโรคได้เร็ว แต่ไม่ได้ช่วยป้องกัน มาตรการสำคัญคือ รณรงค์ไปฉีดวัคซีน แต่ฉีดแล้วก็ยังติดได้ สำคัญที่สุดคือมาตรการป้องกันตนเองสูงสุดตลอดเวลา (Unicersal Prevention)

 

 

กระจาย 6.7 ล้านชิ้นทั่วประเทศ

ด้าน นพ.จเด็จ กล่าวว่า ขณะนี้กระจายชุดตรวจไปแล้ว 6.7 ล้านชิ้นทั่วประเทศ ซึ่งนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเป็นผู้กระจายและแจ้งกลับมา สปสช. ถ้าอยากรู้ว่าต่างจังหวัดมีจุดไหนที่เป็นจุดแจกบ้าง สามารถเข้าเว็บไซต์ สปสช. www.nhso.go.th เพื่อตรวจสอบได้

 

 

ซึ่งวันนี้เริ่มมีข้อมูลบ้างแล้ว แต่จะมีการปรับปรุงและแสดงข้อมูลทั้งหมดเริ่มวันพรุ่งนี้เป็นต้นไป ส่วนใน กทม.จะเพิ่มจุดกระจายชุดตรวจนอกจากศูนย์บริการสาธารณสุข (ศบส.) แล้ว จะมีคลินิกชุมชนอบอุ่น 120 กว่าแห่งจะเริ่มกระจายชุดตรวจวันที่ 27 ก.ย.นี้ และมีอาสาสมัครสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร (อสส.) 1 หมื่นคนทยอยกระจายชุดตรวจพื้นที่เป้าหมาย

 

 

สำหรับการรับชุดตรวจทำได้ 3 วิธี คือ 1.กลุ่มเสี่ยงที่จะรับชุดตรวจ ให้สังเกตหน่วยบริการในพื้นที่ใกล้บ้าน หากติดป้ายสีเหลืองว่าจุดแจกชุดตรวจโควิด ATK ให้ประชาชนกลุ่มเสี่ยงขอรับได้ที่นี่ฟรี ก็เข้าไปรับประเมินความเสี่ยงได้ ถ้ามีความเสี่ยงก็ได้รับชุดตรวจพร้อมคำแนะนำ

 

 

2.แอพพลิเคชัน "เป๋าตัง" มีปุ่มขอรับชุดตรวจโควิดฟรี ตอบคำถาม 3 ข้อเพื่อประเมินกลุ่มเสี่ยง ถัดไปจะขึ้นชื่อหน่วยบริการร้านยา รพ. คลินิกที่อยู่ใกล้ เพื่อให้กดเลือกเพื่อไปรับชุดตรวจ เมื่อไปถึงหน่วยบริการ ร้านจะขอให้กดคิวอาร์โคดจากแอป เมื่อสแกนคิวอาร์โคดเสร็จ ร้านจะยื่นให้ 2 ชุดให้พร้อมคำแนะนำ

 

 

และ 3. พื้นที่ชุมชนแออัด ตลาด พนักงานร้านเสริมสวย นวดสปาต่างๆ จะมี อสส. และ อสม. ไปประสานและนำไปแจก ไม่จำเป็นต้องทำแอปฯ หรือเดินเข้ามา

 

 

"หากไม่รู้ว่าที่ไหนแจกชุดตรวจเข้าเว็บไซต์ สปสช. หรือแอพฯ เป๋าตัง ว่าใกล้ตัวเรามีหน่วยบริการใดแจกบ้าง ย้ำว่า ตรวจแล้วไม่ว่าบวกหรือลบ ถ้าใช้แอปฯ เป๋าตังให้เข้าไปอีกครั้ง เพื่อกดรายงานผลเข้าระบบ หากผลบวกจะมีเจ้าหน้าที่โทรหาเพื่อประสานนำเข้าระบบดูแลรักษาที่บ้านหรือชุมชน

หากผลลบจะบันทึกข้อมูลไว้ก่อน และควรสังเกต 3-5 วันตรวจอีกครั้งเพื่อให้มั่นใจว่าลบ 2 ครั้งก็มีความปลอดภัย หรือโทรศัพท์กลับไปแจ้งผลยังหน่วยบริการที่แจกชุดตรวจเพื่อบันทึกข้อมูล ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 16 ก.ย. - ปัจจุบัน มีการรับชุดตรวจแล้วเกือบ 8 หมื่นคน บันทึกผลตรวจ 1.4 หมื่นคน หรือเกือบ 20% พบผลบวก 100 คน หรือเกือบ 1%" นพ.จเด็จกล่าว

สิ้นเดือนนี้ประกาศขายทั่วไป

เมื่อถามว่าอนาคตจะขยายจุดให้บริการแจกเพิ่มเติมหรือไม่ นพ.จเด็จ กล่าวว่า ตอนนี้ที่ทราบจุดตรวจอาจไม่เยอะ สปสช.ประสาน สธ.ขยายจุดตรวจเพิ่มเติม ที่จะขยายเร็วๆ นี้ คือ จุดตรวจห้องปฏิบัติการทั่วไป 60 กว่าแห่งทั่วประเทศ สถานพยาบาลของพยาบาลจำนวนหนึ่งที่จะนำเข้ามา และ สปสช.ประชาสัมพันธ์ร้านยาจำนวนมากที่ยังไม่เข้ามาร่วม ให้เข้ามาเป็นหน่วยกระจายให้เรา เพราะที่ประเมินประชาชนน่าจะสะดวกไปร้านยา

ถามว่ากรณีบางส่วนไม่สะดวก เข้าไม่ถึงรับ ATK จะไปหาซื้อชุดตรวจเอง นพ.ธงชัย กล่าวว่า ขณะนี้เรามีจำหน่ายชุดตรวจที่ร้านขายยาทั่วไป พรุ่งนี้ (22 ก.ย.) จะมีการประชุมคณะกรรมการเครื่องมือแพทย์ มีผู้เสนอมาเช่นกันว่าจะมีการกระจายขายทั่วๆ ไปในอนาคตไม่นาน คิดว่าสิ้นเดือนนี้จะประกาศว่าขายได้ทั่วๆ ไป เรียนว่าอย่าซื้อทางออนไลน์ อาจไม่ได้มาตรฐาน มีผลที่บวกลวง ลบเทียม ขอให้ซื้อตามร้านขายยา คลินิกต่างๆ ที่จำหน่าย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง