พบสาเหตุ วาฬเพชฌฆาตมักทำลายเรือบนผิวน้ำ คือ "การหยอกเล่น"
ทีมงานนักชีววิทยาสหรัฐอเมริกาใช้เวลาวิจัยหลายปี เพื่อค้นหาสาเหตุที่ทำให้วาฬเพชฌฆาตไอบีเรียทำลายเรือของมนุษย์บนผิวน้ำบริเวณน่านน้ำยุโรป โดยการติดตามกลุ่มวาฬเพชฌฆาตที่ถูกเรียกว่า "ออร์ซินัสออร์กา" และพบคำตอบว่าพฤติกรรมดังกล่าวเกิดขึ้นในกลุ่มวาฬหนุ่มที่มีอายุน้อย และความสนุกสนานตามธรรมชาติ รวมไปถึงพฤติกรรมที่มีการเลียนแบบกันในช่วงวัยดังกล่าว
นอกจากนี้นักชีววิทยาสหรัฐอเมริกาค้นพบว่าการฟื้นตัวอย่างรวดเร็วของประชากรปลาทูน่าครีบน้ำเงินในภูมิภาคนี้ ทำให้กลุ่มวาฬเพชฌฆาตไอบีเรียที่เสี่ยงใกล้สูญพันธุ์ ซึ่งเหลือประมาณ 40 ตัว หาอาหารได้ง่ายขึ้น และเหลือเวลาเพิ่มสำหรับการเล่น อยากรู้อยากเห็น โดยมีเรือของมนุษย์เป็นเป้าหมายหลักในการเล่นหยอกล้อ หากเปรียบเทียบกับพฤติกรรมของมนุษย์ การทำลายเรือบนผิวน้ำเหมือน "งานอดิเรก" นอกเหนือจากเวลาทำงานนั่นเอง
ทีมนักชีววิทยาได้ทำการวิเคราะห์ข้อมูลที่รวบรวมจากวาฬเพชฌฆาตแต่ละตัว และพบว่าการโจมตีเรือบนผิวน้ำมักเกิดขึ้นโดยวาฬจำนวน 2-3 ตัว จากจำนวนวาฬทั้งหมดในฝูงราว 15 ตัว โดยวาฬที่มีพฤติกรรมส่วนใหญ่เป็นวาฬหนุ่มที่มีอายุน้อย รวมไปถึงจำนวนครั้งการชนและความรุนแรง เริ่มเพิ่มสูงขึ้นนับจากปี 2017 เนื่องจากวาฬมีการเติบโตของขนาดร่างกายที่ใหญ่ขึ้นและทรงพลังมากขึ้น
พฤติกรรมการเล่น และการเลียนแบบกันในฝูงวาฬเพชฌฆาตเกิดขึ้นบ่อยครั้ง โดยก่อนหน้านี้มีการค้นพบว่าวาฬเพชฌฆาตที่อาศัยในมหาสมุทรแปซิฟิกนำปลาแซลมอนซึ่งเป็นอาหารหลักมาเล่น โดยการยกขึ้นไปวางบนหัว หลังจากนั้นไม่นานพบว่ามีวาฬเพชฌฆาตอีก 2-3 ตัว เริ่มมีพฤติกรรมการเลียนแบบตามมาด้วยเช่นเดียวกัน ซึ่งแสดงให้เห็นว่าพฤติกรรมการเล่นของวาฬเพชฌฆาตนั้นอาจแตกต่างกันไปตามแต่ละพื้นที่
การศึกษาและทำความเข้าใจพฤติกรรมของวาฬเพชฌฆาตมีความสำคัญต่อความปลอดภัยของมนุษย์ ย้อนไปในปี 2020 ทีมงานวิจัยของ Atlantic Orca (GTOA) พบว่าวาฬเพชฌฆาตได้เข้าทำลายเรือมากถึง 673 ครั้ง ส่งผลให้เรือจมทั้งหมด 4 ลำ โดยมีครั้งที่รุนแรงมากที่สุดเกิดขึ้นกับเรือยอทช์ขนาดใหญ่ความสูง 15 เมตร บริเวณช่องแคบกิลบราลตาร์ระหว่างสเปนและแอฟริกาเหนือ ผู้โดยสารทั้งหมดบนเรือยอทช์ได้รับการช่วยเหลือจากเรือบรรทุกน้ำมัน