รีเซต

ชลประทานโคราช เล็งรื้อถอนฝายเก่ากว่า 10 แห่ง ใน 2 อำเภอ ขวางลุ่มน้ำลำเชียงไกร

ชลประทานโคราช เล็งรื้อถอนฝายเก่ากว่า 10 แห่ง ใน 2 อำเภอ ขวางลุ่มน้ำลำเชียงไกร
มติชน
14 มิถุนายน 2565 ( 14:12 )
69
ชลประทานโคราช เล็งรื้อถอนฝายเก่ากว่า 10 แห่ง ใน 2 อำเภอ ขวางลุ่มน้ำลำเชียงไกร

ชลประทานโคราช เล็งรื้อถอนฝายเก่ากว่า 10 แห่ง ใน 2 อำเภอ ขวางลุ่มน้ำลำเชียงไกร แต่รอทำประชาคม มั่นใจจะทำให้ระบายน้ำเต็มศักยภาพ ลดน้ำท่วมช่วงหน้าฝน

 

วันที่ 14 มิ.ย. นายกิติกุล เสภาศีราภรณ์ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานนครราชสีมา เปิดเผยถึงความคืบหน้าการดำเนินการรื้อถอนสิ่งกีดขวางทางน้ำ ภายในลุ่มน้ำลำเชียงไกรในพื้นที่ อ.โนนไทย และ อ.โนนสูง ของจังหวัดนครราชสีมา ตามโครงการ “โคราชไม่ท่วมไม่แล้ง” ว่า หลังจากประชุมหารือร่วมกับนายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการเข้ารื้อถอนสิ่งกีดขวางทางน้ำในพื้นที่ 2 อำเภอ เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วม ล่าสุดตอนนี้ได้บูรณาการร่วมหลายหน่วยงาน ทำการรื้อสิ่งกีดขวางทางน้ำที่ทำให้น้ำไหลระบายช้า และเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดน้ำท่วม

 

โดยได้รับความร่วมมือจากโครงการชลประทานนครราชสีมา , สำนักงานชลประทานที่ 8 จังหวัดนครราชสีมา , เทศบาลตำบลโนนสูง และสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดนครราชสีมา ร่วมบูรณาการสนับสนุนเครื่องมือ เครื่องจักร และบุคลากรในการรื้อฝายบ้านบัว 2 ต.โนนสูง อ.โนนสูง ซึ่งเป็นฝายเก่าหน้าประตูระบายน้ำบ้านบัว หลังจากทางอำเภอโนนสูงและเทศบาลตำบลโนนสูง ได้ทำประชาคมชาวบ้านให้รื้อฝายเดิม ที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดน้ำท่วมในพื้นที่อำเภอโนนสูงเป็นประจำ และไม่สามารถเร่งระบายน้ำไปท้ายน้ำได้

 

 

ประกอบกับมีประตูระบายน้ำบ้านบัว ที่สามารถใช้เก็บกักน้ำและระบายน้ำได้ดีกว่า จึงมีความเห็นร่วมกัน ให้รื้อฝายดังกล่าวออก เพื่อไม่ให้กีดขวางทางน้ำออก จึงได้บูรณาการเร่งเข้าดำเนินการรื้อถอนฝายเก่าออก โดยคาดว่าจะใช้เวลา 7-10 วัน จึงจะแล้วเสร็จให้ทันในช่วงฤดูฝนปีนี้ และสามารถใช้ประตูระบายน้ำให้เต็มศักยภาพของลำน้ำได้ ทำให้สามารถควบคุมบริหารจัดการน้ำได้ดียิ่งขึ้น รวมทั้งป้องกันความเสี่ยงเกิดอุทกภัยในพื้นที่ตัวอำเภอโนนสูงได้ด้วย

 

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาได้มีการดำเนินการรื้อถอนฝายเก่าที่ไม่ได้ใช้งาน ในพื้นที่ ต.กำปัง อ.โนนไทย แล้วจำนวน 3 จุด จากเป้าหมาย 5 จุด ส่วนในพื้นที่ อ.โนนสูง ยังคงเหลือฝายเก่าที่คาดว่า จะต้องรื้อถอนออกอีก ในพื้นที่ต.เมืองปราสาท จำนวน 3 แห่ง และ ต.จันอัด อีก 6 แห่ง แต่จะต้องรอทำประชาคมชาวบ้านก่อน ซึ่งหากฝายเก่าทั้งหมดถูกรื้อถอน จะช่วยให้น้ำระบายลงลำน้ำมูลได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดปัญหาน้ำท่วมได้ตามเป้าหมาย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง