การบินไทย ขายตึกลูกเรือหลักสี่ หาเงินต่อชีวิตถึง ก.ค.-ดีดี แจงยิบแผนฟื้นฟู มั่นใจฉลุยหลังเจ้าหนี้ลดค่าเช่า 50%
การบินไทย ขาย”ตึกลูกเรือหลักสี่-เครื่องยนต์” หาเงินต่อชีวิต ถึงก.ค.นี้ -มั่นใจ แผนฟื้นฟู ฉลุย หลังเจ้าหนี้ยอมลดค่าเช่า 50% -ผุด 600 โปรเจ็คปั๊มรายได้ 5 หมื่นล้าน ลั่นเปิดเที่ยวบินประจำ ตปท. เดือน ต.ค.นี้
นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร รักษาการแทนกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงฐานะการเงินบริษัทว่าสัปดาห์ก่อนได้ยื่นต่อศาลล้มละลายกลางขอขายทรัพย์สิน 2 รายการ เพื่อนำเงินมาหล่อเลี้ยงและรักษาชีวิตบริษัทไว้ ระหว่างที่บริษัทอยู่ในขั้นตอน แผนฟื้นฟู
ศาลอนุญาตแล้ว คือ 1.อาคารศูนย์ฝึกอบรมลูกเรือ การบินไทย พร้อมที่ดิน บริเวณหลักสี่ ที่ไม่ได้ใช้งาน เพราะปัจจุบันฐานการบินบริษัทอยู่ที่สนามบินสุวรรณภูมิ และ2.เครื่องยนต์เครื่องบิน 4-5 ชุด คาดว่าจะทำให้มีเงินสดเข้ามาใช้จ่ายต่อได้อีก 2 เดือน คือในเดือน มิ.ย.-ก.ค.64 จากเดิมที่มีเงินสดใช้ถึงแค่เดือน มิ.ย. 64 จากการขายหุ้นบาฟส์ มูลค่า 2,700 ล้านบาท
และในเดือนก.พ. เตรีมที่ขอศาลฯ ขายเครื่องบินอีก 30-40 ลำในเดือนมี.ค. 64 และคืนเครื่องเช่าก่อนกำหนดอย่างน้อย 10 ลำ ซึ่งจะทำให้ฝูงบินปรับลดลงเหลือ 50-60 ลำ และอาจจะปรับเพิ่มเป็น 70-80 ลำ ในปี 67-68 ที่ความต้องการเดินทางเพิ่มขึ้น และยังปรับลดชนิดเครื่องบินลดลงจาก 8 แบบ เหลือ4 แบบ เพื่อช่วยลดต้นทุนค่าใช้จ่าย
นายชายศิลป์กล่าวต่อถึงการจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการว่า มั่นใจว่าวันที่ 2 มี.ค. 64 การบินไทย จะสามารถยื่นแผนฟื้นฟูกิจการให้ศาลล้มละลายกลางได้แน่นอน ซึ่งภาพรวมเป็นไปด้วยดี โดยมีรายละเอียดการดำเนินการ 5 ด้านดังนี้
1.การเจรจาปรับโครงสร้างหนี้เจ้าหนี้ มีข่าวดีโดยสัปดาห์ก่อนเจ้าหนี้เครื่องบินยอมลดค่าเช่าบางลำลง 30-50% และยอมเก็บค่าเช่าตามชั่วโมงบินจริง ถ้าจอดอยู่จะไม่คิดค่าเช่า โดย 2 ฝ่าย ได้ลงนามในหนังสือแสดงเจตจำนง หรือLetter of Intent(LOI) ร่วมกันไว้แล้ว และจะลงนามในข้อตกลงเป็นทางการ ภายหลังยื่นแผนให้ศาล
ขณะที่ธนาคารเกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) ที่ปรึกษาทางการเงินรายใหม่กำลังเร่งเจรจาปรับโครงสร้างหนี้กับสถาบันการเงิน 7-8 ราย ซึ่งการบินมีแผนจัดจ้างเกียรตินาคินภัทร ไปจนกว่าแผนฟื้นฟูจะผ่านการอนุมัติเท่านั้น
2.การปรับปรุงเส้นทางการบินและฝูงบิน เตรียมยกเลิกเส้นทางที่ขาดทุน และบินเฉพาะเส้นที่มีกำไร เช่น ญี่ปุ่น จีน อินเดีย ปากีสถาน ฟิลิปปินส์ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ รวมทั้งยุโรปบางประเทศเช่น ลอนดอน และมีแผนที่จะกลับมาเปิดเที่ยวบินประจำ เส้นทางต่างประเทศครั้งแรกในเดือนต.ค. 64
เส้นทางนำร่องของ การบินไทย เช่น ญี่ปุ่น จีน อินเดีย เป็นต้น และเริ่มบินยุโรปหากมีการฉีดวัคซีนและเปิดให้บินได้ ส่วนสายการบินไทยสมายล์ยืนยันว่าจะไม่ยุบ จะยังคงทำการบินเส้นทางในประเทศและรอบภูมิภาคต่อไป
นายชาญศิลป์กล่าวต่อว่า3.การปรับปรุงองค์กรและหน่วยธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการบินนั้น จะเร่งจัดตั้งหน่วยธุรกิจย่อย 4 หน่วย คือ ครัวการบิน คาร์โก้ บริการภาคพื้น และซ่อมบำรุงอากาศยาน โดยการบินไทยจะเป็นผู้ถือหุ้นหลัก และเร่งเจรจาหาผู้ร่วมทุน พิจารณาจาก บริษัทที่เป็นลูกค้าเดิม ,เจ้าของพื้นที่ตั้งธุรกิจ และบริษัทที่มีเทคโนโลยี
โดยเฉพาะศูนย์ซ่อมที่ดอนเมือง ขณะนี้ได้นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีช่วยเข้ามาเจรจากับ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด(มหาชน) เจ้าของพื้นที่ เพื่อขอต่อสัญญาเช่า ขอลดค่าเช่าเดิม ซึ่งทอท.ระบุว่าจะต้องนำพื้นที่ดังกล่าวออกประมูลในรูปแบบพีพีพี เนื่องจากหมดสัญญาเช่าและการบินไทยได้เปลี่ยนสภาพเป็นบริษัทเอกชนแล้ว ทั้งนี้หากแผนฟื้นฟูการบินไทยผ่านการอนุมัติ บริษัทจะทยอยจ่ายหนี้ และพร้อมจ่ายส่วนแบ่งรายได้ให้กับ ทอท. หาก การบินไทย รับซ่อมเครื่องของลูกค้ารายอื่น
ส่วนMROอู่ตะเภาอาจจะต้องชะลอไปก่อนเพราะใช้เงินลงทุนมาก ขณะที่อุตสาหกรรมการบินอย่างซบเซาจากปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด โดยตั้งเป้าภายใน 5-8 ปี ที่จะเพิ่มสัดส่วนรายได้นอกธุรกิจการบินต่อรายได้ธุรกิจการบิน จาก 10%ต่อ90% เป็น 50%ต่อ50%
4.การปรับปรุงกลยุทธ์ด้านการพาณิชย์และความสามารถในการหารายได้ การบินไทย ได้จัดตั้งหน่วยงานใหม่ 2 หน่วยคือหน่วยขับเคลื่อนองค์กรและฝ่ายกลยุทธ์และพัฒนาองค์กร
“หน่วยขับเคลื่อนองค์กรมีแผนจัดทำโครงการ ทั้งในส่วนของลดค่าใช้จ่าย เพิ่มรายได้และปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงาน รวมทั้งหมด 600 โครงการ คาดว่าจะช่วยลดรายจ่ายและเพิ่มรายได้ให้กับบริษัท 3-5 หมื่นล้านบาท ภายใน 5 ปี เช่น โครงการเติมน้ำมันให้เหมาะสมกับการบิน, การขายทรัพย์สินที่ไม่จำเป็นในต่างประเทศ, การราคาขายตั๋วผ่านระบบติจิตอลมากขึ้นและทำให้ราคาบัตรมีหลากหลาย ตามความต้องการของลูกค้า เช่น บางคนไม่มีกระเป๋าไม่ต้องซื้อน้ำหนัก บางคนไม่ทานอาหาร บัตรโดยสารจะราคาถูกลง เป็นต้น “
และ5.การปรับปรุงโครงสร้างองค์กรให้กระชับ ลดงานที่ซ้ำซ้อน ปรับจำนวนพนักงานและสิทธิประโยชน์ค่าตอบแทน และสวัสดิการ โดยในช่วงปี 63 บริษัทได้เปิดโครงการการลาหยุดโดยไม่รับเงินเดือนและค่าตอบแทน หรือ Together We Canจำนวน 2 ครั้ง ,โครงการร่วมใจเสียสละเพื่อองค์กร ,เลิกจ้างพนักงานเอาท์ซอร์ส และมีพนักงานเกษียน ทำให้ปรับลดบุคลากรได้ 9,000 คน เหลือเพียง 2 หมื่นคน
และในเดือนก.พ. 64 ได้เปิดโครงการร่วมใจเสียสละเพื่อองค์กร มีเป้าหมายที่จะปรับลดพนักงานลงเหลือ 1.3-1.5 หมื่นคนภายใน ปี 64-65 และเตรียมเปิดโครงการพิเศษให้ลูกเรือซึ่งปัจจุบันมี 4,900 คน ลาหยุดระยะยาว รับเงินเดือน 20% โดยให้แต่ละคนสลับกันทำงานปีละ3-4 เดือน
ส่วนสายการบินไทยสมายล์นั้นยืนยันว่าจะไม่ยุบแน่นอน เพราะต้นทุนต่ำกว่า การบินไทย ใช้บินในประเทศและภูมิภาคแข่งกับสายการบินโลว์คอส ได้ ส่วนการบินไทยจะบินระหว่างประเทศระยะไกล