รีเซต

ขั้นตอนขอ "พระราชทานอภัยโทษ" ทักษิณ เข้าเกณฑ์ยื่นขอ "เฉพาะราย"

ขั้นตอนขอ "พระราชทานอภัยโทษ" ทักษิณ เข้าเกณฑ์ยื่นขอ "เฉพาะราย"
TNN ช่อง16
24 สิงหาคม 2566 ( 08:08 )
207
ขั้นตอนขอ "พระราชทานอภัยโทษ" ทักษิณ เข้าเกณฑ์ยื่นขอ "เฉพาะราย"



“นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี สามารถยื่นขอ “พระราชทานอภัยโทษ” ได้ทันที ซึ่งตามขั้นตอน เมื่อญาติยื่นเอกสารแล้ว คณะกรรมการของกรมราชทัณฑ์ จะพิจารณาเสนอกระทรวงยุติธรรม และเสนอนายกรัฐมนตรี โดยการ “พระราชทานอภัยโทษ” ถือเป็น “พระราชอำนาจ” มี 2 ประเภท คือ เป็นการทั่วไป กับเป็นการเฉพาะราย ซึ่ง กรณีของนายทักษิณหากจะยื่นเฉพาะราย คาดว่ากระบวนการแล้วเสร็จ ไม่เกิน 1-2 เดือน ที่จะพิจารณาและมีผล ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับความพร้อมของเอกสารและพระราชอำนาจ”



นายสิทธิ สุธีวงศ์ รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์

 



นายสิทธิ สุธีวงศ์ รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าวถึง หลักเกณฑ์การยื่นขอพระราชอภัยโทษของนายทักษิณ หลังเดินทางกลับประเทศไทยเพื่อรับโทษ โดยศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองออกหมายจำคุกคดีถึงที่สุดไป เมื่อวันที่ 22 สิงหาคมที่ ผ่านมา 3 คดี ประกอบด้วย คดีหมายเลขแดงที่ อม. 4/2551 (คดีทุจริตสั่งเอ็กซิมแบงก์ปล่อยกู้ให้รัฐบาลเมียมา) ลงโทษจำคุก 3 ปี คดีหมายเลขแดงที่ อม. 10/2552 (คดีหวยบนดิน) ลงโทษจำคุก 2 ปี และคดีหมายเลขแดงที่ อม. 5/2551(คดีแก้ไขสัญญาสัมปทานโทรคมนาคมเอื้อประโยชน์ให้ชินคอร์ป) ลงโทษจำคุก 5 ปี โดยนายทักษิณสามารถยื่นขอพระราชทานอภัยโทษได้ทันที ไม่จำเป็นต้องรับโทษจำคุกมาแล้ว 1 ใน 3 ของการกำหนดโทษ เพราะเป็นคนละเรื่องกับกระบวนการ “ลดโทษ” ของกรมราชทัณฑ์ ที่ตามระเบียบจะต้องรับโทษมาแล้ว 2 ใน 3 ของการกำหนดโทษ แต่ในกลุ่มผู้สูงอายุ 70 ปี ขึ้นไป จะต้องรับโทษมาแล้ว 1ใน 3 



สำหรับ การพระราชทานอภัยโทษ แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ “การพระราชทานอภัยโทษเป็นการทั่วไป” และ “การพระราชทานอภัยโทษเฉพาะราย “โดยประเภทที่สอง การพระราชทานอภัยโทษเฉพาะราย ซึ่ง นายทักษิณ อยู่ในเงื่อนไขนี้ คือ การพระราชทานอภัยโทษแก่ผู้ต้องราชทัณฑ์ หรือผู้ต้องโทษเป็นรายบุคคล โดยการทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษตามการถวายคำแนะนำของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ส่วนจะได้รับพระราชทานอภัยโทษหรือไม่เพียงใด ขึ้นอยู่กับพระบรมราชวินิจฉัยขององค์พระมหากษัตริย์ ส่วนกรอบเวลาการยื่น ฎีกาทูลเกล้าฯ ขอพระราชทานอภัยโทษเฉพาะราย  หากเป็นผู้ต้องโทษกรณีทั่วไป สามารถยื่นได้ทันทีที่คดีถึงที่สุด แต่หากเป็นผู้ต้องโทษประหารชีวิต ต้องยื่นภายใน 60 วัน นับแต่คดีถึงที่สุด



ส่วนขั้นตอนการขอพระราชทานอภัยโทษเฉพาะราย ผู้ต้องโทษ (โทษประหารชีวิต จำคุก กักขัง ปรับ ริบทรัพย์สิน) ที่คดีถึงที่สุดแล้ว และผู้ที่มีประโยชน์เกี่ยวข้องสามารถยื่นเรื่องราวทูลเกล้าฯถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษผ่านเรือนจำ, ทัณฑสถาน หรือ กระทรวงยุติธรรม หรือสำนักราชเลขาธิการ หรือ กระทรวงการต่างประเทศ หรือ สถานทูต หลังจากรับเรื่องแล้ว กรมราชทัณฑ์ จะส่งไปสอบสวนที่เรือนจำ,ทัณฑสถานที่ควบคุมผู้ต้องโทษ จากนั้นจะเสนอความเห็นให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมลงนาม เพื่อนำความขึ้นกราบบังคมทูลฯ ผ่านสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี และสำนักราชเลขาธิการ เมื่อทรงมีพระบรมราชวินิจฉัย ก็จะส่งผลฎีกาดังกล่าวให้กรมราชทัณฑ์ทราบ และดำเนินการพร้อมทั้งแจ้งผลให้ผู้ยื่นรับทราบ 

หากพระราชทานอภัยโทษให้อาจจะเป็นการพระราชทานอภัยโทษให้ทั้งหมด โดยให้ปล่อยตัวไป หรือพระราชทานอภัยโทษให้เป็นบางส่วน เช่น ลดโทษจากประหารชีวิต เป็นจำคุกตลอดชีวิต หรือลดโทษจากกำหนดระยะเวลาต้องโทษเดิม โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ ส่วนในรายที่ไม่พระราชทานอภัยโทษให้ จะมีหนังสือสำคัญแจ้งผลฎีกา โดยนายกรัฐมนตรีเป็นผู้ลงนามแจ้ง

ทั้งนี้ เรื่องราวขอพระราชทานอภัยโทษ ซึ่งไม่ใช่โทษประหารชีวิต ถ้ามีพระราชกระแสให้ยกฎีกาแล้ว จะยื่นใหม่อีกไม่ได้จนกว่าจะพ้นสองปีนับแต่วันถูกยกครั้งก่อน คือ จะต้องรอให้พ้นสองปีไปก่อนจึงจะยื่นทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษขึ้นไปใหม่ได้ 




สำหรับ “การพระราชทานอภัยโทษเป็นการทั่วไป” คือ การพระราชทานอภัยโทษแก่ผู้ต้องโทษ โดยการตราพระราชกฤษฎีกาตามการถวายคำแนะนำของคณะรัฐมนตรีต่อพระมหากษัตริย์  ในกรณีนี้ ทางราชการจะดำเนินการให้แก่ผู้ต้องโทษในทุกขั้นตอน โดยที่ไม่ต้องดำเนินการใด ๆ การพระราชทานอภัยโทษเป็นการทั่วไป  มักจะมีขึ้นในวโรกาสมหามงคลต่าง ๆ  เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์  


เช่น พระราชกฤษฎีกา พระราชทานอภัยโทษ พ.ศ.2564 เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 28 กรกฎาคม 2564 มีผู้ต้องโทษได้รับการปล่อยตัวออกจากเรือนจำและได้รับสิทธิ เข้าหลักเกณฑ์ลดวันต้องโทษตามพระราชกฤษฎีกาฉบับดังกล่าวกว่า 200,000 คน และในครั้งนั้นมีรายชื่อ อดีตนักการเมือง และอดีตข้าราชการ ที่มีชื่อเสียง ซึ่ง เป็นผู้ต้องโทษถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำได้ลดโทษ และเข้าข่ายได้รับการพระราชทานอภัยโทษ ตามพระราชกฤษฎีกา ฉบับนี้ ได้แก่ 


1.นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ อายุ 61 ปี เป็นนักโทษชั้นเยี่ยม จากคดีโครงการจำนำข้าวในรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่ง ศาลพิพากษาปี 2560 กำหนดโทษไว้ 48 ปี ได้รับพระราชทานอภัยโทษปี 2564 รอบแรก เหลือวันต้องโทษจำคุก 16 ปี และได้รับพระราชทานอภัยโทษปีเดียวกันนี้ ในรอบสอง เหลือวันต้องโทษ 10 ปี จะพ้นโทษ 21 เมษายน 2571


2.นายภูมิ สาระผล อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง อายุ 65 ปี เป็นนักโทษชั้นเยี่ยม ศาลพิพากษาปี 2560 กำหนดโทษ ไว้ 36 ปี ได้รับพระราชทานอภัยโทษปี 2564 รอบแรก เหลือวันต้องโทษจำคุก 12 ปี และได้รับพระราชทานอภัยโทษปีเดียวกันนี้ ในรอบสอง เหลือวันต้องโทษ 8 ปี จะพ้นโทษ 25 สิงหาคม 2568


3.นายมนัส สร้อยพลอย อดีตอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ อายุ 69 ปี เป็นนักโทษชั้นเยี่ยม ศาลพิพากษาปี 2560 กำหนดโทษไว้ 40 ปี ได้รับพระราชทานอภัยโทษปี 2564 รอบสอง เหลือวันต้องโทษ 8 ปี จะพ้นโทษ 11 กรกฎาคม 2569 


4.นายอภิชาติ จันทร์สกุลพร หรือเสี่ยเปี๋ยง อายุ 64 ปี นักโทษชั้นเยี่ยม ศาลพิพากษาปี 2561 กำหนดโทษไว่ 48 ปี ได้รับพระราชทานอภัยโทษปี 2564 รอบแรก เหลือโทษจำคุก 9 ปี และได้รับพระราชทานอภัยโทษปีเดียวกันนี้ รอบสอง เหลือโทษจำคุก 6 ปี 3 เดือน 26 วัน จะพ้นโทษ 26 ธันวาคม 2566


5.นางจุฑามาศ ศิริวรรณ อดีตผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) อายุ 75 ปี นักโทษชั้นเยี่ยม ศาลพิพากษาปี 2560 กำหนดโทษไว้ 50 ปี ได้รับพระราชทานอภัยโทษปี 2564 รอบแรก เหลือโทษจำคุก 17 ปี และได้รับพระราชทานอภัยโทษปี 2564 รอบสอง เหลือโทษจำคุก 9 ปี 5 เดือน 24 วัน จะพ้นโทษ 16 กันยายน 2569


ต่อมามีในปี 2565 มีการเปลี่ยนแปลงพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษในโอกาสสำคัญ โดยแก้ไขหลักเกณฑ์เรื่องระยะปลอดภัย, ลดอัตราส่วนการอภัยให้ได้น้อยลง และทุกฐานความผิดต้องผ่านเกณฑ์ 1 ใน 3 หรือ 8 ปี ดังนั้น ผู้ที่ได้รับพระราชทานอภัยโทษไปครั้งล่าสุด จะไม่ได้รับพระราชทานอภัยโทษในคราวนี้อีก นอกจากนี้ ตัดการให้ได้รับพระราชทานอภัยโทษ สำหรับนักโทษชั้นกลางออก โดยให้ตั้งแต่ชั้นดีขึ้นไป ซึ่ง แต่เดิมเมื่อเข้าเรือนจำจะเริ่มต้นเป็นชั้นกลางและได้รับเกณฑ์พระราชทานอภัยโทษด้วย ทั้งนี้ เป็นไปตามหลักเกณฑ์ข้อเสนอแนะของคณะกรรมการตรวจสอบการดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยการอภัยโทษ ชุด ศาสตราจารย์พิเศษเข็มชัย ชุติวงศ์ ที่ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สั่งให้ดำเนินการตรวจสอบและแก้ไขหลักเกณฑ์ให้ถูกต้องใหม่ทั้งหมด



ข้อมูลอ้างอิง : สถาบันพระปกเกล้า

เรียบเรียงโดย : กาญธิกา มาเรียน อังคณิต


ข่าวที่เกี่ยวข้อง