รีเซต

ศบค.ชุดใหญ่ ยันเตียงเพียงพอ ด้าน กทม.เตรียมเปิดศูนย์พักคอยเพิ่มอีก 9 แห่ง 26 ก.พ.นี้

ศบค.ชุดใหญ่ ยันเตียงเพียงพอ ด้าน กทม.เตรียมเปิดศูนย์พักคอยเพิ่มอีก 9 แห่ง 26 ก.พ.นี้
มติชน
23 กุมภาพันธ์ 2565 ( 14:52 )
38

เมื่อเวลา 12.30 น. วันที่ 23 กุมภาพันธ์ ที่ทำเนียบรัฐบาล นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) เปิดเผยภายหลังการประชุม ศบค.ชุดใหญ่ ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะ ผอ.ศบค. เป็นประธานการประชุม ว่า ในที่ประชุมได้มีการหารือถึงสถานการณ์เตียงของประเทศ (ภาพรวมประเทศ) โดยข้อมูลเมื่อวันที่ 22 ก.พ.65 แยกตามประเภทเตียง แบ่งเป็น ระดับที่ 1 (ป่วยน้อย) มีเตียงทั้งหมด 148,219 เตียง ครองเตียง 82,523 เตียง หรือคิดเป็นร้อยละ 55.7 ระดับ 2.1 (ป่วยหนัก) มีเตียงทั้งหมด 24,234 เตียง ครองเตียง 4,882 เตียง หรือคิดเป็นร้อยละ 20.1 ระดับ 2.2 (ป่วยหนัก) มีเตียงทั้งหมด 5,592 เตียง ครองเตียง 676 เตียง หรือคิดเป็นร้อยละ 12.1 ระดับ 3 (ป่วยวิกฤต) มีเตียงทั้งหมด 2,163 เตียง ครองเตียง 402 เตียง หรือคิดเป็นร้อยละ 18.6 รวมทั้งหมดมีจำนวนเตียง 180,208 เตียง ครองเตียง 88,483 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 49.1

 

ส่วนจำนวนผู้ป่วยติดเชื้อที่ลงทะเบียนรับการดูแลนอกสถานพยาบาลทั่วประเทศ แบ่งเป็น ผู้ที่เข้ารับการดูแลใน Community Isolation รวม 21,120 ราย และผู้ที่ลงทะเบียนรับการดูแลโดยสถานพยาาล กรณี Home Isolation รวม 47,373 ราย ซึ่งประเด็นนี้ ผอ.ศบ.ให้ความใส่ใจเป็นพิเศษโดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพ ซึ่งเบื้องต้นผู้ว่ากรุงเทพมหานคร (กทม.) แจ้งว่า มีเตียงเพียงพอในการรักษา โดยกทม.มีศูนย์พักคอยทั้งหมด 31 แห่ง และมีเตียงว่า 1,900 เตียง

 

 

ทั้งนี้ จากสถานการณ์การแพร่ระบาดในปัจจุบัน ส่งผลให้ทาง กทม.จะมีการเปิดศูนย์พักคอยเพิ่มอีก 9 แห่ง ซึ่งจะทำให้มีจำนวนเตียงเพิ่มขึ้นมาอีก 970 เตียง โดยในส่วนนี้จะเริ่มเปิดให้บริการตั้งแต่วันที่ 26 ก.พ.นี้ เป็นต้นไป ขณะเดียวกัน ที่ประชุมฯ ยังคงระดับการแบ่งพื้นที่สีไว้ดังเดิม เนื่องจากการประมินสถานการณ์รายสัปดาห์ยังอยู่ในระดับที่ควบคุมได้อยู่

 

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ส่วนการเปิดเรียนแบบ Onsite นั้น ที่ประชุม ศบค.ชุดใหญ่ได้อนุญาตให้ ครู นักเรียน หรือบุคลากรที่เป็นกลุ่มเสี่ยงต่ำเรียน Onsite ได้ตามปกติ และเฝ้าดูอาการ ส่วนกรณีที่ นักเรียน ครู บุคลากร เป็นกลุ่มเสี่ยงสูงให้จัดการเรียน การสอน ปฏิบัติงาน แบบพื้นที่กักตัว ตามแนวทาง sandbox safety zone เป็นระยะเวลา 7 วันและเฝ้าติดตามอาการอีก 3 วีน และหากมีอาการให้รีบตรวจหาเชื้อทันที

 

สำหรับการสอบนั้น กรณีนักเรียน ครู หรือ บุคลากร ติดโควิด ให้พิจารณาร่วมกับบริการสาธารณสุข และจัดสถานที่สอนอย่างเหมาะสม เน้นระบายอากาศ กำกับติดตามมาตรการส่วนบุคคลสูงสุด

 

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า นอกจากนี้ ที่ประชุม ศบค.ชุดใหญ่ ยังเห็นชอบให้ยกเลิกการตรวจโควิดแบบ RT-PCR ครั้งที่ 2 หรือ ในวันที่ 5 และให้ตรวจด้วย ATK แทน ซึ่งการตรวจแบบ ATK มีความแม่นยำในระดับหนึ่งและเป็นที่ยอมรับโดยทั่วไป มีผลตั้งแต่ 1 มี.ค.นี้ และได้เห็นชอบให้ลดวงเงินประกันสุขภาพจากเดิม 50,000 เหรียญสหรัฐ ให้ลดลงเหลือ 20,000 เหรียญสหรัฐ หรือ ไม่เกิน 700,000 บาทต่อราย ซึ่งครอบคลุมเพียงพอต่อการรักษาโควิด ประมาณ 300,000 บาทต่อราย อีกด้วย

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง