รีเซต

ปธ.หอการค้าไทย แนะรัฐเร่งปล่อย 'คนละครึ่งเฟส5' ประคองใช้จ่าย-พยุงศก.หลังดีเซลพุ่ง

ปธ.หอการค้าไทย แนะรัฐเร่งปล่อย 'คนละครึ่งเฟส5' ประคองใช้จ่าย-พยุงศก.หลังดีเซลพุ่ง
มติชน
28 เมษายน 2565 ( 18:45 )
245
ปธ.หอการค้าไทย แนะรัฐเร่งปล่อย 'คนละครึ่งเฟส5' ประคองใช้จ่าย-พยุงศก.หลังดีเซลพุ่ง

ข่าววันนี้ นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยถึง ผลกระทบดีเซลขึ้นทันที 32 บาท และขึ้นสัปดาห์ละบาทถึง 35 บาท นั้น ผลกระทบทางเศรษฐกิจจากปัญหาราคาพลังงาน ที่ผ่านมาจากสถานการณ์ รัสเซีย-ยูเครน ทำให้ราคาน้ำมันอยู่ที่ 100 – 120 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ซึ่งหากสถานการณ์มีความยืดเยื้อยังไม่สิ้นสุดอาจะไปถึง 130 -140 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลที่ผ่านมารัฐบาลได้ดำเนินหลายมาตรการในการช่วยเหลือประชาชน ทั้งการลดค่าไฟฟ้า ค่าก๊าซหุงต้ม รวมทั้งการตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตร

 

แต่ในเดือนพฤษภาคมนี้ มาตรการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล จะสิ้นสุดลง หากราคาน้ำมันตลาดโลกยังคงพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่เงินจากกองทุนน้ำมันลดลงจนไม่สามารถนำมาประคองราคาน้ำมันดีเซลได้อีก อาจทำให้ราคาน้ำมันดีเซลในประเทศโดดขึ้นมาเป็น 35-36 บาทต่อลิตร แน่นอนว่า ราคาสินค้าหลายรายการจะมีการปรับขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

 

ดังนั้น แนวทางในการรับมือกับราคาน้ำมันที่สูงขึ้นของแต่ละธุรกิจนั้นอาจจะไม่เท่ากัน แม้ว่าบางธุรกิจจะไม่ได้ใช้น้ำมันดีเซลเป็นหลัก แต่ก็ยังได้รับผลกระทบจากต้นทุนพลังงานด้านอื่น เช่น ค่าก๊าซ ค่าไฟฟ้า ที่จะเพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน

 

” เชื่อว่าระดับราคาน้ำมันดีเซลที่ภาคธุรกิจสามารถรับได้ คือ 30 บาทต่อลิตร เพราะจะเห็นว่าที่ผ่านมายังไม่มีเสียงเรียกร้องจากภาคธุรกิจมากนัก (ยกเว้นภาคขนส่ง) ซึ่งจากการวิเคราะห์ของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย พบว่า หากมีการขยับราคาดีเซล ขึ้น 10% ธุรกิจจะยังสามารถประคองธุรกิจต่อไปได้อีกประมาณ 3 เดือน และเมื่อราคาขยับเข้าใกล้ 35 บาท อาจจะเริ่มเตรียมตัวปรับขึ้นราคาสินค้า

 

รวมไปถึงมาตรการอื่น ๆ ที่จะช่วยให้ธุรกิจของตนอยู่รอด แต่ก็ไม่ควรฝืนกลไกตลาดโลก ซึ่งควรปรับขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป เพื่อให้ภาคธุรกิจได้มีเวลาในการปรับตัวและภาครัฐต้องเร่งออกมาตรการ ทั้งระยะสั้นและระยะยาว สำหรับการรับมือในสถานการณ์ครั้งนี้ เพื่อช่วยเหลือประชาชนและภาคธุรกิจให้ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด ” นายสนั่น กล่าว

 

นายสนั่น กล่าวต่อว่า ซึ่งที่สำคัญที่ต้องมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อสร้างการหมุนเวียนของเม็ดเงินในระบบเศรษฐกิจ ซึ่งจะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนจากราคาน้ำมันได้ทางหนึ่ง

 

นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย วิเคราะห์ว่า การปรับขึ้นราคาน้ำมันดีเซลเป็นขั้นบันได โดยเริ่มที่ลิตรละ 32 บาท จะทำให้ค่าใช้จ่ายภาคประชาชนเพิ่มขึ้นเดือนละ 3,000 ล้านบาท และหากราคาแตะ 35 บาทต่อลิตร ค่าใช้จ่ายจะเพิ่มขึ้นถึงเดือนละ 7,500 ล้านบาท ทำในช่วงเดือนมิถุนายนถึงกันยายน จะมีเม็ดเงินค่าใช้จ่ายที่สูญเสียไปกับค่าน้ำมันดีเซลถึง 30,000 ล้านบาท

 

รัฐบาลจึงจำเป็นต้องมีมาตรการออกมาชดเชยผลกระทบที่เกิดขึ้น เพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ และมองว่าโครงการคนละครึ่ง เฟส 5 สามารถตอบโจทย์ ในการเพิ่มเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจได้ง่าย และเร็วที่สุด ให้วงเงิน 1,000-1,500 บาท จะทำให้มีเม็ดเงินในระบบเศรษฐกิจถึง 45,000 ล้านบาท เพียงพอกับเม็ดเงินที่สูญเสียไปกับราคาน้ำมันที่สูงขึ้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง