จีนเปลี่ยน 'ค่ายกักกัน' สงครามโลกครั้งที่สองสู่ 'พิพิธภัณฑ์' จารึกประวัติศาสตร์ไม่ลืมเลือน
จี่หนาน, 8 ก.ย. (ซินหัว) -- พิพิธภัณฑ์เหวยเซี่ยนซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ที่เคยเป็นค่ายกักกันสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง ทางภาคตะวันออกของจีน ได้เปิดให้สาธารณชนเข้าเยี่ยมชมแล้วเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา (3 ก.ย.) ซึ่งตรงกับวาระครบรอบ 75 ปีที่ประชาชนจีนได้รับชัยชนะในสงครามต่อต้านการรุกรานของญี่ปุ่นและสงครามต่อต้านฟาสซิสต์โลก
สีจิ้นผิง ประธานาธิบดีจีนกล่าวในงานประชุมที่จัดขึ้นในกรุงปักกิ่งเนื่องในวาระครบรอบฯ ว่าประชาชนชาวจีนและมนุษยชาติทั้งผองได้เอาชนะลัทธิฟาสซิสต์ได้อย่างหมดจดในท้ายที่สุด ด้วยความมุ่งมั่นอันแรงกล้าและการต่อสู้อย่างกล้าหาญ
สีจิ้นผิงกล่าวว่าชัยชนะเป็นของชาวจีนและชาวประชาทั่วโลก และจะถูกจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ชาติจีน รวมถึงประวัติศาสตร์การต่อสู้เพื่อความยุติธรรมของมวลมนุษยชาติ
ค่ายกักกันเหวยเซี่ยน (Weihsien concentration camp) ซึ่งตั้งอยู่ในเมืองเหวยฟาง มณฑลซานตง ถูกควบคุมโดยผู้รุกรานชาวญี่ปุ่นตั้งแต่เดือนมีนาคม 1942 ถึงเดือนสิงหาคม 1945 เพื่อกักกันชาวต่างชาติมากกว่า 2,000 รายจากสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร แคนาดา และประเทศอื่นๆ โดยในจำนวนนี้เป็นเด็กมากกว่า 300 ราย
จี๋ซู่ชุน ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์เมืองเหวยฟางกล่าวว่า "ชาวต่างชาติ 2,008 คนถูกจองจำในค่าย ในนี้มีนักเรียนกว่า 300 คน ทุกคนถูกกักตัวรวมกัน รวมถึง อีริก ลิดเดลล์ นักกีฬาเหรียญทองจากการแข่งขันโอลิมปิกปารีส 1924 และอาร์เธอร์ ดับเบิลยู. ฮัมเมล จูเนียร์ ที่ภายหลังดำรงตำแหน่งเป็นทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศจีน"
ภายในพิพิธภัณฑ์เหวยเซี่ยนจัดแสดงตะเกียงน้ำมันก๊าด กาต้มน้ำ นาฬิกา และสิ่งของอื่นๆ ที่ผู้ถูกกักกันเคยใช้ รวมถึงรอยประทับฝ่ามือของผู้ถูกกักกันและลูกหลาน
เมื่อปี 1882 ชาวอเมริกันได้สร้างชุมชนชื่อว่า "คอร์ทยาร์ด ออฟ เดอะ แฮปปี เวย์" (Courtyard of the Happy Way) หรือเล่อเต้าย่วน ซึ่งมีทั้งโบสถ์ โรงพยาบาล และโรงเรียนเปิดทำการมานานหลายทศวรรษ กระทั่งในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ชุมชนแห่งนี้ถูกชาวญี่ปุ่นเปลี่ยนให้กลายเป็นค่ายกักกัน เพื่อคุมขังชาวตะวันตกที่ก่อนหน้านี้อาศัยอยู่ในหลายพื้นที่ เช่น กรุงปักกิ่ง นครเทียนจิน มณฑลซานตง และมณฑลเหอหนาน
ชาวญี่ปุ่นตั้งชื่อให้สถานที่แห่งนี้ด้วยถ้อยคำสวยหรูว่า "ศูนย์ชุมนุมพลเรือน" เพื่อซ่อนเร้นความจริงอันเลวร้าย
ค่ายกักกันเหวยเซี่ยนได้รับการปลดปล่อยโดยทีมช่วยเหลือจากกองทัพอเมริกันในจีน ที่กระโดดร่มลงไปยังค่ายกักกันเมื่อวันที่ 17 ส.ค. 1945 หรือสองวันหลังจากกองทัพญี่ปุ่นยอมจำนน
(แฟ้มภาพซินหัว: เล่อเต้าย่วน (บน) เมื่อปี 1925 กับเล่อเต้าย่วน (ล่าง) เมื่อวันที่ 18 ส.ค. 2020 ในมณฑลซานตงทางตะวันออกของจีน)
ผู้ถูกกักกันได้รับความช่วยเหลือจากชาวนาในท้องถิ่นด้วยการแอบนำอาหารมาให้และช่วยผู้ถูกกักกันบางรายหลบหนี
"ฉันรู้สึกขอบคุณชาวนาเหวยเซี่ยนจากก้นบึ้งหัวใจ ที่เสี่ยงชีวิตแอบนำอาหารข้ามกำแพงมาให้" แอนเจลา เอลเลียต ชาวแคนาดาที่ถือกำเนิดในค่ายกักกันเหวยเซี่ยนเมื่อปี 1943 กล่าวในวิดีโอที่ฉายในพิธีเปิดพิพิธภัณฑ์
อดีตผู้ถูกกักกันและทายาทของผู้ถูกกักกันจำนวนมากไม่สามารถเดินทางมาร่วมพิธีเปิดพิพิธภัณฑ์ได้ เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) โดยพวกเขาได้ส่งข้อความแสดงความปีติยินดีมายังชาวจีนผ่านทางวิดีโอ
"ค่ายกักกันเหวยเซี่ยนคือหลักฐานแห่งประวัติศาสตร์ที่บอกเล่าการรุกรานและการกดขี่ชาวตะวันตกของชาวญี่ปุ่น" จี๋ซู่ชุน ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์เมืองเหวยฟางกล่าว
(แฟ้มภาพซินหัว: ผู้คนเข้าร่วมการเฉลิมฉลอง 60 ปีการปลดปล่อยค่ายกักกันเหวยเซี่ยนปลอบใจกันและกันในเมืองเหวยฟาง มณฑลซานตงทางตะวันออกของจีน เมื่อวันที่ 17 ส.ค. 2005)
ความมืดหม่นในค่ายกักกัน
ชุมชนที่มีพื้นที่กว้างที่สุดเพียง 200 หลา และมีความยาว 150 หลา เป็นที่ตั้งของอาคารหอพักสองสามหลังที่จัดวางเตียงนอนห่างกันเพียง 18 นิ้ว เสียงกรน เสียงเรอ และเสียงปัสสาวะที่หลั่งกระทบกระโถนกลายมาเป็นท่วงทำนองอันคุ้นหู การสูญเสียความเป็นส่วนตัวเช่นนี้นับเป็นนรกอันเลวร้ายที่สุดสำหรับมนุษย์วัยผู้ใหญ่
สภาพดังกล่าวเป็น "ค่ายนักโทษ" ที่แออัดตามที่แมรี พรีไวท์ (Mary Previte) บรรยายไว้ในบทความ โดยเธอถูกคุมขังอยู่ 3 ปีเมื่อตอนที่ยังเป็นเด็ก ก่อนจะได้รับการช่วยเหลือเมื่อปี 1945 ขณะที่มีอายุได้ 12 ปี
"เราถูกแยกจากพ่อแม่ และต้องจมอยู่ในโลกที่มีแต่ความอดอยาก สุนัขเฝ้ายาม การซ้อมใช้ดาบปลายปืน ต้องติดป้ายและหมายเลขประจำตัวนักโทษ เผชิญตัวเรือดตัวไร แมลงวัน และสภาพสุขอนามัยที่เลวร้ายเกินกว่าจะเอื้อนเอ่ย" พรีไวท์กล่าวสุนทรพจน์เมื่อปี 2005 ระหว่างการเฉลิมฉลอง 60 ปีการปลดปล่อยค่ายกักกันเหวยเซี่ยนในเมืองเหวยฟาง
พรีไวท์จากโลกนี้ไปเมื่อปีก่อน โดยก่อนหน้านี้ เธอเคยดำรงตำแหน่งในสภาผู้แทนราษฎรนิวเจอร์ซีย์ และมุ่งทำงานด้านความยุติธรรมต่อเยาวชนและปัญหาครอบครัว
ค่ายกักกันเหวยเซี่ยนยังได้รับการจดจำในชื่อ"ตลาดมืด" จากการที่ชาวนาจีนนำอาหารส่งข้ามกำแพงมาให้ผู้ถูกกักกัน
หลี่เจ้าเสียน วัย 89 ปี เป็นผู้ที่อาศัยอยู่ในชุมชนละแวกใกล้เคียงกับค่ายกักกันเหวยเซี่ยน ซึ่งในสมัยก่อนเป็นเพียงหมู่บ้านเล็กๆ แห่งหนึ่ง หลี่ยังจำได้ว่าเมื่อกว่าเจ็ดสิบปีก่อน ผู้ใหญ่ในหมู่บ้านจะแอบย่องไปที่นอกค่ายกักกันเพื่อแลกเปลี่ยนอาหารและสิ่งของเครื่องใช้จำเป็นอื่นๆ กับผู้ถูกกักกัน
"ผู้ถูกกักกันต้องการอาหาร ชาวบ้านบางคน (จางซิ่งไท่) ก็อยากนำอาหารไปให้พวกเขา เราให้อะไรพวกเขาน่ะหรือ ก็พวกขนมปังกับซาลาเปา" หลี่เล่าอดีต
ชาวแคนาดารายหนึ่งที่เคยถูกจองจำในค่ายกักกันเหวยเซี่ยนเล่าว่า "เวลาที่ชาวบ้านเข้ามาเอาสิ่งปฏิกูลจากห้องน้ำในตอนเช้า พวกเขาจะซ่อนขวดเอาไว้ใต้ก้นถัง ในขวดจะมีจดหมายจากภายนอกและข่าวสารต่างๆ"
เอกสารที่เกี่ยวข้องชี้ว่าอาหารที่ปันส่วนให้ผู้ถูกกันกันส่วนใหญ่เป็นข้าวฟ่างและข้าวโพด ซึ่งมีปริมาณจำกัดและมักจะเน่าเสีย เนื่องจากกองทัพญี่ปุ่นขาดแคลนแหล่งทรัพยากรในช่วงที่ขยายการรุกราน
(แฟ้มภาพซินหัว: ภาพถ่ายไม่ระบุวันที่ของผู้ถูกกักกันที่กำลังรับประทานอาหารกลางวันในค่ายกักกันเหวยเซี่ยน มณฑลซานตงทางตะวันออกของจีน)
เหยียนปิง ผู้นำชมพิพิธภัณฑ์เหวยฟางกล่าวว่าอาหารโสมมที่ต้องฝืนกลืนนั้นสร้างความทรมานให้ชาวต่างชาติอย่างมาก
"พอพ้นสายตาผู้คุม พวกฝรั่งจะโยนข้าวของ เช่น นาฬิกาและเครื่องประดับออกไปนอกกำแพง ชาวบ้านแถวนั้นก็จะไปเก็บของ และนำน้ำตาลทรายขาว มะเขือเทศ ไข่ไก่ หรืออาหารอื่นๆ มาแลกเปลี่ยน เลยกลายเป็นตลาดไปในที่สุด" เหยียนกล่าว
เหยียนกล่าวว่าจางซิ่งไท่และลูกชายของเขา ซึ่งมีหน้าที่กำจัดสิ่งปฏิกูลจากห้องน้ำของค่ายกักกันได้ช่วยเหลือผู้ถูกกักกัน 2 คนให้หลบหนีออกจากค่าย
อีเลียต ชาวแคนาดาที่เคยถูกจองจำในค่ายกักกันเหวยเซี่ยนกล่าวว่า "ผู้ถูกกักกันทุกคนนับถือชาวบ้านอย่างยิ่งที่ช่วยเหลือพวกเรา เพราะพวกเขาเอาชีวิตของตัวเองเข้าเสี่ยง ชาวบ้านหลายคนช่วยเราและรอดพ้นมาได้ แต่โชคร้ายที่ชาวบ้านบางคนก็โดนจับ"
จำอดีตเพื่อสันติ
ตลอดหลายปีที่ผ่านมา เอกสารดั้งเดิมและข้าวของเครื่องใช้จากค่ายกักกันเหวยเซี่ยนเริ่มสูญหายไปตามกาลเวลา เช่นเดียวกันกับค่ายกักกันที่เริ่มถูกตึกสูงใหญ่ในเมืองเหวยฟางเข้ามาบดบังอย่างช้าๆ
อาคารอิฐ 7 หลังในค่ายกักกันได้ผ่านพ้นกระแสธารแห่งกาลเวลามาเนิ่นนาน โดยมีอาคาร 3 หลังที่ถูกเปลี่ยนเป็นพิพิธภัณฑ์ และอาคารที่เหลือจะถูกเปลี่ยนเป็นพิพิธภัณฑ์ในภายหลัง
ที่ชั้น 2 ของพิพิธภัณฑ์เหวยเซี่ยนมีงานประติมากรรมตั้งอยู่ชิ้นหนึ่ง เป็นรูปปืนไรเฟิล 2 กระบอกปักอยู่ที่พื้นดิน มีหมวกทหารหนึ่งใบแขวนอยู่ที่ด้ามปืน และมีนกพิราบแห่งสันติภาพเกาะอยู่บนหมวก
"สงครามโลกครั้งที่สองคือมหันตภัยของมนุษยชาติทุกคน การหวนรำลึกถึงสงครามเป็นเครื่องย้ำเตือนให้เราหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดสงครามขึ้นอีก ขอให้โลกใบนี้มีอนาคตที่สันติสุข" คือถ้อยคำที่อยู่บนกำแพงด้านหลังประติมากรรม