รีเซต

Cell Broadcast ไม่แจ้งเตือน! โทรศัพท์ 2G และ 3G ไม่รองรับ จะได้ SMS เตือนภัยแทน

Cell Broadcast  ไม่แจ้งเตือน! โทรศัพท์ 2G และ 3G ไม่รองรับ จะได้ SMS เตือนภัยแทน
TNN ช่อง16
13 พฤษภาคม 2568 ( 15:02 )
23

นายภาสกร บุญญลักษม์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า วันนี้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้กำหนดการทดสอบแจ้งเตือนภัยผ่านสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Cell Broadcast) ระดับใหญ่ (จังหวัด/กรุงเทพมหานคร) ใน 5 พื้นที่ ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จังหวัดอุดรธานี จังหวัดนครศรีธรรมราช และกรุงเทพมหานคร 

โดยกำหนดสถานการณ์จำลองการเกิดสถานการณ์วาตภัยและอุทกภัยขึ้นในพื้นที่ ซึ่ง ปภ. ต้องส่งข้อความการแจ้งเตือนภัยตามระเบียบกระบวนงาน (Workflow) การส่งข้อมูลให้กับผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ เพื่อแจ้งเตือนประชาชนผ่านระบบ Cell Broadcast ในพื้นที่ 4 จังหวัด (เชียงใหม่ พระนครศรีอยุธยา อุดรธานี นครศรีธรรมราช) และกรุงเทพมหานคร

โดยส่งในรหัสเหตุการณ์ Nation Alert จำนวน 1 ครั้ง ในเวลา 13.00 น. ระยะเวลาที่แสดง 10 นาที โดยประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ทดสอบและพื้นที่ใกล้เคียงนอกเขตพื้นที่เป้าหมายในรัศมี ประมาณ 1 – 3 กิโลเมตร จะได้รับเสียงเตือนจากโทรศัพท์มือถือและมีข้อความแจ้งเตือนปรากฏขึ้นบนหน้าจอโดยอัตโนมัติ ซึ่งจะเป็นแบบเดียวกับที่จะได้รับเมื่อเกิดสถานการณ์ภัยขึ้นจริง 

ไม่ได้รับการแจ้งเตือนภัย

ซึ่งประชาชนที่ใช้โทรศัพท์ 4G และ 5G ที่ใช้ระบบปฏิบัติการ Android เวอร์ชัน 11 ขึ้นไป และระบบปฏิบัติการ iOS เวอร์ชัน 18 ขึ้นไป จะได้รับการแจ้งเตือนผ่านระบบ Cell Broadcast โดยอัตโนมัติ 

สำหรับประชาชนที่ใช้โทรศัพท์ 2G และ 3G อุปกรณ์จะไม่รองรับระบบการแจ้งเตือนด้วย Cell Broadcast ทำให้ไม่ได้รับการแจ้งเตือนในการทดสอบนี้ อย่างไรก็ตามขอให้ประชาชนอย่าได้กังวลใจ เนื่องจากในกรณีที่เกิดสาธารณภัยขึ้นจริง ประชาชนกลุ่มผู้ใช้บริการโทรศัพท์ 2G และ 3G จะได้รับ SMS แจ้งเตือนภัยแทน ซึ่งผู้ให้บริการเครือข่ายมือถือได้พัฒนาระบบและอุปกรณ์การทำงานเพื่อให้สามารถส่ง SMS แจ้งเตือนภัยถึงประชาชนในพื้นที่เป้าหมายได้ภายใน 10 นาที

“โดยผลการทดสอบระบบแจ้งเตือนภัยผ่าน Cell Broadcast ระดับใหญ่ (จังหวัด/กรุงเทพมหานคร) ในวันนี้ เป็นที่น่าพอใจ เจ้าหน้าที่และสื่อมวลชนที่อยู่ในห้องประชุมได้รับการแจ้งเตือนภัยอย่างรวดเร็ว หลังจากที่ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่กดส่งสัญญาณ ในส่วนของจังหวัดเองก็รายงานว่าประชาชนในพื้นที่ได้รับเสียงสัญญาณและข้อความแจ้งเตือนภัยอย่างทั่วถึง 

ทั้งนี้ แผนการดำเนินงานภายหลังจากนี้ ปภ. จะดำเนินการเปิดทดสอบระบบในระดับประเทศพร้อมกันต่อไปในช่วงเดือนกรกฎาคม 2568 เพื่อให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวเกิดความมั่นใจในระบบแจ้งเตือนภัยของประเทศไทยที่สามารถแจ้งเตือนถึงประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยได้อย่างทั่วถึง ประชาชนสามารถปฏิบัติตนได้อย่างถูกต้อง และอพยพไปยังพื้นที่ปลอดภัยได้อย่างทันท่วงที ซึ่งจะช่วยลดความสูญเสียที่เกิดขึ้นจากสาธารณภัยและเหตุฉุกเฉินได้อย่างมหาศาลและมีประสิทธิภาพสูงสุดต่อไปในอนาคต" นายภาสกร อธิบดี ปภ. กล่าว

สำหรับการทดสอบแจ้งเตือนภัยผ่านสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Cell Broadcast) ทั้ง 3 ระดับที่ได้จัดขึ้นนี้ กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พัฒนาระบบแจ้งเตือนภัยผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Cell Broadcast) เพื่อใช้เป็นช่องทางในการแจ้งเตือนภัยไปยังประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยอย่างมีประสิทธิภาพ โดยได้มีการกำหนดทดสอบระบบการแจ้งเตือนภัยผ่านสัญญาณโทรศัพท์มือถือ (Cell Broadcast) ใน 3 ระดับ (ระดับเล็ก ระดับกลาง และระดับใหญ่) 

ซึ่งผลจากการทดสอบระบบการแจ้งเตือนภัยระดับเล็ก (ภายในอาคาร) เมื่อวันที่ 2 พ.ค. 68 ในพื้นที่ศาลากลาง จังหวัดเชียงราย ศาลากลางจังหวัดสุพรรณบุรี ศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานี ศาลากลางจังหวัดสงขลา และศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ อาคาร A และอาคาร B และเมื่อวันที่ 7 พ.ค. 68 ในพื้นที่อำเภอเมืองลำปาง จังหวัดลำปาง อำเภอเมืองนครสวรรค์ จังหวัดนครสวรรค์ อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา อำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี จังหวัดสุราษฎร์ธานี และเขตดินแดง กรุงเทพมหานคร 

พบว่า การทดสอบการแจ้งเตือนภัยทั้ง 2 รอบ เป็นไปด้วยดี ประชาชนในพื้นที่เป้าหมายได้รับเสียงสัญญาณและข้อความแจ้งเตือนภัย ภายในเวลาอันรวดเร็วและทั่วถึง ครอบคลุมพื้นที่ทดสอบ ถือได้ว่าการทดสอบระดับเล็กและระดับกลางประสบผลสำเร็จไปได้ด้วยดี นอกจากนี้ ยังสะท้อนให้เห็นว่า ประชาชนมีความตื่นตัวและให้ความสำคัญกับการแจ้งเตือนภัยล่วงหน้าและการปฏิบัติตนให้ปลอดภัยจากสถานการณ์ภัยที่เกิดขึ้น รวมถึงมีความเข้าใจระบบการแจ้งเตือนภัยด้วย Cell Broadcast มากขึ้น และเพื่อให้การประเมินประสิทธิภาพของการทดสอบการแจ้งเตือนภัยด้วย Cell Broadcast นำไปสู่การพัฒนาได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น 

จึงขอฝากให้ประชาชนในพื้นที่เป้าหมายการทดสอบทำแบบสอบถาม Google Form ที่ ปภ. ได้จัดทำขึ้น เพื่อรวบรวมข้อมูลและข้อเสนอแนะจากประชาชน รวมถึง ปภ. จะสรุปผลและวิเคราะห์ร่วมกับผู้ให้บริการเครือข่ายทั้ง 3 เครือข่าย นำมาปรับปรุงและพัฒนาระบบการแจ้งเตือนภัยผ่านระบบ Cell Broadcast ให้มีประสิทธิภาพ สามารถแจ้งเตือนภัยไปยังประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยได้อย่างแม่นยำ รวดเร็ว และครอบคลุมพื้นที่เสี่ยงภัยมากยิ่งขึ้น


ข่าวที่เกี่ยวข้อง

- ใครได้-ไม่ได้บ้าง ชาวโซเชียลฯ แห่แชร์ข้อความทดสอบแจ้งเตือนภัยพิบัติ Cell Broadcast

- เช็กที่นี่ วิธีเปิดแจ้งเตือนเหตุฉุกเฉิน ทดสอบระบบเตือนภัย Cell Broadcast

- ทดสอบระบบเตือนภัย Cell Broadcast ราบรื่น พร้อมใช้งานเดือนก.ค.นี้

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง