ถุงมือ AI เสริมพลัง ช่วยผู้ป่วยหลอดเลือดสมองเล่นเปียโนอีกครั้ง
โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) เป็นหนึ่งในโรคยอดนิยมที่เกิดขึ้นกับผู้สูงอายุจำนวนมาก โดยในสหรัฐอเมริกามีผู้สูงอายุป่วยด้วยโรคนี้ประมาณ 6.5 ล้านคน ตามสถิติของศูนย์ควบคุมโรคติดต่อ หรือ ซีดีซี (Centers for Disease Control and Prevention - CDC) ในปี 2017 ซึ่งผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองหลายคนเป็นอัมพาต หรือสูญเสียความสามารถในการควบคุมอวัยวะบางส่วน และต้องทำกายภาพบำบัดอย่างหนักเพื่อให้สามารถเดิน พูด หรือทำกิจวัตรประจำวันได้
นักวิจัยจากแผนกสมุทรศาสตร์ และวิศวกรรมเครื่องกล (Department of Ocean & Mechanical Engineering) จากมหาวิทยาลัยฟลอริดาแอตแลนติก (Florida Atlantic University) ในสหรัฐอเมริกา จึงคิดค้นถุงมือระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่จะทำให้ผู้ป่วยกลับมาทำกิจกรรมที่ต้องใช้ประสาทและการฝึกฝนกล้ามเนื้อ เช่น การเล่นเครื่องดนตรีได้อีกครั้ง
โดยถุงมือที่ขับเคลื่อนด้วยเอไอนี้ จะทำงานคล้ายชุดเกราะเสริมพลัง หรือ เอกโซสเกเลตัน (Exoskeleton) มีน้ำหนักเพียง 191 กรัม ผลิตจากกรดโพลีไวนิล (Polyvinyl Acid) ด้วยแม่พิมพ์ 3 มิติขึ้นรูป เคลือบทับหลายชั้นเพื่อความยืดหยุ่นและนิ่มนวล ครอบคลุมพื้นที่บริเวณฝ่ามือและข้อมือทั้งหมด ขณะที่บริเวณปลายนิ้วของถุงมือ ยังมีตัวกระตุ้น (Actuator) ซึ่งยืดหดได้จากแรงดันลม ทำงานร่วมกับเซนเซอร์แบบยืดหยุ่น 16 ตัว เพื่อให้สัมผัสที่มือของผู้สวมใส่ระหว่างที่มีปฏิสัมพันธ์กับวัตถุหรือพื้นผิวต่าง ๆ และถุงมือนี้สามารถปรับแต่งให้เหมาะกับมือของผู้ป่วยแต่ละคนได้ เพื่อให้การเคลื่อนไหวเป็นธรรมชาติมากที่สุด
สำหรับหน้าที่ของ AI ในถุงมือจะเป็นการเรียนรู้ด้วยตัวเองของโปรแกรม หรือ แมชชีน เลิร์นนิง (Machine Learning) ช่วยกระตุ้นการเคลื่อนไหวของมือในการเล่นเปียโน จนกระทั่งผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองสามารถฝึกฝนจนสัมผัสได้ว่า การเล่นครั้งใดบ้างที่เล่นถูกจังหวะ หรือผิดจังหวะได้ในที่สุด ซึ่งในงานวิจัยพบว่าการทดสอบกับมนุษย์ มีความแม่นยำถึง 97%
ทีมวิจัยยังระบุว่า เหตุผลในการนำเอาการเล่นเปียโนมาเป็นหนึ่งในขั้นตอนกายภาพบำบัด เพราะว่าการใช้ดนตรีบำบัดนั้น นอกจากจะฟื้นฟูการควบคุมร่างกาย ยังสามารถช่วยผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองในการฟื้นฟูระบบประสาทในด้านภาษาและการเคลื่อนไหวได้อีกด้วย จึงนับว่าถุงมือนี้เป็นความก้าวหน้าเทคโนโลยีทางการแพทย์ครั้งใหม่ ที่ช่วยให้ผู้ป่วยมีทางเลือกใหม่ ๆ ในการรักษา และกลับมาทำกิจกรรมที่ซับซ้อนและใช้การควบคุมร่างกายขั้นสูง เช่น การเล่นดนตรีได้อีกครั้ง
ที่มาของข้อมูล Interestingengineering
ที่มาของรูปภาพ Unsplash