รีเซต

ลุยฉีดวัคซีนโควิด หญิงท้อง 1 แสนคนใน 1 เดือน ย้ำฉีดได้ทุกสูตร-ทุกตัว ไม่มีผลต่อเด็ก

ลุยฉีดวัคซีนโควิด หญิงท้อง 1 แสนคนใน 1 เดือน ย้ำฉีดได้ทุกสูตร-ทุกตัว ไม่มีผลต่อเด็ก
ข่าวสด
13 กันยายน 2564 ( 16:15 )
75
ลุยฉีดวัคซีนโควิด หญิงท้อง 1 แสนคนใน 1 เดือน ย้ำฉีดได้ทุกสูตร-ทุกตัว ไม่มีผลต่อเด็ก

ลุยฉีดวัคซีนโควิด หญิงท้อง 1 แสนคนใน 1 เดือน ชี้เป็นกลุ่มเสี่ยงติดเชื้อรุนแรงและตาย ย้ำฉีดได้ทุกสูตร-ทุกตัว ไม่มีผลต่อเด็ก สร้างภูมิไวได้ทั้งแม่และลูก

 

 

วันที่ 13 ก.ย.64 นายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข (สธ.) กล่าวภายหลังเปิดงานเดือนแห่งการรณรงค์หญิงตั้งครรภ์เข้ารับวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 “ 1 เดือน 1 แสนราย” ว่า วันนี้เป็นการรณรงค์ฉีดวัคซีนโควิด 19 สำหรับหญิงตั้งครรภ์ เนื่องจากเป็นหนึ่งในกลุ่มเสี่ยง 608 คือ ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป 7 กลุ่มโรคเรื้อรัง และหญิงตั้งครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไป ที่ต้องได้รับวัคซีนก่อนเป็นอันดับแรก เพราะเสี่ยงติดเชื้อรุนแรงและเสียชีวิต

 

 

ซึ่งหญิงตั้งครรภ์มีอัตราติดเชื้อโควิดเสียชีวิต 2% จึงต้องเร่งดึงหญิงตั้งครรภ์ให้เข้ารับวัคซีนมากที่สุด โดยข้อมูลจากฝ่ายวิชาการยืนยันชัดเจนว่า การฉีดวัคซีนในหญิงตั้งครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไปไม่มีอันตราย ทั่วประเทศมีประมาณ 5 แสนคน แต่ขณะนี้ฉีดได้แค่ 5.5 หมื่นราย

 

 

ดังนั้น กรมอนามัยและภาคีเครือข่าย ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย จึงรวมกันรณรงค์เรื่องนี้ ตั้งเป้าว่าใน ก.ย.นี้ต้องฉีดให้ได้ถึง 1 แสนราย ผ่านช่องทางต่างๆ เช่น คลินิกฝากครรภ์ หรือศูนย์บริการฉีดวัคซีน ซึ่งหญิงตั้งครรภ์มีไม่มากก็ให้ฉีดได้ทันทีไม่ต้องลงทะเบียน

 

 

“ขณะนี้ได้จัดฉีดเชิงรุกให้เข้าใกล้กลุ่มนี้มากที่สุด เพื่อให้สามารถฉีดวัคซีนได้มากและครอบคลุมที่สุด โดยมีท้องถิ่นเป็นเจ้าภาพ มี รพ.สต.เป็นฝ่ายสนับสนุน สิ่งสำคัญเราต้องอำนวยความสะดวก” นายสาธิต กล่าวและว่า เขตสุขภาพที่ 12 หรือ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีอัตราการเสียชีวิตมากกว่าที่อื่น มาจากปัจจัยวัฒนธรรรม ความเชื่อทางศาสนา ซึ่งพื้นที่นี้มีการรณรงค์ให้เกิดความเข้าใจเรื่องนี้

 

 

แต่ภาพรวมก็มีข้อจำกัดเยอะมาก อย่างแรกหญิงตั้งครรภ์ก็กลัววัคซีน อยากได้คุณภาพสูงสุด และยังกังวลว่า จะมีผลต่อลูก และบางส่วนไม่ได้ฝากครรภ์ ขณะนี้เร่งให้ รพ.สต.ทำความเข้าใจในพื้นที่ให้หญิงตั้งครรภ์เข้ามาในระบบ หรือต้องทำเชิงรุกไปฉีดให้ถึงที่

 

 

ถามว่าใช้วัคซีนสูตรไหนสำหรับหญิงตั้งครรภ์ นายสาธิต กล่าวว่า วัคซีนมี 2 สูตร สูตรหลัก คือ ซิโนแวคตามด้วยแอสตร้าเซนเนก้า แต่หากจุดฉีดมีแอสตร้าฯ อย่างเดียวก็ฉีด 2 เข็มได้ เป็นทางเลือกเพื่ออำนวยความสะดวก แต่ข้อมูลวิชาการเห็นว่า การสร้างภูมิคุ้มกันได้เร็วขึ้นต้องเป็นซิโนแวคตามด้วยแอสตร้าฯ

 

 

 

เผยตัวเลข สาวท้องติดโควิด

ด้าน นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.ถึงปัจจุบัน พบว่า หญิงตั้งครรภ์ติดเชื้อจำนวน 3,668 ราย เสียชีวิต 82 ราย คิดเป็นกว่า 2% และทารกแรกเกิดติดเชื้อจำนวน 180 ราย ขณะที่การฉีดวัคซีนโควิดกลุ่มหญิงตั้งครรภ์ฉีดแล้วกว่า 7.3 หมื่นโดส เป็นเข็มแรก 55,697 ราย และเข็มสอง 17,574 ราย ขณะที่เข็ม 3 มี 197 ราย ถือว่าน้อยมาก

 

 

ส่วนพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ที่พบปัญหาอัตราการเสียชีวิตและการเข้าถึงวัคซีนมาจากหลายปัจจัย โดยหลักงานอนามัยแม่และเด็กของพื้นที่ดังกล่าวทำงานคอ่นข้างยากเมื่อเทียบกับพื้นที่อื่น ทั้งเรื่องวัฒนธรรม ประเพณี ความเชื่อ ที่ผ่านมามีการทำงานเชิงรุก สร้างความเข้าใจมาตลอด และยังดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นคลินิกฝากครรภ์ หรือการขับเคลื่อนผ่านนโยบาย 3 หมอ เป็นต้น

 

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หญิงตั้งครรภ์ หญิงหลังคลอด 6 สัปดาห์และทารกแรกเกิด ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 2564 จนถึงปัจจุบัน มีผู้ติดเชื้อสะสม 3,668 ราย เป็นชาวไทย 2,475 ราย และชาวต่างชาติ 1,193 ราย โดยมารดาเสียชีวิตสะสม 82 ราย และทารก 37 ราย ขณะที่ 10 จังหวัดติดเชื้อสูงสุด คือ กรุงเทพมหานคร 695 ราย รองลงมา สมุทรสาคร 554 ราย สมุทรปราการ 137 ราย ตาก 133 ราย ปทุมธานี 128 ราย นราธิวาส 121 ราย สงขลา 116 ราย ยะลา 112 ราย นครปฐม 90 ราย และพระนครศรีอยุธยา 88 ราย

 

 

ดีที่สุด-หญิงตั้งครรภ์ต้องไม่ติดเชื้อ

ขณะที่ ศ.พญ.กุลกัญญา โชคไพบูลย์กิจ ผอ.ศูนย์วิจัยคลินิก (SICRES) คณะเเพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล กล่าวในการเสวนา “สร้างภูมิคุ้มกันให้กับลูกรักด้วยวัคซีน” ว่า โรคโควิด 19 ไม่มีกลิ่น ไม่มีสี จึงไม่รู้ว่าจะได้รับเชื้อเมื่อไร และไม่เลือกว่าตั้งครรภ์หรือไม่ เพราะฉะนั้นมีโอกาสที่จะติดเชื้อได้ โดยเฉพาะสายพันธุ์เดลตาที่แพร่เชื้อค่อนข้างเร็ว ขนาดที่ต่างประเทศออกคำแนะนำว่าในที่สุดแล้วทุกคนในโลกมนุษย์คงจะได้มีโอกาสติดเชื้อแน่นอนในวันใดวันหนึ่ง จึงเป็นโรคที่จะอยู่กับเราไปอีกนาน

 

 

แต่เมื่อติดเชื้อแล้วจะทำอย่างไร เมื่อเข้าสู่ร่างกายถูกสกัดกั้นไม่ให้ป่วย วิธีเดียวคือต้องสร้างภูมิต้านทาน วิธีที่ดีที่สุดคือการฉีดวัคซีน ดังนั้น หญิงตั้งครรภ์จึงต้องฉีดวัคซีน และต้องไม่เป็นโรค เพราะถ้าเป็นแล้วจะหนักกว่าคนไม่ตั้งครรภ์ มีโอกาสเข้าไอซียูสูงกว่าคนไม่ตั้งครรภ์ 5 เท่า และถ้าหากเทียบระหว่างคนที่ตั้งครรภ์ด้วยกัน คนที่ติดเชื้อมีโอกาสเสียชีวิตสูงกว่าไม่ติดเชื้อมาก ทารกมีโอกาสคลอดก่อนกำหนดและการเกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ตั้งแต่อายุน้อย แรกเกิดใหม่ๆ

 

 

"ดีที่สุดคือหญิงตั้งครรภ์ต้องไม่ติดเชื้อ หรือถ้าได้รับเชื้อจะต้องทำให้อาการน้อย อ่อนที่สุด จะต้องมีภูมิต้านทานป้องกันทั้งตัวแม่และลูก ทั้งนี้ วัคซีนมีความปลอดภัยสูง มีการศึกษามาระดับหนึ่ง เมื่อชั่งน้ำหนักแล้วประโยชน์ของวัคซีนมีมากกว่ายอมเสี่ยงติดเชื้อ และอาการข้างเคียงจากวัคซีนของหญิงตั้งครรภ์จะน้อยกว่าหญิงไม่ตั้งครรภ์

 

 

เพราะภาวะตั้งครรภ์ทำให้ปฏิกิริยาต่อวัคซีนลดน้อยลง แต่ก่อนไปรับวัคซีนต้องทำตัวให้พร้อม พักผ่อนนอนหลับให้เพียงพอและไปรับวัคซีน รับเร็วก็จะดี เพราะภูมิต้านทานเกิดขึ้นเร็ว ฉีดก่อนป้องกันก่อน ภูมิต้านทานจะผ่านสายสะดือส่งไปถึงทารกในครรภ์จะยิ่งสูงมากขึ้น และภูมิต้านทานจะออกในน้ำนมแม่ด้วย เพราะฉะนั้น ลูกออกมาก็กินนมแม่ ก็ได้รับภูมิต้านทานด้วย เป็นการป้องกันทั้งแม่และลูก" ศ.พญ.กุลกัญญากล่าว

 

 

ฉีดได้ทุกสูตร-ทุกยี่ห้อ

ศ.พญ.กุลกัญญา กล่าวว่า แม่ทุกคนทั้งก่อนและหลังคลอดควรได้รับภูมิต้านทานจากการฉีดวัคซีน แต่หากเป็นการตั้งครรภ์ 12 สัปดาห์แรก อยากให้เลี่ยงการฉีดวัคซีน ซึ่งเป็นคำแนะนำจากราชวิทยาสูตินรีเวชแพทย์ เพราะช่วง 12 สัปดาห์แรกจะมีการแท้งโดยธรรมชาติได้ง่าย จึงพยายามหลีกเลี่ยง

 

 

แต่ส่วนใหญ่เมื่อรู้ตัวว่าตั้งครรภ์ก็ตั้งครรภ์ไปเกือบพ้นไตรมาสแรกแล้ว ส่วนใหญ่ใกล้ 12 สัปดาห์แล้ว แต่บางคนฉีดแล้วรู้ตัวว่าตั้งครรภ์ ซึ่งในต่างประเทศแนะนำให้ฉีดได้ไม่ว่าจะอายุครรภ์เท่าไร แต่ในไทย สูตินรีแพทย์มีความระมัดระวัง ดังนั้น ถ้าเลี่ยงช่วงก่อน12 สัปดาห์ได้ก็เลี่ยง แต่ฉีดแล้วรู้ตัวทีหลังว่าตั้งครรภ์ ก็ไม่ต้องกังวล เพราะมีข้อมูลว่าไม่มีผลต่อทารกในครรภ์หรือการตั้งครรภ์ผิดปกติ

 

 

สำหรับวัคซีนที่ฉีดในหญิงมีครรภ์ที่ได้รับการศึกษามากที่สุด คือ mRNA ประเทศไทยที่มีให้บริการโดย สธ. คือ ไฟเซอร์ ฉีดห่างระหว่างเข็ม 3-4 สัปดาห์ ส่วนวัคซีนตัวอื่นทั้งแอสตร้าเซนเนก้า ซิโนแวค หรือซิโนฟาร์ม องค์การอนามัยโลกก็ให้คำรับรองว่าใช้ได้ ถ้ามีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อมากกว่า เพราะไม่คุ้มที่จะให้ไปติดเชื้อ และในการฉีดไขว้ ซิโนแวคและแอสตร้าฯ ก็เป็นสูตรที่ใช้กับหญิงตั้งครรภ์ได้

 

 

หากมีวัคซีนไฟเซอร์ก็จัดสรรให้ก่อน แต่ถ้าสถานพยายาลไม่มีไฟเซอร์ ไม่ว่าจะเป็นแอสตร้าฯ หรือซิโนแวคก็สามารถใช้ได้ เพราะฉะนั้น วัคซีนทุกตัวที่ใช้ในคนทั่วไปก็สามารถใช้ในหญิงครรภ์ได้ทุกชนิด

ข่าวที่เกี่ยวข้อง