รู้จัก "มวยไทย" ศิลปะการต่อสู้ กับประวัติศาสตร์อันยาวนาน
มวยไทย เป็นศิลปะการต่อสู้ของประเทศไทย มีความโดดเด่นด้านเทคนิคการกอดคอต่อสู้ ซึ่งเป็นการใช้ทั้งกายและใจ สำหรับการต่อสู้ที่ใช้ร่างกายเป็นอาวุธ โดยเป็นที่รู้จักว่าเป็น "นวอาวุธ" ซึ่งประกอบด้วยการโจมตีจากร่างกายทั้ง หมัด, ศอก, เข่า และเท้า หากมีการเตรียมพร้อมด้านร่างกายดี จะก่อให้เกิดอาวุธที่มีอานุภาพ มวยไทยได้เป็นที่แพร่หลายในระดับนานาชาติในช่วงศตวรรษที่ยี่สิบ เมื่อเหล่านักมวยไทยสามารถเป็นฝ่ายชนะนักต่อสู้ที่มีชื่อเสียงในแขนงอื่น ซึ่งการแข่งขันมวยไทยในระดับอาชีพ ได้รับการดูแลโดยสภามวยไทยโลก
ปัจจุบัน ทางสหพันธ์มวยไทยสมัครเล่นนานาชาติ (IFMA) มีแผนที่จะผลักดันกีฬามวยไทยเข้าสู่กีฬาโอลิมปิก และใน พ.ศ. 2557 ทางองค์การสหประชาชาติได้ให้การยอมรับมวยไทยเป็นกีฬาแห่งประชาคมโลก โดยได้มีการลงนามข้อตกลงความร่วมมือกับสภามวยไทยโลก และสหพันธ์มวยไทยสมัครเล่นนานาชาติ
ประวัติศาสตร์อันยาวนานของมวยไทยเริ่มมีและใช้กันในการสงครามในสมัยก่อน ซึ่งแตกต่างจากมวยไทยในปัจจุบันที่ใช้เป็นการกีฬา โดยมีการใช้นวมขึ้นเพื่อป้องกันการอันตรายที่เกิดขึ้น มวยไทยยังคงได้ชื่อว่า ศาสตร์การโจมตีทั้งแปด ซึ่งรวม สองมือ สองเท้า สองศอก และสองเข่า (บางตำราอาจเป็น นวอาวุธ ซึ่งรวมการใช้ศีรษะโจมตี หรือ ทศอาวุธ ซึ่งรวมการใช้บั้นท้ายกระแทกโจมตี)
มวยไทย สืบทอดมาจากมวยโบราณ ซึ่งแบ่งออกเป็นแต่ละสายตามท้องที่นั้น ๆ โดยมีสายสำคัญหลัก เช่น มวยท่าเสา (ภาคเหนือ) มวยโคราช (ภาคอีสาน) มวยไชยา (ภาคใต้) มวยลพบุรีและมวยพระนคร (ภาคกลาง) มีคำกล่าวไว้ว่า "หมัดหนักโคราช ฉลาดลพบุรี ท่าดีไชยา ไวกว่าท่าเสา"
ในสมัยโบราณจะมี สำนักเรียน (สำนักเรียนมวย แตกต่างจาก ค่ายมวย คือ สำนักเรียนจะมีเจ้าสำนัก หรือ ครูมวย ซึ่งมีฝีมือและชื่อเสียงเป็นที่เคารพรู้จัก มีความประสงค์ที่จะถ่ายทอดวิชาไม่ให้สูญหาย โดยมุ่งเน้นถ่ายทอดให้เฉพาะศิษย์ที่มีความเหมาะสม ส่วน ค่ายมวย เป็นที่รวมของผู้ที่ชื่นชอบในการชกมวย มีจุดประสงค์ที่จะแลกเปลี่ยนวิชาความรู้เพื่อนำไปใช้ในการแข่งขัน-ประลอง) โดยแยกเป็น สำนักหลวง และ สำนักราษฎร์ บ้างก็ฝึกเรียนร่วมกับเพลงดาบ กระบี่ กระบอง พลอง ทวน ง้าวและมีดหรือการต่อสู้อื่น ๆ เพื่อใช้ในการต่อสู้ป้องกันตัวและใช้ในการสงคราม มีทั้งพระมหากษัตริย์และขุนนางแม่ทัพนายกองและชาวบ้านทั่วไป (ส่วนใหญ่เป็นชาย) และจะมีการแข่งขันต่อสู้-ประลองกันในงานวัด และงานเทศกาลโดยมีค่ายมวยและสำนักมวยต่างๆ ส่งนักมวยและครูมวยเข้าแข่งขันชิงรางวัล-เดิมพัน โดยยึดความเสมอภาค
รูปปั้นจำลองของนายขนมต้ม นักมวยคาดเชือกชาวกรุงศรีอยุธยา ในงานรำลึกนายขนมต้ม ในวันที่ 17 มีนาคมของทุกปี
บางครั้งจึงมีตำนานพระมหากษัตริย์หรือขุนนางที่เชี่ยวชาญการต่อสู้ปลอมตนเข้าร่วมแข่งขันเพื่อทดสอบฝีมือที่เป็นที่ปรากฏได้แก่ พระเจ้าเสือ (ขุนหลวงสรศักดิ์) พระเจ้าตากสินมหาราช พระยาพิชัยดาบหัก ครูดอก แขวงเมืองวิเศษไชยชาญ จนเมื่อไทยเสียกรุงแก่พม่า ปรากฏชื่อนายขนมต้ม ครูมวยชาวอยุธยา ซึ่งถูกกวาดต้อนเป็นเชลยศึกได้ชกมวยกับชาวพม่า ชนะหลายครั้งเป็นที่ปรากฏถึงความเก่งกาจเหี้ยมหาญของวิชามวยไทย
ในสมัยอยุธยา ตอนปลายได้มีการจัดตั้งกรมทนายเลือกและกรมตำรวจหลวงขึ้นมีหน้าที่ในการให้การคุ้มครองกษัตริย์และราชวงศ์ ได้มีการฝึกหัดวิชาการต่อสู้ทั้งมวยไทยและมวยปล้ำตามแบบอย่างแขกเปอร์เซีย (อิหร่าน) จึงมีครูมวยไทยและนักมวยที่มีฝีมือเข้ารับราชการจำนวนมากและได้แสดงฝีมือในการต่อสู้ในราชสำนักและหน้าพระที่นั่งในงานเทศกาลต่างๆสืบต่อกันมาเป็นประจำ และเป็นที่น่าสังเกตว่า กองทัพกู้ชาติของพระเจ้าตาก ล้วนประกอบด้วยนักมวยและครูมวยที่มีชื่อเสียงในยุคนั้นจำนวนมาก ถึงกับได้มีการจัดตั้งเป็นหน่วยรบพิเศษ 3 กอง คือ กองทนายเลือก กองพระอาจารย์ และกองแก้วจินดา ซึ่งได้ปฏิบัติภารกิจที่สำคัญที่ทำให้คนไทยสิ้นความหวาดกลัวต่อทัพพม่า ในการรบที่บ้านนางแก้ว ราชบุรี จนอาจเรียกได้ว่า มวยไทยกู้ชาติ
หลักการชกมวยไทย
การชกมวยไทยที่ดี มีหลักสำคัญ คือ มีการป้องกัน ด้วยการยืน มั่นคง เข้มแข็ง สูงเด่น การตั้งแขนป้องกัน (การการ์ดมวย) และการเก็บคาง เปรียบเสมือนป้อมปราการ เท้าหน้า จรดชี้ไปข้างหน้าวางน้ำหนักครึ่งฝ่าเท้า เท้าหลัง วางทแยงเฉียงกว้างกว่าหัวไหล่วางน้ำหนักเศษหนึ่งส่วนสี่ไว้ที่อุ้งนิ้วหัวแม่โป้ง ขยับก้าวด้วยการลากเท้าหลังตามพร้อมที่จะหลอกล่อ ขยับเข้า ออก ตั้งรับและโจมตีตอบโต้ แขนหน้ายกกำขึ้นอย่างน้อยเสมอไหล่ หรือจรดสันแก้ม แขนหลังยกกำขึ้นจรดแก้ม ศอกทั้งสองข้างไม่กางออกและไม่แนบชิด ก้มหน้าเก็บคาง ตาเขม็งมองไปตรงหว่างอกของคู่ต้อสู้ พร้อมที่จะเห็นการเคลื่อนไหวทุกส่วน เพื่อที่จะรุก รับ หรือตอบโต้ด้วยแม่ไม้ ลูกไม้และการแจกลูกต่างๆ มีการเคลื่อนไหวที่องอาจมีจังหวะ มีการล่อหลอกและขู่ขวัญที่มีการเปรียบเทียบว่า "ประดุจพญาราชสีห์ และพญาคชสีห์" อาวุธมวยที่ออกไป ต้องมีเป้าหมายและจุดประสงค์แน่นอน (แต่มักซ้อนกลลวงไว้) มีการต่อสู้ระยะไกล (วงนอก) และระยะประชิด (วงใน) และมีทีเด็ดทีขาดในการพิชิตคู่ต่อสู้
ที่มา : วิกิพีเดีย