รีเซต

สรรพากรยืดเวลาชำระภาษีบุคคลถึงส.ค.-ยกเว้นภาษีค่าเสี่ยงภัยบุคคลกรทางการแพทย์

สรรพากรยืดเวลาชำระภาษีบุคคลถึงส.ค.-ยกเว้นภาษีค่าเสี่ยงภัยบุคคลกรทางการแพทย์
มติชน
24 มีนาคม 2563 ( 21:47 )
124
3
สรรพากรยืดเวลาชำระภาษีบุคคลถึงส.ค.-ยกเว้นภาษีค่าเสี่ยงภัยบุคคลกรทางการแพทย์

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวว่า มาตรการยืดระยะเวลาการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากกำหนดเดิมสิ้นสุดมิถุนายน เป็นสิงหาคมนั้น จะช่วยผ่อนภาระของประชาชนผู้เสียภาษีได้ โดยในช่วงเวลาดังกล่าวประชาชนผู้เสียภาษียังมีเม็ดเงินใช้จ่ายราว 2.1 หมื่นล้านบาท สำหรับผู้ที่คาดว่า จะได้รับการคืนภาษี ก็ขอให้เร่งมายื่นแบบ โดยกรมฯจะเร่งคืนภาษีให้ เพื่อให้มีเม็ดเงินในระบบมากขึ้น ส่วนรายจ่ายลดหย่อนเบี้ยประกันสุขภาพจาก 1.5 หมื่นบาทเป็น 2.5 หมื่นบาทนั้น เพื่อให้คนมีเงินมาซื้อประกันสุขภาพ รัฐจะได้มีรายจ่ายด้านสาธารณสุขลดลง

นายเอกนิติ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ยังมีมาตรการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับค่าตอบแทนในการเสี่ยงภัยของบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข โดยยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับ ค่าตอบแทนเสี่ยงภัยในการเฝ้าระวัง สอบสวน ป้องกัน ควบคุม และรักษาผู้ป่วยจากไวรัส COVID-19 และค่าตอบแทนบุคคลที่มิใช่ข้าราชการหรือข้าราชการที่มีความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์ในการให้คำปรึกษาด้านการแพทย์และสาธารณสุข เพื่อรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ที่ได้รับแต่งตั้งจากกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นเงินได้พึงประเมินที่ได้รับในปีภาษี 2563 เพื่อสนับสนุนบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขที่ปฏิบัติงานเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ไม่มีภาระภาษีสำหรับค่าตอบแทนพิเศษจากการปฏิบัติงานดังกล่าวและมีขวัญกำลังใจในการปฏิบัติงานเพิ่มขึ้น

นายเอกนิติ กล่าวต่อว่า รวมถึงมาตรการเพิ่มวงเงินหักลดหย่อนค่าเบี้ยประกันสุขภาพ โดยเพิ่มวงเงินหักลดหย่อนค่าเบี้ยประกันสุขภาพจากเดิมตามจ่ายจริงไม่เกิน 15,000 บาท เป็นไม่เกิน 25,000 บาท และเมื่อรวมกับการหักลดหย่อนค่าเบี้ยประกันชีวิตและเงินฝากประเภทสงเคราะห์ชีวิตแล้วต้องไม่เกิน 100,000 บาท ทั้งนี้ ตั้งแต่ปีภาษี 2563 เป็นต้นไป เพื่อให้ประชาชนมีหลักประกันสุขภาพเพิ่มขึ้นและมีภาระค่าใช้จ่ายในการดูแลสุขภาพลดลง และรัฐสามารถนำรายจ่ายด้านสาธารณสุขที่ลดลงจากการทำประกันสุขภาพของประชาชนไปช่วยเหลือประชาชนกลุ่มผู้มีรายได้น้อยทั้งในด้านสาธารณสุขและด้านอื่น ๆ ได้มากขึ้น

นายเอกนิติกล่าวต่อว่า สำหรับการยื่นแบบชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับบริษัทที่ไม่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์จะขยายไปถึงเดือนสิงหาคม เนื่องจาก นักตรวจสอบบัญชีไม่สะดวกที่จะเข้าตรวจสอบบัญชีให้แก่ผู้ประกอบการกลุ่มดังกล่าวได้ ส่วนการยื่นแบบภาษีเงินได้นิติบุคคลครึ่งปี(ภงด.51) จะขยายถึง 30 กันยายน กรณีเกิดเหตุปิดกิจการจากการสั่งปิดของราชการจะอนุญาตเลื่อนเป็นรายกรณีไม่ว่าจะเป็นการหักภาษี ณ ที่จ่าย หรือ ภาษีอื่นๆ ซึ่งเป็นอำนาจกระทรวงการคลังดำเนินการได้ด้านการยกเว้นภาษีการปรับโครงสร้างหนี้นั้น จะยกเว้นเพิ่มเติมให้กับธุรกิจนอนแบงก์ที่ทำธุรกิจ เช่น บัตรเครดิต เช่าซื้อ หากมีภาระภาษีที่เกี่ยวกับการปลดหนี้ โอนทรัพย์สิน ตัดหนี้สูญ เราจะยกเว้นให้ เพื่อช่วยผ่อนคลายกระบวนการปรับโครงสร้างหนี้ได้มากขึ้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง