รีเซต

จลาจล 6 มกราฯ เปิดม่านการเมืองแห่งความรุนแรงสไตล์อเมริกัน

จลาจล 6 มกราฯ เปิดม่านการเมืองแห่งความรุนแรงสไตล์อเมริกัน
TNN ช่อง16
19 มกราคม 2564 ( 18:38 )
173

นครหลวงแห่งสหรัฐอเมริกา ล้อมกรอบด้วยรั้วลวดหนาม ภาพทหารประจำการทั่วกรุง เป็นสิ่งที่ไม่คิดว่าจะเกิดขึ้นกับชาติมหาอำนาจอันดับหนึ่งของโลก

นี่คือผลพวงจากเหตุจลาจลสะเทือนโลกเมื่อวันที่ 6 มกราคม เมื่อกลุ่มผู้สนับสนุนทรัมป์หลายร้อยคนบุกอาคารรัฐสภา ยูเอสแคปิตอล / 2 สัปดาห์ก่อนการสาบานตนประธานาธิบดีของโจ ไบเดน / แต่ผู้เชี่ยวชาญมองว่า ภาพความโกลาหล การใช้ความรุนแรง การวิสามัญผู้ก่อจลาจล เป็นแผ่นดินไหว ที่ยังจะเกิดอาฟเตอร์ช็อกตามมาอีกหลายครั้ง หรืออาจนำไปสู่คลื่นยักษ์สึนามิที่จะเปลี่ยนโฉมการเมืองอเมริกันในระยะยาว

โอเรน ซีกัล รองประธานศูนย์แนวคิดหัวรุนแรงของสันนิบาตต่อต้านการหมิ่นประมาท มองว่า ผู้ไม่ประสงค์ดีกำลังวางแผนก่อความไม่สงบในอนาคตอยู่เวลานี้ โดยอาศัยความโกรธเคืองของชาวอเมริกันที่รู้สึกว่า พวกเขาถูกผู้มีอำนาจเอารัดเอาเปรียบและริดรอนสิทธิ ทั้งผู้มีอำนาจทางการเมือง และยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีต่าง ๆ



แนวคิดหัวรุนแรงแบบสุดโต่งยังมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นด้วย // ผู้เชี่ยวชาญมองว่า การที่สังคมออนไลน์ยักษ์ใหญ่ รวมถึง เฟชบุ๊ก และทวิตเตอร์ พร้อมใจปิดบัญชีของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ และบุคคลอีกจำนวนหนึ่ง ด้วยเหตุผลว่า การโพสต์ของบุคคลเหล่านี้ จะนำมาซึ่งเหตุรุนแรง กลายเป็นดาบสองคม เพราะทำให้คนจำนวนหนึ่งเกิดความรู้สึกเห็นใจ ร้ายแรงสุดคือฝักใฝ่แนวคิดหัวรุนแรงได้เลยทีเดียว

แสงสว่างกับความมืดที่ขยายกว้าง

พวกเขาย้ายตัวเองจากแพลตฟอร์มกระแสหลัก ไปยังสังคมออนไลน์รูปแบบอื่นที่รัฐและบริษัทเทคโนโลยี เข้ามาแทรกแซงน้อยกว่า อาทิ เทเลแกรม ซึ่งซีเอ็นเอ็นรายงานว่า เป็นข้อเท็จจริงว่า มีช่องของกลุ่มหัวรุนแรงและกลุ่มเหยียดเชื้อชาติอยู่มาหลายปีแล้ว ก่อนที่เทเลแกรมจะพึ่งมากำกับดูแลเข้มงวดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้

โฆษกของเทเลแกรมเองยอมรับว่า “เจ้าหน้าที่กำกับดูแลได้ตรวจสอบพบโพสต์ข้อความที่เรียกร้องให้มีการใช้ความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น”




ซีกัลป์เชื่อว่า การจลาจลบุกรัฐสภาได้สร้างแรงกระเพื่อมรุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์อเมริกา เพราะเป็นวิกฤตการณ์ที่ทำให้ประชาชนบางส่วนเริ่มไม่เชื่อใจและอาจถึงขั้นเกลียดชังรัฐบาล

ใต้แสงสว่างแห่งความหวังของประชาชนที่เชื่อว่าโจ ไบเดน ว่าที่ประธานาธิบดีคนที่ 46 จะนำความยิ่งใหญ่และกู้คืนความน่าเชื่อถือของอเมริกากลับมา แฝงด้วยเงามืดที่ขยายกว้างขึ้น เห็นได้จากถ้อยคำ ข้อถกเถียง และโพสต์ปลุกระดมให้ “ทวงคืนอเมริกา” กลับมา ต่อต้านการเซนเซอร์ของโซเชียลมีเดีย บนแพลตฟอร์มอย่าง พาร์เลอร์ (Parler)

แองเจโล คารูโซเน ประธานและเจ้าหน้าที่บริหารองค์กร มีเดียแมทเทอร์ฟอร์อเมริกา ระบุว่า “เราได้เห็นการอพยพหนีจากสังคมออนไลน์กระแสหลักอย่างทวิตเตอร์และเฟซบุ๊กไปยัง พาร์เลอร์ และรองลงมาคือ เทเลแกรม มากขึ้น” นั่นหมายความว่า “เลือดใหม่” ของแนวคิดหัวรุนแรงกำลังเพิ่มขึ้น

ภาครัฐดำเนินคดีไม่ได้

สำนักสอบสวนกลาง หรือเอฟบีไอ ออกแถลงการณ์ถึงซีเอ็นเอ็น ยอมรับว่า แม้เนื้อหาและคอมเม้นต์ของกลุ่มคนเหล่านี้จะน่าตื่นตระหนก แต่ก็ไม่เพียงพอที่ทางการจะดำเนินคดีได้ เพราะ “เอฟบีไอไม่สามารถเปิดสำนวนสอบสวนได้ หากไม่มีข้อมูลว่าเป็นภัยคุกคามที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรง หรือการก่ออาชญากรรม”

แม้จะต้องการดำเนินคดี แต่เจ้าหน้าที่สืบสวนก็เผชิญความยากลำบาก หากผู้มีแนวโน้มจะก่อเหตุร้าย ไม่ได้อยู่ในโซเชียลมีเดียกระแสหลัก การระบุตัวและติดตามพฤติกรรมจึงเป็นไปได้ยาก

คารูโซเน แนะนำว่า การสกัดกั้นความพยายามก่อเหตุจลาจล หรืออาชญากรรม ทางการจะต้องทำมากกว่าวางแนวกั้นและเพิ่มเจ้าหน้าที่บนท้องถนน แต่ต้องแก้ปัญหาที่ต้นทาง คือ ยับยั้งการบิดเบือนข้อมูล และอัลกอริทึ่มที่เชื่อมโยงบุคคลที่มีแนวคิดหัวรุนแรงจนกลายเป็นกลุ่มก้อน



แต่อย่างน้อย ช่วงก่อนและระหว่างพิธีสาบานตนของไบเดน แนวโน้มที่จะเกิดการประท้วงใหญ่ จนนำไปสู่การจลาจลเหมือนภาพวันที่ 6 มกราคม ถือว่ามีความเป็นไปได้น้อยมาก จากจำนวนตำรวจและกองกำลังพิทักษ์มาตุภูมิหลายหมื่นคน ที่ประจำการอย่างแน่นหนา รวมถึงตัวพิธีเองก็จัดแบบนิวนอร์มอล จากสถานการณ์โควิด-19

สิ่งที่อาจเกิดขึ้น

สิ่งที่ผู้เชี่ยวชาญกังวลมากที่สุด ไม่ใช่ช่วงพิธีสาบานตน แต่คือสิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อจากนี้ ช่วงแรก ๆ กลุ่มหัวรุนแรงจะยังไม่กระทำการอะไรที่เปิดเผยนัก เพราะพวกเขารู้ดีว่า หลังเหตุการณ์เมื่อวันที่ 6 มกราคม กลุ่มของพวกเขากำลังถูกจับตามองอย่างใกล้ชิด

แต่ซีกัลป์ยกตัวอย่างว่า การยกระดับของกลุ่มหัวรุนแรง อาจคล้ายกับความพยายามลักพาตัว เกร็ตเชน วิตเมอร์ผู้ว่าการรัฐหญิงของมิชิแกนเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งช่วงนั้น ทรัมป์เป็นผู้เล่นสำคัญ เพราะเขาวิจารณ์การรับมือโควิด-19 ของวิตเมอร์ ทั้งก่อนและหลังมีข่าวแผนลักพาตัว



การขึ้นสู่ตำแหน่งรองประธานาธิบดี ของคามาลา แฮร์ริส ซึ่งจะเป็นผู้หญิงคนแรก คนผิวดำคนแรก และหญิงเชื้อสายเอเชียใต้คนแรกที่ดำรงตำแหน่งรองประธานาธิบดี ยังมีแนวโน้มที่จะกระพือกระแสเหยียดสีผิวและเชื้อชาติในคนบางกลุ่มให้รุนแรงมากขึ้นด้วย แม้ว่าทรัมป์จะลาตำแหน่งไปแล้ว

ซีกัลป์มองว่า ความแตกแยกที่ยิ่งร้าวลึก ความรุนแรงที่มีแนวโน้มจะเกิดมากขึ้น และอเมริกาที่กำลังถูกแบ่งครึ่งด้วย “วงเลื่อย” แห่งความแบ่งแยก คือ ของขวัญจากทรัมป์ที่ห่อไว้อย่างดิบดีให้รัฐบาลไบเดนต้องรับมือในอีก 4 ปีนับจากนี้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง