สมาคมบลจ.รอรัฐบาลเกิด เร่งเสนอกองประหยัดภาษี

สมาคม บลจ. จ่อเสนอกองทุนออมและประหยัดภาษีรูปแบบใหม่ หลัง SSF หมดอายุ ปี 2567 คาดสูตรผสม LTF –SSF หวังขยายฐานผู้ลงทุนกว้างขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มวัยกลางคน ฐานรายได้มั่นคง เพราะบาลานซ์หนี้-การลงทุนได้ แต่ต้องรอรัฐบาลใหม่เพื่อเดินเรื่องผลักดันได้จบในคราวเดียว แต่คาดกระบวนการพิจารณาอาจต้องใช้เวลาเป็นปี
นางชวินดา หาญรัตนกูล นายกสมาคมบริษัทจัดการลงทุน หรือ สมาคม บลจ. กล่าวว่า สมาคมต้องรีบเสนอเรื่องของกองทุนออมที่ได้สิทธิประโยชน์ทางภาษีตัวใหม่ หลังจากสามารถจัดตั้งรัฐบาลใหม่ได้ เนื่องจากกองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) ปัจจุบันกำลังจะหมดอายุ หรือสามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีถึงแค่ปี 2567 และเนื่องจากสมาคม บลจ. มีแผนที่จะเสนอรูปแบบกองทุนออมและประหยัดภาษีตัวใหม่ที่สามารถขยายฐานผู้ออมได้กว้างขึ้น จึงต้องเร่งเสนอต่อรัฐบาลชุดใหม่ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างกระทรวงการคลัง เพื่อให้ทันก่อน SSFจะหมดอายุ
*เร่งเสนอกองทุนประหยัดภาษี
“กรอบการพิจารณากองทุนออมและประหยัดภาษีแบบใหม่อาจจะต้องใช้เวลานาน เพราะขนาด SSF กว่าจะคลอดได้ใช้กระบวนการราว 2 ปี ทำให้ทางสมาคมต้องรีบเสนอ เพราะ SSF ใช้หมดอายุ ทำให้ระยะเวลา 1 ปีค่อนข้างกระชั้นชิด อีกทั้งที่สมาคม และสมาชิกบลจ. เสนอก็ยังเป็นรูปแบบใหม่ ซึ่งไม่ใช้ทั้ง LTF และSSFแต่เราก็อยากโฟกัสที่ตลาดหุ้นไทย ด้วยหลายๆ ปัจจัย ทั้งวอลุ่มการเทรด ทั้งพยุงตลาดหุ้น ซึ่งจะเห็นว่าในช่วงที่ผ่านมาเมื่อเงินฟันด์โฟลว์ไหลออกตลาดหุ้นไทยก็ผันผวนมาก”
นางชวินดา มองว่า ทางสมาคม บลจ. มีเป้าหมายที่จะขยายฐานผู้ออม ผู้ลงทุนมากขึ้นด้วย จาก SSF ที่เน้นนักลงทุนรุ่นใหม่ หรือคนที่เพิ่งเริ่มออม ซึ่งแม้จะดีที่สนับสนุนให้เริ่มวางแผนการออม และลงทุน แต่ก็ยังไม่ใช่ฐานหลัก เท่ากับกลุ่มที่วิ่งเข้าวัย 50 ปี ที่เริ่มสร้างฐานะตัวเองได้ มีรายได้เพียงพอต่อการบริหารจัดการหนี้ กับการลงทุน กลุ่มนี้เป็นกลุ่มสำคัญที่จะทิ้งไม่ได้ สำหรับการออมระยะยาว เพื่อวางแผนเกษียณพร้อมกับสิทธิประโยชน์ทางภาษี
ต้องยอมรับว่า การตอบรับของ SSFไม่คึกคักเหมือนกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) ทั้งระยะเวลาการลงทุน และสิทธิประโยชน์ทางภาษี นางชวินดา กล่าวว่า ด้วยระยะเวลาลงทุน 10 ปี บางคนอาจมองว่ายาวเกินไป ทำให้รูปแบบกองทุนออม และประหยัดภาษีตัวใหม่ที่เสนอไปจะมีระยะเวลาออมที่จะไม่ให้เกิน 10 ปี แต่คาดว่าระยะเวลาการถือครองไม่น้อยกว่า 7 ปีเช่นกัน
*ดึงฐานวัยกลางคน
“ต้องยอมรับว่านักลงทุนบางรายก็อยากได้เงินลงทุนไปหมุนเวียนทำอย่างอื่นเช่นกัน ดังนั้น การลงทุนยาว 10 ปี อาจจะนานและไม่จูงใจ อย่างไรก็ตาม SSFก็เป็นรูปแบบกองทุนที่ดี ให้คนรุ่นใหม่ได้เข้ามาเรียนรู้การลงทุน แต่เราก็ไม่สามารถทิ้งนักลงทุนอีกกลุ่มได้ ซึ่งเป็นฐานสำคัญของการลงทุนได้เพราะเป็นกลุ่มมีรายได้ที่มั่นคง สามารถบาลานซ์ระหว่างหนี้ กับการลงทุนได้ เป็นกลุ่มที่จะเกษียณอายุในวันข้างหน้า เราอยากสร้างเอนเกจเมต์ (Engagement) ให้เขาลงทุนต่อในตลาดหุ้น”
นางชวินดา ชี้ว่านักลงทุนที่เริ่มเข้าวัยเกษียณ ก็จะลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงต่ำ อย่างตราสารหนี้เป็นหลัก แต่ในหลักของการลงทุน บลจ. ทุกแห่งเห็นว่าควรต้องกระจายความเสี่ยงลงทุนในสินทรัพย์หลากหลาย เพราะการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงต่ำระยะยาวอาจไม่สามารถชนะเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นได้ และการลงทุนในหุ้นที่มีความเสี่ยงสูงก็อาจเป็นตัวช่วยในการเพิ่มผลตอบแทน ดังนั้นทั้งหุ้น และตราสารหนี้จึงสำคัญในการสร้างผลตอบแทนให้ได้ตามเป้าหมาย
นอกจากนี้การเข้าสู่สังคมสูงวัยในไทย ทำให้การออมเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยให้ผู้ออมมีรายได้มั่นคงหลังเกษียณ และช่วยลดภาระงบประมาณของภาครัฐได้ ดังนั้นหากต้องการให้กองทุนประเภทนี้ที่สนับสนุนการออมของประชาชนเติบโต ก็ต้องมีการปรับรูปแบบและเพิ่มแรงจูงใจให้มากขึ้น ซึ่งรูปแบบที่สมาคม บลจ.เสนอ ก็จะผสมไปทั้ง SSF-LTF
“ทั้งนี้ สมาคม บลจ. ได้เสนอเรื่องไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้วสำหรับกองทุนออม และประหยัดภาษีรูปแบบใหม่ แต่รอการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ก่อน เพื่อให้รู้ว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังจะเป็นท่านใดมานั่ง จะได้เสนอ และพูดคุยจบในกระบวนการทีเดียว อย่างที่กล่าวเราต้องรีบ เพราะกว่าจะคลอดต้องใช้เวลา”
สำหรับ เงื่อนไขและสิทธิประโยชน์ด้านการลดหย่อนภาษีของกองทุน SSF คือ ลดหย่อนภาษีได้โดยไม่กำหนดขั้นต่ำ แต่ต้องไม่เกิน 30% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษีและไม่เกิน 200,000 บาท และเมื่อรวมกับสิทธิลดหย่อนเพื่อการเกษียณอายุอื่นๆ จะต้องไม่เกิน 500,000 บาท (สิทธิเพื่อการเกษียณอายุอื่นๆ ได้แก่ กองทุน RMF กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน กองทุนการออมแห่งชาติ หรือเบี้ยประกันภัยสำหรับการประกันชีวิตแบบบำนาญ)
ต้องถือหน่วยลงทุนให้ครบ 10 ปีแบบวันชนวัน นับตั้งแต่วันที่ซื้อหรือจนกว่าจะเสียชีวิตหรือทุพพลภาพ แต่ไม่จำเป็นต้องซื้อต่อเนื่อง เช่น หากซื้อกองทุน SSF เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2563 จะครบกำหนดวันที่ 1 มกราคม 2573 และขายได้โดยไม่ผิดเงื่อนไขในวันที่ 2 มกราคม 2573 และสามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีผ่านกองทุน SSF ได้ระหว่างปี 2563 – 2567 หลังจากนี้ต้องรอประกาศนโยบายของภาครัฐอีกครั้ง