รีเซต

ผิดกฎหลักทรัพย์พึงระวัง เพิ่มอำนาจก.ล.ต.ลงดาบ

ผิดกฎหลักทรัพย์พึงระวัง เพิ่มอำนาจก.ล.ต.ลงดาบ
ทันหุ้น
24 กันยายน 2563 ( 07:45 )
74
ผิดกฎหลักทรัพย์พึงระวัง เพิ่มอำนาจก.ล.ต.ลงดาบ

ทันหุ้น-สู้โควิด-ก.ล.ต. ลงนาม MOU กับสำนักงานคดีแพ่ง บังคับใช้มาตรการลงโทษทางแพ่งกับผู้กระทำความผิดในตลาดทุน หวังให้เกิดความรวดเร็ว พร้อมเดินหน้าแก้ไขพ.ร.บ.หลักทรัพย์ ให้อำนาจเจ้าพนักงานก.ล.ต.เป็นพนักงานสอบสวน  คาดแล้วเสร็จต้นปี 64 ก่อนนำเสนอกระทรวงการคลัง ล่าสุดมีจำนวน 14 คดี อยู่ระหว่างดำเนินการ

 

นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า สำนักงาน ก.ล.ต. ได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ(MOU)กับสำนักงานอัยการสูงสุด (สำนักงานคดีแพ่ง) เพื่อร่วมมือในการจัดเตรียมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐาน รวมทั้งการดำเนินการตามขั้นตอนต่าง ๆ ของการฟ้องคดีและการยื่นคำร้องต่อศาล เพื่อให้การบังคับใช้มาตรการลงโทษทางแพ่งและย่นระยะเวลาลงโทษผู้กระทำผิดให้รวดเร็วมากยิ่งขึ้นจากเดิม

 

ทั้งนี้ข้อตกลงในการลงนามดังกล่าว มี 2 ความร่วมมือหลักๆ คือ 1.ความร่วมมือในการดำเนินคดีและการบังคับคดี และ 2. ความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนความรู้ความเข้าใจด้านการดำเนินคดี กฎหมาย และการกระทำความผิดในตลาดทุนระหว่างกัน

 

@ปรับแล้ว 1.2 พันล.

 

ปัจจุบันได้รับเรื่องผู้กระทำผิดเกี่ยวกับมาตรการลงโทษทางแพ่งที่เริ่มใช้ตั้งแต่ปี 2559 จำนวน 44 คดี โดยมีจำนวนผู้กระทำความผิดรวม 244 ราย ในจำนวนดังกล่าว มี 30 คดีที่มีการดำเนินมาตราลงโทษทางแพ่ง และมีการเทียบปรับมูลค่าราว 1,278 ล้านบาท และยังมีคดีที่อีกจำนวน 14 คดี ที่อยู่ระหว่างดำเนินการ โดย 7 คดี อยู่ในขั้นตอนของพนักงานอัยการการจัดทำคำฟ้องเพื่อส่งศาลแพ่ง ส่วนอีก 4 คดี อยู่ในระหว่างการพิจารณาในชั้นศาล อีก 2คดี อยู่ระหว่างพิจารณาศาลอุธรณ์ และ มี 1 คดี ที่ดำเนินการในขั้นอุธรณ์สิ้นสุดแล้ว

 

ขณะที่นายกฤษฎา วิชพันธุ์ อธิบดีอัยการ สำนักงานคดีแพ่ง สำนักงานอัยการสูงสุด เปิดเผยว่า ปัจจุบันได้มีการแก้ไขพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ให้มีการนำมาตรการลงโทษทางแพ่งมาใช้บังคับแก่ผู้กระทำความผิดแทนมาตรการลงโทษทางอาญาได้ในบางกรณี โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการกระทำอันไม่เป็นธรรมเกี่ยวกับการซื้อขายหลักทรัพย์ ซึ่งมีข้อเท็จจริงยุ่งยากสลับซับซ้อน

 

ดังนั้น สำนักงาน ก.ล.ต. และสำนักงานคดีแพ่งจึงได้ร่วมกันจัดทำบันทึกข้อตกลงนี้ขึ้นเพื่อประสานความร่วมมือในการดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิด สร้างความเข้าใจในขั้นตอนการดำเนินการตามภารกิจของหน่วยงานทั้งสอง รวมทั้งให้ความร่วมมือกันในทางวิชาการเพื่อประโยชน์ในการบังคับใช้มาตรการลงโทษทางแพ่งกับผู้กระทำความผิด และทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ ก่อให้เกิดความเป็นธรรมในตลาดทุนและสร้างความมั่นใจให้กับผู้ลงทุนในตลาดมากยิ่งขึ้น

 

ทั้งนี้ การดำเนินการตามที่ตกลงกันในบันทึกข้อตกลงฉบับนี้ สอดคล้องกับภารกิจของ ก.ล.ต. ที่ดำเนินการบังคับใช้กฎหมายกับบุคคลที่กระทำความผิดซึ่งรวมถึงการดำเนินมาตรการลงโทษทางแพ่ง และยังสอดคล้องกับภารกิจของสำนักงานคดีแพ่งที่ดำเนินคดีแพ่งทั้งปวงแทนหน่วยงานของรัฐซึ่งอยู่ในอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย

 

@เพิ่มดาบ ก.ล.ต. สอบสวน

 

นางสาวรื่นวดี กล่าวอีกว่า ก.ล.ต. อยู่ระหว่างจัดทำรายละเอียด เพื่อเตรียมปรับปรุงแก้ไขกฎหมายพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ฉบับที่ 7 (พ.ร.บ.ฉบับใหม่) ที่คาดว่าจะแล้วภายในช่วงต้นปี 2564 และคาดว่าจะส่งให้คณะกรรมการก.ล.ต. (บอร์ด) พิจารณาอนุมัติได้ภายในช่วงไตรมาส 1/2564 และกระบวนการจะการส่งให้กระทรวงการคลัง เสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) และส่งต่อให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาต่อไป

 

โดยหนึ่งในหัวข้อที่จะแก้ไขคือเรื่องการให้อำนาจเจ้าพนักงานก.ล.ต.เป็นพนักงานสอบสวนในคดีที่เกี่ยวข้องกับพ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯและพระราชบัญญัติสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (พ.ร.บ.ตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า)ได้เอง จากก่อนหน้านี้ ทางสำนักงาน ก.ล.ต. ไม่ได้มีอำนาจเป็นเจ้าพนักงานสอบสวนเองจึงทำให้มีหน้าที่เพียงรวบรวมข้อมูลพยานหลักฐานและส่งต่อให้กับกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI)ในคดีที่มีมูลค่าความเสียหายเกิน 100 ล้านบาทขึ้นไป ส่วนกรณีที่คดีมีความเสียหายต่ำกว่า 100 ล้านบาท จะส่งให้ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (ปอศ.) นอกจากนี้ในหัวข้อการแก้ไข พ.ร.บ.ฉบับใหม่ยังมีอีกหลายประเด็น เช่น กฏหมายการคุ้นครองพยาน การกำกับดูแลสำนักสอบบัญชีและผู้สอบบัญชี เป็นต้น

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง