รีเซต

"พท.-ก้าวไกล" ย้ำรับร่างแก้รธน.ฉบับไอลอว์ เตือนตีตกเท่ากับราดน้ำมันใส่กองไฟ แนะแก้วาระ2ได้

"พท.-ก้าวไกล" ย้ำรับร่างแก้รธน.ฉบับไอลอว์ เตือนตีตกเท่ากับราดน้ำมันใส่กองไฟ แนะแก้วาระ2ได้
มติชน
15 พฤศจิกายน 2563 ( 07:49 )
163

ความคืบหน้าสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ทำหนังสือ ด่วนมาก ที่ สผ 0014/ร11 ถึงสมาชิกรัฐสภา ตามที่นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ได้มีคำสั่งนัดประชุมร่วมกันของรัฐสภา ครั้งที่ 1 สมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 2 ในวันที่ 17-18 พฤศจิกายนนี้ เพื่อพิจารณารายงานการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ก่อนรับหลักการ 6 ฉบับ ตามที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) ที่มีนายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ เป็นประธานกมธ.ได้พิจารณาเสร็จแล้ว และพิจารณาเรื่องด่วน 7 ญัตติ แบ่งเป็นญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล เสนอ 1 ฉบับ เป็นญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ ส.ส.พรรคร่วมฝ่ายค้าน เสนอ 5 ฉบับ และเป็นญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับที่ นายจอน อึ๊งภากรณ์ ผู้อำนวยการโครงการอินเตอร์เน็ตเพื่อกฏหมายประชาชน หรือ ไอลอว์ กับ ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 98,041 คน ร่วมกับเข้าชื่อเสนออีก 1 ฉบับ นั้น

 

นายธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล (ก.ก.) ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายนที่ผ่านมาว่า ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนไม่ได้มีเข้ามาในรัฐสภาง่ายๆ ยืนยันว่าควรจะโหวตให้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่านวาระที่ 1 เข้าไปสู่ในวาระที่ 2 เพื่อพิจารณาร่วมกับร่างของรัฐบาลและร่างของฝ่ายค้าน ไม่ทราบว่า เหตุผลที่จะไม่รับร่างรัฐธรรมนูญของไอลอว์คืออะไร ร่างของไอลอว์ ในส่วนของการแก้ไขมาตรา 256 เป็นมิติใหม่ของการตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ที่ใช้ประเทศเป็นเขตในการเลือกตั้ง ส.ส.ร. หมายความว่าแต่ละคนที่สมัครเข้าเป็น ส.ส.ร. สามารถจะเสนอว่าตัวเองจะร่างรัฐธรรมนูญให้ออกมาในรูปแบบใด อาจจะรวมตัวกันตั้งเป็นทีมขึ้นมา แล้วเสนอร่างรัฐธรรมนูญ ทำให้ประชาชนที่จะเลือก สามารถเลือกได้ว่าต้องการรัฐธรรมนูญแบบใด จึงเป็นการสะท้อนเจตจำนงของประชาชนว่าอยากได้รัฐธรรมนูญแบบไหน อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญควรจะเป็นของประชาชนสักครั้งหนึ่งและเป็นครั้งเดียวที่เด็ดขาด ดังนั้นจึงควรจะรับร่างของไอลอว์

 

ผู้สื่อข่าวถามว่าหากในวันที่ 18 พฤศจิกายน ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของไอลอว์ไม่ผ่านรัฐสภา จะเป็นชนวนเหตุให้เกิดความขัดแย้งและเพิ่มอุณหภูมิทางการเมืองหรือไม่ นายธีรัจชัย กล่าวว่า หากเป็นเช่นนั้นเหมือนว่ารัฐบาลจงใจให้เกิดการราดน้ำมันเข้ากองไฟ ไม่ได้ถอนฟืนออกจากกองไฟ ความเป็นจริงประชาชน และนักเรียน นิสิต นักศึกษา ที่พัฒนามาเป็นกลุ่มราษฎรได้เก็บข้อเรียกร้องที่เป็นจุดสำคัญข้อหนึ่งคือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยร่างของไอลอว์ก็มีประชาชนเกิน 100,000 คนร่วมลงชื่อในร่างรัฐธรรมนูญนี้ เป็นเรื่องที่ไม่เคยมีมาก่อน ดังนั้นจึงควรจะรับฟังเสียงของประชาชนไปพิจารณา

 

ผู้สื่อข่าวถามว่าจุดยืนของพรรคก.ก. ในการโหวตลงมติรับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 7 ฉบับ เป็นอย่างไร นายธีรัจชัย กล่าวว่า จุดยืนชัดเจน ยินดีจะโหวตผ่านร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 7 ร่าง โดยเฉพาะร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 272 เพื่อตัดอำนาจการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีของ ส.ว. ที่ไม่ควรจะให้ตก เพราะหากญัตตินี้ตกไป ก็เท่ากับว่าเป็นการเอารัฐธรรมนูญเป็นตัวประกัน หากมีการยุบสภาก็จะมีเสียง ส.ว. โหวตเลือกนายกฯ อีก ทำให้ไม่จบ และไม่เป็นผลดีต่อประเทศในระยะยาว อย่างไรก็ตาม การโหวตรับหรือไม่รับร่างของฝ่ายรัฐบาลนั้น ต้องรอความชัดเจนในการประชุมพรรควันจันทร์ที่ 16 พฤศจิกายนนี้ก่อน

 

ด้านนายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย(พท.) และประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน(วิปฝ่ายค้าน) กล่าวว่า ในส่วนของพรรคพท.จะประชุมกันในวันที่ 16 พฤศจิกายนนี้เพื่อหารือถึงทิศทางในการโหวตทั้ง 7 ญัตติการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่ามีหลักการที่ขัดหรือแย้งกับจุดยืนของพรรคพท.และพรรคร่วมฝ่ายค้านหรือไม่ ส่วนท่าทีของแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลที่ระบุว่าจะโหวตสนับสนุนร่างแก้ไขรัฐธรมนูญ มาตรา 256 เพื่อให้มีการตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ(ส.ส.ร.) ขึ้นมายกร่างรัฐธรรมนูญนั้น ถึงตอนนี้ยังไว้ใจไม่ได้จนกว่าจะมีการลงมติโหวตรับหรือไม่รับหลักการญัตติการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับใด ฉบับหนึ่งหรือไม่ เพราะฝ่ายรัฐบาลและส.ว.มักจะทำเรื่องเซอร์ไพรส์ที่เหนือความคาดคิดยื้อการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาจนถึงขณะนี้

 

นายสุทิน กล่าวว่า ส่วนท่าที่ของส.ว. และส.ส.ฝ่ายรัฐบาล อาจจะไม่โหวตลงมติรับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนของไอลอว์นั้น ตนมองเป็น 2 ประเด็น ประเด็นแรกหากยึดหลักนิติศาสตร์ เนื้อหาของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของไอลอว์ที่เปิดกว้างและตีความได้ว่าให้ส.ส.ร.สามารถแก้ไขได้ทั้งฉบับจะเป็นตามข้อกังวลของส.ส.ฝ่ายรัฐบาลและส.ว.บางกลุ่มว่าสุ่มเสี่ยงที่จะขัดต่อรัฐธรรมนูญได้ ประเด็นที่สองหากยึดหลักรัฐศาสตร์ถือว่าเป็นร่างกฎหมายที่ไม่ได้มีเข้ามาบ่อยๆ ที่ประชาชนเข้าชื่อกันกว่า 1 แสนรายชื่อเพื่อเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะฉะนั้นหากพิจารณาเนื้อหาแล้วไม่ถึงขั้นที่จะขัดต่อรัฐธรรมนูญที่ประชุมรัฐสภาก็ควรรับหลักการไปก่อน แล้วนำเนื้อหาของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับไอลอว์ไปปรับแก้ไข ในชั้นคณะกรรมาธิการ(กมธ.)วิสามัญ ที่จะพิจารณาในวาระ2 ซึ่งจะมีผลช่วยให้สถานการณ์ทางการเมืองภายนอกสภา ช่วยคลี่คลายไปได้ระดับหนึ่ง

 

 

รวมสิทธิส่งเสริมคุณภาพชีวิต เกาะติดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ทันเรื่องราวกระแสสังคม

สัมผัสประสบการณ์ข่าวได้ที่ แอปพลิเคชัน ทรูไอดี (ดาวน์โหลดเลยที่นี่!!)

ข่าวที่เกี่ยวข้อง