รีเซต

ศบค.ตั้งเป้า ตรวจ 'โควิด-19' ทั่วไทยเพิ่มให้ได้กว่า 1 แสนราย

ศบค.ตั้งเป้า ตรวจ 'โควิด-19' ทั่วไทยเพิ่มให้ได้กว่า 1 แสนราย
มติชน
28 พฤษภาคม 2563 ( 13:44 )
105

 

เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม ที่ ศูนย์แถลงข่าวรัฐบาล “โควิด-19” ทำเนียบรัฐบาล นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.) แถลงข่าวความคืบหน้าของสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019

 

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า สรุปการใช้งานแพลตฟอร์ม www.ไทยชนะ.com ข้อมูลจากกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม เวลา 21:00 น. พบว่า ภาพรวมการใช้งานยอดสะสมตั้งแต่เริ่มโครงการ 1.จำนวนร้านค้าลงทะเบียนจำนวน 120,953 ร้าน 2.จำนวนผู้ใช้งาน 14,719,447 คน และ 3.จำนวนการเข้าใช้งาน การเช็กอิน 38,851,693 ครั้ง / เช็คเอาท์ 25,830,131 ครั้ง / ประเมินร้าน 14,980,678 ครั้ง

 

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า การนำกิจการ/กิจกรรมที่มีความเสี่ยงสูงในมาตรการผ่อนปรนระยะที่ 4 มาเปิดในมาตรการผ่อนปรนระยะที่ 3 ที่มีความเสี่ยงค่อนข้างสูง เช่น สนามมวย ร้านนวด แต่สิ่งที่จะบอกได้ในมุมกว้างคือ 1.ห้างสรรพสินค้าที่มีการเปิดกิจการแล้วทำได้ดี ไม่มีผู้ติดเชื้อในกิจการ สร้างความมั่นใจได้ ก็อาจจะได้เปิดร้านภายในห้างได้มากขึ้น 2.กีฬา ที่ป้องกันโรคสร้างเสริมสุขภาพ ที่จะมีการเปิดประเภทกีฬามากขึ้น รวมถึงการซ้อมกีฬาของนักกีฬา 3.การลดช่วงเวลาเคอร์ฟิวลง ที่จากเดิม 23.00-04.00 น. อาจมีการลดให้น้อยลง 4.การเปิดกิจการ/กิจกรรมระยะที่ 3 จะต้องเข้าสู่การลงทะเบียนในแอพพลิเคชั่น “ไทยชนะ” ที่ได้พัฒนามากจากแพลตฟอร์มเดิม เพื่อความสะดวก รวมถึงประชาชนที่จะเข้าใช้บริการจะต้องให้ความร่วมมือมนการใช้แอพพ์ด้วย

 

ทั้งนี้ นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มีข้อสรุปใด จะต้องรอการประชุม ศบค.ชุดใหญ่ในวันที่ 29 พฤษภาคม โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุม แต่อย่างก็ตามกิจการ/กิจกรรมที่มีความตื่นตัวก็เป็นเรื่องที่ดี ทั้งนี้เจ้าของกิจการสามารถนำเสนอมาตรการลดความเสี่ยงต่อ ศบค.ได้ และอยากจะให้มีการเปิดกิจการให้มากที่สุด

 

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า การพบผู้ป่วยจำนวนน้อย รวมถึงพบผู้ป่วยใหม่ส่วนใหญ่มาจากต่างประเทศและไม่มีอาการ จะพบเชื้อต่อเมื่อมีการตรวจหาเชื้อ ซึ่งเป็นความห่วงหนึ่ง โดยการตรวจหาเชื้อในประเทศไทยมีการตรวจไปแล้วกว่า 3 แสนราย แต่จากการประชุมศูนย์ปฏิบัติการตอบโต้สภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุข(EOC)ของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้หารือกันว่าจะต้องมีการตรวจหาเชื้อเพิ่ม และค้นหาการติดเชื้อในประชาชนกลุ่ม/สถานที่เสี่ยง ได้แก่ 1.บุคลากรทางการแพทย์ 2.ผู้ต้องขังแรกรับ  3.กลุ่มอาชีพที่พบปะกับคนจำนวนมาก และ 4.กลุ่มอื่นๆ ตามที่คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดพิจารณา  เช่น เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง ชุมชนแออัด ศูนย์พักพิง โรงงาน โรงเรียน เจ้าหน้าที่เรือนจำ โดยคาดการณ์ว่าจะต้องตรวจให้ได้มากกว่า 1 แสนราย

 

“ขณะนี้การผ่อนคลายของรัฐฯ จึงมีข้อกำหนดของผู้ป่วยเข้าเกณฑ์การสอบสวนโรคที่ครอบคลุมมากขึ้น เช่น ไม่มีไข้ แต่จมูกดมกลิ่นไม่ได้ / มีอาการคล้ายไข้หวัด / มีไข้ มีเพียงอาการใดอาการหนึ่ง สามารถเข้ารับการตรวจได้ทันที ทางสาธารณสุขยินดีตรวจให้” นพ.ทวีศิลป์ กล่าว

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง