รีเซต

ศาล รธน.รับคำร้อง 40 สว. สะเทือนเก้าอี้ “ผู้นำประเทศ” ?

ศาล รธน.รับคำร้อง 40 สว. สะเทือนเก้าอี้ “ผู้นำประเทศ” ?
TNN ช่อง16
25 พฤษภาคม 2567 ( 11:52 )
3
1
ศาล รธน.รับคำร้อง 40 สว. สะเทือนเก้าอี้ “ผู้นำประเทศ” ?

การเข้าชื่อของ 40 สว. ยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 ว่า ความเป็นรัฐมนตรีของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และนายพิชิต ชื่นบาน รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (4) และ (5) หรือไม่ 


ซึ่งหากย้อนไปดูคำร้อง ของ 40 สว. ที่ยื่นต่อประธานวุฒิสภา เพื่อส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญ  ระบุว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี (ผู้ถูกร้องที่ 1) ได้นำความกราบบังคมทูลฯ เพื่อโปรดเกล้าแต่งตั้ง นายพิชิต ชื่นบาน รัฐมนตรี ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (ผู้ถูกร้องที่ 2) เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ทั้งๆ ที่รู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่า ผู้ถูกร้องที่ 2 ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ เนื่องจากผู้ถูกร้องที่ 2 เคยถูกศาลฎีกามีคำสั่งจำคุกเป็นเวลาหกเดือน ในความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล เป็นบุคคลที่กระทำการอันไม่ซื่อสัตย์สุจร


ิตและมีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 (4) และ (5) เป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องทั้งสองสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (4) และ (5) หรือไม่ ผู้ร้องจึงส่งคำร้องเพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82


กระทั่งวันที่ 23 พฤษภาคม 2567 ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาข้อเท็จจริงตามคำร้องและเอกสารประกอบคำร้องแล้ว เห็นว่า กรณีเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 วรรคหนึ่ง และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 7(9) ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมาก 6 ต่อ 3 มีคำสั่งรับคำร้องผู้ถูกร้องที่ 1 ไว้พิจารณา และให้ผู้ถูกร้องที่ 1 ยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาต่อ ศาลรัฐธรรมนูญ ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับสำเนาคำร้องตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 54




ส่วนกรณีของผู้ถูกร้องที่ 2 ได้มีคำร้องของผู้ถูกร้องที่ 2 ลงวันที่ 23 พฤษภาคม 2567 แจ้งว่า เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2567 ผู้ถูกร้องที่ 2 ได้ลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีแล้ว ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า เมื่อความเป็นรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องที่ 2 สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (2) กรณีไม่มีเหตุที่จะต้องวินิจฉัยคดีต่อไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 51 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมาก 8 ต่อ 1 มีคำสั่งไม่รับคำร้องเฉพาะส่วนของผู้ถูกร้องที่ 2 ไว้พิจารณาวินิจฉัย



ส่วนกณรีผู้ร้อง กรณีขอให้ศาลมีคำสั่งให้ ผู้ถูกร้องที่ 1 หยุดปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรีจนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 วรรคสอง นั้น  ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้วเห็นว่า ข้อเท็จจริงตามคำร้องและเอกสารประกอบคำร้อง ในชั้นนี้ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมาก 5 ต่อ 4 ไม่สั่งให้ผู้ถูกร้องที่ 1 หยุดปฏิบัติหน้าที่  นั่นจึงสรุปหลักใหญ่ใจความได้ว่า  นายเศรษฐา ทวีสิน ยังคงปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรี ต่อไป และต้องเข้าชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาภายใน 15 วัน



แม้จะโล่งใจไปได้เปลาะหนึ่ง แต่ยังไม่สามารถยกภูเขาออกจากอกไปได้ ทันทีที่ “นายกฯ เศรษฐา”  กลับถึงเมืองไทย หลังเดินทางไปโรดโชว์ 3 ประเทศ 10 วัน ยังไม่ทันหายเหนื่อยก็ต้องเตรียมตัวไปชี้แจงแก้ข้อกล่าวหากับศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งต้องระดมหาหลักฐานมาสู้คดีทุกมิติ เพื่อพิสูจน์ความถูกต้องทางจริยธรรมและความซื่อสัตย์สุจริต หักล้างข้อกล่าวหาของกลุ่ม 40 สว. ท่ามกลางการวิเคราะห์ว่า แผนตัดไฟแต่ต้นลมให้ “พิชิต” ไขก๊อกรัฐมนตรี เพื่อตัดตอนคำร้องไม่ให้ลามถึงตัว “นายกฯ เศรษฐา “  ไม่เป็นไปอย่างที่คิด เพราะเรื่องยังไม่จบและกลายเป็นไฟลามทุ่ง ที่ “ผู้นำประเทศ” ต้องไปวัดดวงว่าจะได้ไปต่อหรือไม่ กับคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญว่าจะลงเอยอย่างไร 

ความน่ากังวลที่ตามมาคือ “นายกฯ เศรษฐา” ต้องห่วงหน้าพะวงหลัง ทั้งการบริหารราชการแผ่นดิน แก้ปากท้องประชาชน และยังต้องมากังวลแก้ต่างข้อกฎหมายให้ตัวเอง และแม้ว่า กระบวนการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ จะใช้เวลาพักใหญ่ แต่ในภาวะการณ์เช่นนี้ อาจกระทบต่อการบริหารประเทศ กระทบการฟื้นเศรษฐกิจ กระทบความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติ

 ที่กำลังจะตัดสินใจเข้ามาลงทุนในประเทศไทย ซึ่งอาจต้องชะลอดูสถานการณ์รัฐบาลไปก่อน


ปฏิบัติการ 40 สว.ยื่นสอย “เศรษฐา-พิชิต” สร้างแรงกระเพื่อมจนรัฐบาลตั้งหลักรับมือไม่ทัน วิเคราะห์กันว่า หวังผลสูงถึงขั้นล้มกระดานการเมือง แต่หากพิจารณาในมุมกลับจะเห็นประเด็นที่น่างสังเกตุ นั่นคือไม่มีการเปิดเผยรายชื่อ 40 สว.ที่ร่วมลงชื่อยื่นคำร้องดังกล่าว จนกระทั่งมีกระแสข่าวการปลอมลายเซ็นของ สว.หลายคน และแม้จะมีคำอธิบายเหตุผลที่ไม่เปิดเผยชื่อว่า เป็นเอกสิทธิ์ของแต่ละคนที่จะเปิดเผยหรือไม่ก็ได้ แต่สุดท้ายรายชื่อของ สว.เหล่านี้ ก็ถูกเปิดเผยต่อศาลอยู่ดี เรื่องนี้จึงเป็นเหตุให้ สว. บางคน อย่าง นายเสรี สุวรรณภานนท์ ออกโรงปฏิเสธไม่ได้ร่วมลงนามในคำร้อง และนี่อาจเป็นสิ่งที่สะท้อนถึงความการไม่ลงรอยกันของ สว. หรือปรากฏการณ์ ที่เรียกว่า “สว.เสียงแตก” หรือไม่



สุดท้ายคงต้องลุ้นกันว่า บทสุดท้ายของเกมนี้จะจบลงอย่างไร จะมีผลต่อการเดินหน้าของรัฐบาลชุดนี้หรือไม่  เพราะการเข้าชื่อ ของ 40 สว.ยื่นสอยนายกฯ  ในช่วงแรกดูเหมือนจะเป็นเรื่องปกติ และถูกมองว่า เป็นเพียงการ”ทิ้งทวน”ของ “สว.เฉพาะกาล” ที่หมดวาระลงแล้ว  แต่สุดท้ายกลับกลายเป็นเรื่องสำคัญ และอาจจะเป็น “ทางแยกใหญ่” ชี้อนาคตการเมืองไทยว่าจะไปทางไหนหรือไม่?


เรียบเรียงโดย ปุลญดา บัวคณิศร

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง