รีเซต

'อินเดีย' นำเข้าจาก 'รัสเซีย' พุ่ง 3 เท่า หลังเกิดความขัดแย้งในยูเครน

'อินเดีย' นำเข้าจาก 'รัสเซีย' พุ่ง 3 เท่า หลังเกิดความขัดแย้งในยูเครน
Xinhua
11 พฤษภาคม 2565 ( 19:55 )
87
'อินเดีย' นำเข้าจาก 'รัสเซีย' พุ่ง 3 เท่า หลังเกิดความขัดแย้งในยูเครน

นิวเดลี, 11 พ.ค. (ซินหัว) -- สื่อท้องถิ่นอินเดียรายงานว่าอินเดียนำเข้าสินค้าจากรัสเซียเพิ่มขึ้นมากกว่า 3 เท่า นับตั้งแต่เริ่มเกิดความขัดแย้งในยูเครน แม้เผชิญแรงกดดันจากกลุ่มประเทศตะวันตก โดยมูลค่าการนำเข้าดังกล่าวอยู่ที่ 4.67 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.61 แสนล้านบาท)

รายงานข่าวระบุว่าการนำเข้าสินค้าจากรัสเซียเพิ่มขึ้นนี้เป็นผลจากบรรดาผู้จัดจำหน่ายของรัสเซียเสนอส่วนลด และรัฐบาลอินเดียพยายามบรรลุข้อตกลงที่ดีกับผู้จัดจำหน่ายของรัสเซีย เพื่อรับมือปัญหาขาดแคลนน้ำมันดิบและปัจจัยการผลิตอื่นๆ อย่างถ่านหินและปุ๋ย

ข้อมูลเบื้องต้นระบุว่าอินเดียซื้อน้ำมันดิบจากรัสเซียเพิ่มขึ้นร้อยละ 393 อยู่ที่ 1.86 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 6.45 หมื่นล้านบาท) และซื้อผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมเพิ่มขึ้นร้อยละ 175 อยู่ที่ 560 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.94 หมื่นล้านบาท) ระหว่างวันที่ 24 ก.พ. และ 8 พ.ค. ที่ผ่านมา

การนำเข้าถ่านหิน ถ่านโค้ก และถ่านอัดแท่ง เพิ่มขึ้นร้อยละ 277 อยู่ที่ 630 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 2.18 หมื่นล้านบาท) ส่วนการนำเข้าปุ๋ยเพิ่มขึ้นหลายเท่าจาก 43 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.49 พันล้านบาท) อยู่ที่ 376 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.3 หมื่นล้านบาท)

นอกจากน้ำมันและผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมแล้ว การนำเข้าถ่านหินมีแนวโน้มพุ่งสูงต่อเนื่อง โดยเฉพาะช่วงฤดูร้อน เพราะหลายพื้นที่ของอินเดียยังคงเผชิญวิกฤตทางพลังงาน โดยการนำเข้าจากรัสเซียที่เพิ่มขึ้นเป็นไปตามแนวทางของอินเดียเอง แม้ตะวันตกกดดันการซื้อน้ำมัน "ราคาถูก" จากรัสเซีย

ก่อนหน้านี้ เนียร์มาลา สิฐรามัน รัฐมนตรีกระทรวงการคลังอินเดีย ออกมาปกป้องการดำเนินงานตามแนวทางตนเองของอินเดียว่าสิ่งสำคัญอันดับแรกคือผลประโยชน์และความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ การมีน้ำมันให้ซื้อในราคาถูกลง

อย่างไรก็ดี การส่งออกจากอินเดียสู่รัสเซียในกรอบเวลาดังกล่าวลดลงร้อยละ 57 เมื่อเทียบปีต่อปี อยู่ที่เพียง 266 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 9.22 พันล้านบาท) ซึ่งสาเหตุหลักมาจากปัญหาด้านโลจิสติกส์และการชำระเงิน

รายงานข่าวระบุว่าการส่งออกจากอินเดียสู่รัสเซีย ช่วงปีงบประมาณ 2022 อยู่ที่ 3.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.14 แสนล้านบาท) ขณะการนำเข้าอยู่ที่ 9.79 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 3.39 แสนล้านบาท)

ข่าวที่เกี่ยวข้อง