รีเซต

ครม.รับทราบข้อเสนอ ป้องกันทุจริต ของ ป.ป.ช. กรณีศึกษา 1 หมู่บ้าน 1 กิโลเมตร

ครม.รับทราบข้อเสนอ ป้องกันทุจริต ของ ป.ป.ช. กรณีศึกษา 1 หมู่บ้าน 1 กิโลเมตร
มติชน
24 สิงหาคม 2564 ( 15:04 )
77

เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม ที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.รับทราบข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริต กรณีศึกษา โครงการ 1 หมู่บ้าน 1 กิโลเมตร ถนนพาราซอยล์ซีเมนต์ ตามที่ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(คณะกรรมการป.ป.ช.)เสนอ และมอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นหน่วยงานหลักร่วมกับ กระทรวงคมนาคม กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงมหาดไทย รับข้อเสนอแนะไปพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งรับข้อเสนอแนะและความเห็นของส่วนราชการไปประกอบการพิจารณาดำเนินการด้วย

 

 

 

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า สำหรับข้อเสนอแนะของคณะกรรมการป.ป.ช. มีดังนี้  รัฐบาลควรทบทวนนโยบายช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยาง โดยให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.)จัดสร้างถนนที่นำน้ำยางพารามาเป็นวัสดุส่วนผสมในการก่อสร้าง(ถนนพาราซอยล์ซีเมนต์) เพื่อทำการศึกษาในด้านต่างๆอย่างรอบคอบ เช่น การกำหนดราคากลาง การกำหนดสารเคมีที่นำมาผสมกับน้ำยางพาราต้องมีใช้อย่างแพร่หลาย ไม่เป็นการผูกขาดหรือเอื้อประโยชน์ให้กับผู้ผลิตเพียงไม่กี่ราย รวมถึงการถอดรูปแบบรายการงานก่อสร้างความมั่นคงถาวร และความคุ้มค่าของถนนพาราซอยล์ซีเมนต์ที่ชัดเจนและเป็นมาตรฐานเดียวกัน โดยคำนึงถึงประโยชน์ของเกษตรกรอย่างสูงสุด

 

 

 

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า นอกจากนี้รัฐบาลควรพิจารณาช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางในส่วนราคายางให้เกิดเสถียรภาพในระยะยาว ไม่ให้ราคาตกต่ำมากเกินไป โดยหากรัฐบาลจำเป็นต้องแทรกแซงกลไกตลาด ควรดำเนินการเท่าที่จำเป็น โดยคำนึงถึงหลักการภายใต้เงื่อนไขขององค์การการค้าโลก ทั้งนี้รัฐบาลอาจขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ยางพาราระยะ 20 ปี (2560-2579) ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อที่จะแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบและเป็นไปตามแผนที่วางไว้

 

 

 

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า หากรัฐบาลจำเป็นต้องนำเสนอนโยบายหรือโครงการเกี่ยวกับการพยุงราคายางพารา ควรส่งเสริมการใช้ยางพาราในแนวทางที่มีหลักเกณฑ์ ขั้นตอนการดำเนินงานที่ชัดเจน โปร่งใส สามารถทำให้ประโยชน์จากการใช้จ่ายงบประมาณแผ่นดินตกแก่เกษตรกรชาวสวนยางพาราได้อย่างเต็มที่ โดยเพิ่มช่องทางให้กลุ่มเกษตรกรชาวสวนยางสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินงานได้มากขึ้น ช่วยให้ตอบสนองต่อความต้องการของเกษตรกรได้อย่างแท้จริง และรัฐบาลควรส่งเสริมให้สถาบันที่รับผิดชอบในการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมเกี่ยวกับยางพารา เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ที่ทำจากยางพาราและสามารถนำไปสู่การแก้ไขปัญหาราคายางตกต่ำได้อย่างยั่งยืน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง